ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: ประเด็นชวนคิด 2 (ตอนที่ 4/4)

ความเสียหายที่เกิดจากการสร้างไม่ได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

พบว่าฐานของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้จะจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลตลอดเวลา (สังเกตได้จากเสาเข็มต้นที่อยู่ฝั่งทะเลและแนวถุงทรายตามรูปที่ 7 ในตอนแรก https://beachlover.net/ข้อสังเกต-มหาราช-ตอน1-4/และ ระดับน้ำตามรูปที่ 1 ในโพสนี้) เมื่อน้ำขึ้นจะมีบางส่วนของกำแพงที่อยู่ใต้น้ำเพิ่มเติม และเมื่อโครงสร้างอยู่ในแนวที่น้ำท่วมถึงคลื่นจะวิ่งเข้ามาถึง นั่นหมายถึงโครงสร้างนั้นกำลังรบกวนสมดุลของกระบวนการชายฝั่งทะเล แม้ตามแบบจะปรากฏชัดว่าจะมีการถมทรายกลับทับจนถึงบันไดขั้นที่หก (จากด้านบน) แต่เมื่อคลื่นวิ่งเข้าปะทะทรายที่ถูกถมทับไปบนกำแพงขั้นบันได คลื่นจะค่อยๆชักเอาทรายด้านบนและด้านหน้าบันไดออกไป และเมื่อทรายด้านบนที่ถมทับถูกชักออกไปทั้งหมด คลื่นจะสามารถวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงโดยตรงและจะส่งผลให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง ยิ่งเหนี่ยวนำให้ทรายด้านหน้ากำแพงถูกดึงออกนอกชายฝั่ง และชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปอย่างถาวร แสดงผลกระทบของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นดังรูปที่ 2

รูปที่ 1 รูปตัดของกำแพงกันคลื่นชายหาดมหาราช (ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)
รูปที่ 2 การกัดเซาะชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่น

นอกจากนั้นกำแพงจะยิ่งส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงเกิดการกัดเซาะได้เนื่องจากการเลี้ยวเบนของคลื่นและกระแสน้ำ แสดงดังรูปที่ 3 หากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบดังรูปที่ 4 ซึ่งจะยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

งานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น โดยมากเป็นการดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วชายฝั่งทะเลเป็นเขตติดต่อที่ยาวต่อเนื่องกัน การดำเนินการในพื้นที่ใดย่อมส่งผลกระทบต่ออีกพื้นที่หนึ่งบริเวณใกล้เคียง พบว่าปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลประเทศไทยส่วนใหญ่ต้นเหตุแห่งปัญหามาจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่กลับกลายเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง (https://beachlover.net/แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง/)

รูปที่ 3 การกัดเซาะชายหาดส่วนถัดไปจากกำแพงกันคลื่น
รูปที่ 4 ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ถัดไปที่ไม่มีการป้องกัน

ประเทศที่มีดินแดนติดชายฝั่งหลายประเทศ โดยเรียนรู้จากบทเรียนเดิมที่เคยเกิดขึ้นว่า มาตรการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนั้นมีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษาที่นับวันจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ (Luciana S. Esteves, 2014) รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่ายิ่งสร้างโครงสร้างป้องกันยิ่งจะส่งผลให้ต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ เพราะชายหาดที่ไม่ถูกป้องกันจะถูกกัดเซาะเป็นโดมิโน่ (Domino effect) แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการ จากการตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่โดยใช้โครงสร้างป้องกัน มาเป็นใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงน้อยที่สุด

สำหรับประเทศไทยนั้น หลายหน่วยงานได้ดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่  ล้วนแล้วแต่พบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามรูปที่ 2 ถึง 4 ทั้งสิ้น ตัวอย่างของผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นสามารถติดตามได้จากโพสเก่าๆ (Search คำว่า “กำแพงกันคลื่น”) โดยพบว่า ณ ตำแหน่งที่สิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ชายหาดจะกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตั้งงบประมาณป้องกันการกัดเซาะต่อไปเรื่อยๆ 

แม้โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดนี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าของโครงการได้เคยระบุว่าเป็นโครงสร้างที่ถูกตามหลักวิชา ลดการสะท้อนของคลื่นได้มากกว่ากำแพงกันคลื่นในแนวดิ่งแบบที่เกิดขึ้นที่อ่าวประจวบฯ บ้านหน้าศาล และอีกหลายที่ที่เคยดำเนินการมา ในเชิงวิชาการนั้นไม่ผิดที่ว่ากำแพงลักษณะนี้จะสะท้อนคลื่นออกไปน้อยกว่ากำแพงแนวดิ่ง แต่ใช่ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชายหาดส่วนถัดไป หรือชายหาดด้านหน้ากำแพง เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าโครงสร้างนั้นยื่นล้ำลงไปในระดับที่น้ำท่วมถึง ไม่เอียงรับคลื่นในแนวเดียวกับชายหาดธรรมชาติ และไม่ดูดซับพลังงานคลื่นเหมือนอย่างที่ทรายบนชายหาดกระทำต่อคลื่น โครงสร้างนั้นล้วนแล้วแต่รบกวนสมดุลของชายฝั่งทั้งสิ้น

จากรูปที่ 7 ในตอนแรก (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-มหาราช-ตอน1-4/) ซึ่งเป็นตำแหน่งสิ้นสุดกำแพงกันคลื่นเฟสที่สองพบว่าพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นชุมชนประมงและยังคงมีพื้นที่ชายหาดด้านหน้าชุมชนที่สมบูรณ์ มีการใช้พื้นที่ชายหาดเพื่อการจอดเรือและขนถ่ายอุปกรณ์ประมง หากกำแพงกันคลื่นนี้แล้วเสร็จผลกระทบของกำแพงดังรูปที่ 3 จะถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ชายหาดด้านหน้าชุมชนประมงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่นที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะที่หาดมหาราชนี้เกิดผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ทั้งชายหาดด้านหน้ากำแพงและพื้นที่ข้างเคียงตลอดจนงบประมาณที่รัฐจะต้องเสียในปีถัดๆไปเพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ถัดๆไปที่จะได้รับผลกระทบแบบโดมิโน่อีกทั้งงบประมาณที่ใช้เพื่อบำรุงรักษาโครงสร้างการเลือกมาตรการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจึงขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบด้วย

จบ…ไม่บริบูรณ์ ติดตามความคืบหน้าของคดีหาดมหาราชได้ในโอกาสหน้า

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: ประเด็นชวนคิด 1 (ตอนที่ 3/4)

การใช้มาตรการที่เกินจำเป็น

โครงการนี้ใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่วางทับลงไปบนชายหาดที่ไม่เกิดการกัดเซาะที่รุนแรง แม้พบว่าช่วงเวลาที่เคยถูกกัดเซาะนั้นมีอัตราที่รุนแรงจริง (เดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 ในรูปที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช จากตอนที่ 2/4) แต่พบว่าชายหาดฟื้นคืนสภาพกลับมาตามธรรมชาติได้อีกครั้งในปีเดียวกัน นั่นแปลว่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งตามฤดูกาลเท่านั้น หากเกิดการกัดเซาะอย่างถาวรเราจะไม่พบกระบวนการฟื้นคืนสภาพชายหาดเช่นนี้ และยังพบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดมหาราชระยะทาง 1.9 กิโลเมตรเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 0.431 เมตรต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นชายหาดที่มีเสถียรภาพ ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) 

นอกจากนั้น จากรูปความเสียหายจนเป็นเหตุจำเป็นให้หน่วยงานต้องดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้ตามรูปที่ 4 (ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 จากตอนที่ 2/4) พบว่า การกัดเซาะที่ปรากฏนั้นเกิดขึ้นเฉพาะจุด โดยเฉพาะตำแหน่งใกล้ๆกับทางระบายน้ำลงทะเล มิได้เกิดขึ้นตลอดทั้งแนวชายหาดแต่อย่างใด หากเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุแห่งการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันตลอดทั้งแนวชายหาดจริง เราจะพบการกัดเซาะตลอดทั้งแนวถนนเลียบชายหาด นั่นแปลได้ว่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงบางตำแหน่งและเฉพาะช่วงระยะเวลาหนึ่งตามฤดูกาลเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นชายหาดในตำแหน่งใกล้ๆกับทางระบายน้ำก็ฟื้นคืนกลับมาในสภาพปกติ สังเกตได้จากสภาพชายหาดที่กลับคืนมาจากภาพ Google street view ตามรูปที่ 3 (ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view จากตอนที่ 2/4) ซึ่งถ่ายไว้ 1 ปีหลังรูปที่ 4 (ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 จากตอนที่ 2/4) เว้นเพียงถนนที่จำเป็นต้องซ่อมผิวทางบางส่วนตามที่ปรากฏในรูปที่ 3 (ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view จากตอนที่ 2/4) เท่านั้น

จึงสามารถสรุปได้ว่า รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มั่นคงถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างไม่รุนแรง ไม่มีเหตุผลอย่างเพียงพอที่ต้องสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ทับลงบนชายหาดที่ยังสมบูรณ์ รัฐควรเลือกใช้แนวทางเลือกที่ได้สมดุลกับการกัดเซาะที่ต้องการป้องกัน แม้ว่าต่อไปในภายภาคหน้า ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งทะเลจนส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะเข้ามาจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือเอกชนอย่างรุนแรง เมื่อถึงยามจำเป็นจึงค่อยพิจารณาป้องกันแก้ไขเฉพาะรายพื้นที่ ด้วยมาตรการที่สมดุลกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

การสร้างกำแพงกันคลื่นปิดทั้งชายหาดมหาราชด้วยงบประมาณ 167.2 ล้านบาทไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการยังมีมาตรการอื่นๆที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้คือการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวในช่วงฤดูกาลมรสุมช่วงสั้นๆหรือช่วงใดช่วงหนึ่งร่วมกับการซ่อมแซมเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วงเวลาและบางตำแหน่งของชายหาดโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเท่ากับโครงการที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการโครงสร้างป้องกันชายฝั่งลักษณะเช่นนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น

ตามต่อตอนสุดท้าย : ประเด็นชวนคิด 2 (ตอนที่ 4/4) ได้เร็วๆนี้

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: การเปลี่ยนแปลงของชายหาด (ตอนที่ 2/4)

วิธีการที่ง่ายและประหยัดที่สุดในยุคนี้ที่จะสามารถศึกษาประวัติการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งได้ในระยะยาวคือการศึกษาจากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายใช้งานสะดวกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากศึกษาจาก Google earth ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2013 (หรือ พ.ศ.2556) จนถึงปี 2019 (หรือ พ.ศ.2562) ณ พื้นที่ชายหาดมหาราช พบการเปลี่ยนแปลงดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ภาพถ่ายดาวเทียม Google earth ชายหาดมหาราช

ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมลักษณะนี้ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องของแนวชายฝั่งที่เป็นแนวน้ำตัดกับทราย ที่จะแปรเปลี่ยนไปตามระดับน้ำขึ้นลง หากเราต้องการกำจัดอิทธิพลเรื่องระดับน้ำแตกต่างกันที่ว่านี้ออกไป นิยามของแนวชายฝั่งอีกตัวหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ แนวพืชขึ้นถาวร (Permanent vegetation line) [ศึกษาเพิ่มเติมจาก https://beachlover.net/shoreline-detection/]

เมื่อเรามองภาพรวมของหาดมหาราชทั้งสี่ภาพด้านบนจะพบว่า แนวพืชขึ้นถาวร (แนวขอบของหญ้า ผักบุ้งทะเล หรือต้นสน) นั้นไม่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าบริเวณนี้เผชิญปัญหากัดเซาะชายฝั่งจนต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง นอกจากนั้นยังพบว่ากำแพงกันดินที่ท้องถิ่นเคยสร้างไว้เดิมเพื่อปรับภูมิทัศน์ยังถูกปกคลุมมิดด้วยหญ้าและผักบุ้งทะเล (จากโพสตอนที่ 1/4) นั่นย่อมชี้ให้เห็นว่าชายหาดมีเสถียรภาพต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน

เมื่อนำแนวชายฝั่งของแต่ละชุดข้อมูลมาซ้อนทับกันเพื่อวิเคราะห์อัตราการเปลี่ยนแปลง พบว่าชายหาดมหาราชระยะทางตามแนวชายฝั่ง 1.9 กิโลเมตร มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2562 (ค.ศ.2013-2019) แสดงดังกราฟรูปที่ 2

รูปที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช

จากรูปที่ 2 พบการกัดเซาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 (ค.ศ.2015) เท่านั้น โดยเกิดการกัดเซาะในอัตราการกัดเซาะ 6.168 เมตรต่อปี ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของชายหาดที่มีการกัดเซาะรุนแรง (มากกว่า 5 เมตรต่อปี) ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) ส่วนช่วงปีอื่นๆพบว่าหาดมหาราชเกิดการทับถมทั้งสิ้นกล่าวคือ ในช่วงมีนาคม 2556 ถึง มีนาคม 2558 (25/3/2013 – 17/3/2015 ในรูปที่ 2) ในอัตรา 2.261 เมตรต่อปี  ช่วงสิงหาคม 2558 ถึง มีนาคม 2562 (29/8/2015 – 13/3/2019 ในรูปที่ 2) ในอัตรา 0.621 เมตรต่อปี ช่วงมีนาคม 2562 ถึง เมษายน 2562 (13/3/2019 – 12/4/2019 ในรูปที่ 2) ในอัตรา 1.746 เมตรต่อปี 

ทั้งนี้พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดมหาราชระยะทาง 1.9 กิโลเมตรเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 0.431 เมตรต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นชายหาดที่มีเสถียรภาพ (น้อยกว่า 1 เมตรต่อปี) ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) โดยพบว่าการกัดเซาะที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 (ค.ศ.2015) นั้น กระบวนการทางธรรมชาติของชายหาดได้คืนสภาพหาดให้กลับมาสมดุลอีกครั้ง โดยกล่าวได้ว่าการกัดเซาะที่พบในช่วงเวลานั้นเป็นเพียงเฉพาะฤดูกาลและชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น หากเป็นการกัดเซาะในลักษณะถาวรจะส่งผลให้ชายหาดสูญเสียสมดุลอย่างถาวรและไม่สามารถฟื้นคืนสภาพกลับมาได้

จริงอยู่ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google earth นั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาที่ถ่ายภาพ เช่น ไม่มีรอบการวนกลับมาถ่ายซ้ำคงที่ มีความถี่ต่ำมากในการวนมาถ่ายตำแหน่งเดิม จึงอาจไม่มีภาพของชายหาดในช่วงเวลาที่หาดเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด แม้กระนั้นก็ตาม หากชายหาดนี้ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุผลให้เกิดโครงสร้างกำแพงกันคลื่นมูลค่ากว่า 167 ล้านบาทในปี 2563 ก็น่าจะเห็นร่องรอยการกัดเซาะลึกเข้ามาจนกระทบพื้นที่ด้านในอีกฝั่งของถนนในวงกว้างบ้าง หรือกัดถนนจนขาดบ้าง แต่สิ่งที่เห็นเชิงประจักษ์คือสภาพของพื้นที่ด้านฝั่งตรงข้ามถนนยังไม่เคยถูกกระทบและถนนยังไม่เคยขาด พบเพียงร่องรอยของการซ่อมแซมผิวหน้าถนนจำนวน 8 ตำแหน่งตลอดทั้งแนวชายหาดมหาราชที่กำลังสร้างกำแพงกันคลื่น โดยที่ชายหาดฝั่งขวาของถนนเลียบหาดยังคงสมบูรณ์ ดังแสดงดังรูปถ่ายจาก Google street view ในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2559 (หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองเริ่มโครงการนี้) ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view

รูปจาก Google street view เผยให้เห็นว่ามีการซ่อมแซมถนนบางตำแหน่งเท่านั้น โดยพบการกัดเซาะแบบเว้าแหว่งโดยเฉพาะจุดที่อยู่ใกล้กับทางระบายน้ำตามที่ปรากฏดังรูปที่ 3 และ 4 ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงชายหาดมหาราชตลอดแนว ที่ไม่พบการกัดเซาะอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการกัดเซาะเฉพาะตำแหน่งที่มิอาจประเมินได้อย่างแม่นยำผ่านการวิเคราะห์โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพราะเป็นการกัดเซาะเฉพาะตำแหน่งเล็กๆเท่านั้น และที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องการผลกระทบของโครงสร้างปากท่อระบายน้ำที่ไหลลงทะเลนั่นเอง

รูปที่ 4 ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

จึงสามารถพูดได้ว่าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่กำลังก่อสร้างนี้ วางทับลงไปบนพื้นที่หาดทรายที่เมื่อประเมินในระยะยาวแล้วคงสภาพ มีพืชชายหาดขึ้นปกคลุม แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของชายหาด ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google earth และภาพจากการสำรวจภาคสนาม

ตามต่อในตอนที่ 3: ประเด็นชวนคิด (3/4) ได้เร็วๆนี้

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: ความเป็นมา(ตอนที่ 1/4)

หาดมหาราช หาดทรายชายทะเลที่สงบร่มรื่นและมีความเป็นส่วนตัวมาก หาดทรายขาวน้ำไม่ลึกมากสามารถเล่นน้ำได้ มีชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสน มีการจัดแต่งเป็นที่พักผ่อนที่ชมทิวทัศน์ ให้ความสะดวกในการพักผ่อนที่กลมกลืนกับธรรมชาติพอสมควร ด้านหลังแนวหาดเป็นสวนหย่อมและเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ประทับยืนหันหน้าออกสู่ทะเล มีที่พักและร้านอาหารให้บริการนักท่องเที่ยว หาดมหาราชยังมีสภาพชายหาดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง สังเกตได้จากพืชที่ขึ้นปกคลุมแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของชายหาด

ชายหาดแห่งนี้เคยมีการสร้างกำแพงกันดินเพื่อปรับภูมิทัศน์ไปแล้วหนึ่งครั้ง (รูปที่ 1) ซึ่งปัจจุบันกำแพงนั้นได้ถูกพืชชายหาดปกคลุมจนเกือบมิด นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ชายหาดแห่งนี้ค่อนข้างเสถียร แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพใดๆ แม้ช่วงที่เกิดพายุซัดฝั่งอย่างพายุปาบึกเมื่อเดือนมกราคม 2562 จากการลงพื้นที่สำรวจก็ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง มีเพียงทรายที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนถนนและน้ำที่กระเซ็นข้ามมาด้านในเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รูปที่ 1 แนวกำแพงกันดินเดิมริมชายหาด (พ.ย.2562)

ชายหาดมหาราชเริ่มมีเสาเข็มจำนวนมากมาวางริมชายหาด มีการปักหมุดเขตการก่อสร้าง เมื่อเดือน พ.ย.2562 (รูปที่ 2) โดยในช่วงเวลานั้นยังไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ

รูปที่ 2 กองเสาเข็มริมชายหาด (พ.ย.2562)

หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ได้มีป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ (รูปที่ 3) มาวางอยู่ริมชายหาดบริเวณหัวมุมทางเลี้ยวโค้งหน้าร้านอาหารพร้อมกับการลงมือเปิดพื้นที่ทำงานบางส่วน รายละเอียดบนป้ายระบุว่ากำลังจะมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 1.102 กิโลเมตร พร้อมปรับภูมิทัศน์โดยทำซุ้มไม้ระแนงอีก 5 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 167.2 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี 1 เดือน คิดเป็น 151.72 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร แล้วสำหรับโครงการนี้ ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าโครงสร้างรูปแบบคล้ายกันที่เคยสร้างที่อ่าวน้อย จ.ประจวบฯ และที่อื่นๆ

รูปที่ 3 ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ

ในช่วงเวลาใกล้ๆกันพบว่าเริ่มมีการขุดทรายด้านหน้าชายหาดและเปิดพื้นที่ก่อสร้างบางส่วน แสดงดังรูปที่ 4

รูปที่ 4  ภาพในมุมเดียวกัน ซ้าย 5 พ.ย.2562 และ ขวา 16 ธ.ค. 2562

ต่อมาในเดือน ม.ค.2563 ได้พบว่าโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างมากขึ้น เริ่มพบเห็นการเข้างานของเครื่องจักรหนัก และเริ่มลงเสาเข็มแล้วตามแนวชายหาดแล้ว (รูปที่ 5)

รูปที่ 5  ถ่ายเมื่อ ม.ค.2563

แม้จะเป็นช่วง Covid-19 ที่หลายพื้นที่ถูกจำกัดการทำกิจกรรม แต่งานก่อสร้างยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 6) โดยสังเกตได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่าย ณ ตำแหน่งสิ้นสุดโครงสร้าง (รูปที่ 7) ว่าโครงสร้างหลักของกำแพงกันคลื่นนี้วางทับลงไปบนพื้นที่ชายหาดที่ยังสมบูรณ์

รูปที่ 6 ถ่ายเมื่อ พ.ค.2563
รูปที่ 7 ตำแหน่งสิ้นสุดกำแพงกันคลื่นระยะที่สอง (ต.ค.2563)

ตามต่อในตอนที่ 2: การเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช ได้เร็วๆนี้

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม (ตอนที่ 5/5: ประเด็นชวนคิด -ต่อ)

ความเสียหายที่เกิดจากการสร้าง ไม่ได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

จากรูปที่ 8 (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/) ยามน้ำลดลงถึงระดับน้ำลงเฉลี่ยช่วงน้ำเกิด (ระดับ -0.49 ม.รทก) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำมีพิสัยการขึ้นลงที่แตกต่างกันมากที่สุด เกิดในช่วงพระจันทร์เต็มดวงทั้งข้างขึ้นและข้างแรม พบว่าฐานของโครงสร้างกำแพงนี้จมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลตลอดเวลา (เสาเข็มต้นที่อยู่ฝั่งทะเลและแนวถุงทราย) เมื่อน้ำขึ้นจะมีบางส่วนของกำแพงที่อยู่ใต้น้ำเพิ่มเติม และเมื่อโครงสร้างอยู่ในแนวที่น้ำท่วมถึงคลื่นจะวิ่งเข้ามาถึง นั่นหมายถึงโครงสร้างนั้นกำลังรบกวนสมดุลของกระบวนการชายฝั่งทะเล แม้ตามแบบจะปรากฏชัดว่าจะมีการถมทรายกลับทับจนถึงบันไดขั้นที่สาม (จากด้านบน) แต่เมื่อคลื่นวิ่งเข้าปะทะทรายที่ถูกถมทับไปบนกำแพงขั้นบันได คลื่นจะค่อยๆชักเอาทรายด้านบนและด้านหน้าบันไดออกไป และเมื่อทรายด้านบนที่ถมทับถูกชักออกไปทั้งหมด คลื่นจะสามารถวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงโดยตรงและจะส่งผลให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง ยิ่งเหนี่ยวนำให้ทรายด้านหน้ากำแพงถูกดึงออกนอกชายฝั่ง และชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปอย่างถาวร แสดงผลกระทบของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นดังรูปที่ 11

รูปที่ 11การกัดเซาะชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่น

นอกจากนั้นกำแพงจะยิ่งส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงเกิดการกัดเซาะได้เนื่องจากการเลี้ยวเบนของคลื่นและกระแสน้ำ แสดงดังรูปที่ 12 หากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบดังรูปที่ 13 ซึ่งจะยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

รูปที่ 12 การกัดเซาะชายหาดส่วนถัดไปจากกำแพงกันคลื่น
รูปที่ 13 ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ถัดไปที่ไม่มีการป้องกัน

งานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น โดยมากเป็นการดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วชายฝั่งทะเลเป็นเขตติดต่อที่ยาวต่อเนื่องกัน การดำเนินการในพื้นที่ใดย่อมส่งผลกระทบต่ออีกพื้นที่หนึ่งบริเวณใกล้เคียง พบว่าปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลประเทศไทยส่วนใหญ่ต้นเหตุแห่งปัญหามาจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่กลับกลายเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง (https://www.tcijthai.com/news/2019/8/scoop/9314)

ประเทศที่มีดินแดนติดชายฝั่งหลายประเทศ โดยเรียนรู้จากบทเรียนเดิมที่เคยเกิดขึ้นว่า มาตรการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนั้นมีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษาที่นับวันจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่ายิ่งสร้างโครงสร้างป้องกันยิ่งจะส่งผลให้ต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ เพราะชายหาดที่ไม่ถูกป้องกันจะถูกกัดเซาะเป็นโดมิโน่ (Domino effect) แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการ จากการตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่โดยใช้โครงสร้างป้องกัน มาเป็นใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงน้อยที่สุด

สำหรับประเทศไทยนั้น หลายหน่วยงานได้ดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่  ล้วนแล้วแต่พบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามรูปที่ 11 ถึง 13 ทั้งสิ้น ตัวอย่างของผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น Beach Lover เคยนำเสนอไว้หลายครั้งแล้ว เช่น https://beachlover.net/หาดหน้าโรงแรมหาดแก้ว/ และ https://beachlover.net/ปลายกำแพง-ชิงโค/ ใน จ.สงขลา และ กำแพงใน จ.สตูล https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ละงู/ โดยพบว่า ณ ตำแหน่งที่สิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ชายหาดจะกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตั้งงบประมาณป้องกันการกัดเซาะต่อไปเรื่อยๆ (https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/)

ดังนั้นจะพบว่ามาตรการการสร้างกำแพงกันคลื่นที่รัฐเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะที่หาดม่วงงามระยะทาง 630 เมตรในเฟสแรก ขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วน กล่าวคือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ ทั้งชายหาดด้านหน้ากำแพงและพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจนงบประมาณที่รัฐจะต้องเสียในปีถัดๆไปเพื่อการแก้ไขปัญหาและบำรุงรักษาโครงสร้าง

การเลือกมาตรการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจึงขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบด้วย

จบ…ไม่บริบูรณ์

ติดตามเรื่องราวชายหาดม่วงงามและชายหาดอื่นๆผ่าน www.beachlover.net ได้ในวาระถัดไป

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม (ตอนที่ 4/5: ประเด็นชวนคิด 1)

การใช้มาตรการที่เกินจำเป็น

จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งหาดม่วงงามทั้งภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลวิเคราะห์เชิงปริมาณ (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-3-5/) ข้อมูลจากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาพถ่ายจากการออกภาคสนาม (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-1-5/) พบข้อมูลที่สอดคล้องตรงกันทั้งหมดว่าชายหาดม่วงงามนั้นไม่เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขนาดที่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่ (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/) การดำเนินโครงการนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น รวมถึงมาตรการที่เลือกใช้นั้นพบว่าไม่ได้สมดุลกับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งรัฐต้องการแก้ไข

หากศึกษาแนวโน้มการกัดเซาะของหาดม่วงงามจากข้อมูลอดีต มีความน่าจะเป็นต่ำที่ชายหาดจะเกิดการกัดเซาะลึกเข้ามาจนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง แม้กระทั่งพายุใหญ่อย่างปาบึกที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2562 ก็ยังไม่ส่งผลให้หาดม่วงงามกัดเซาะอย่างมีนัยสำคัญ (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-1-5/)

” รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มั่นคงถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างไม่รุนแรง ไม่มีเหตุผลอย่างเพียงพอที่ต้องสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ทับลงบนชายหาดที่ยังสมบูรณ์ รัฐควรเลือกใช้แนวทางเลือกที่ได้สมดุลกับการกัดเซาะที่ต้องการป้องกัน” 

สำหรับหาดม่วงงามที่เกิดการกัดเซาะเพียงเล็กน้อยและเกิดเพียงชั่วคราว ก็ควรเลือกใช้มาตรการที่สอดคล้องเหมาะสมกับผลกระทบ เป็นต้นว่าโครงสร้างชั่วคราว ที่สามารถป้องกันการกัดเซาะระดับไม่รุนแรงและเกิดขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราวได้ดี ดังที่ท้องถิ่นได้ดำเนินการแล้ว ในอดีต

โครงสร้างป้องกันชั่วคราว
(ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)
โครงสร้างป้องกันชั่วคราว
(ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)

เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วการกัดเซาะจะเกิดเพียงชั่วคราวตามฤดูกาล เว้นเสียแต่จะมีการแทรกแซงสมดุลของธรรมชาติชายฝั่งทะเลโดยกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างโครงสร้างล้ำลงไปกีดขวางการเคลื่อนที่ของของตะกอน โดยพบว่าบริเวณชายหาดที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดการกัดเซาะน้อยกว่า บริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงสร้าง อันเนื่องจากอิทธิพลของโครงสร้างชายฝั่งกีดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทราย

“แม้ว่าต่อไปในภายภาคหน้า ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งทะเลจนส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะเข้ามาจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือเอกชน เมื่อถึงยามจำเป็นจึงค่อยพิจารณาป้องกันแก้ไขเฉพาะรายพื้นที่ ด้วยมาตรการที่สมดุลกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”

จากรายการการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองพบว่ามาตรการที่เสนอให้ประชาชนได้ลงความเห็นล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการถาวรและเกินจำเป็นใช้งบประมาณมากโดยทุกมาตรการไม่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

แนวทางเลือกเพื่อป้องกันชายหาดม่วงงาม (ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง)

จึงตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการที่รัฐศึกษารวบรวมมาให้ประชาชนลงความเห็น และมาตรการที่ถูกเลือกให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ยังมีมาตรการอื่นๆที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ คือการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวในช่วงฤดูกาลมรสุมช่วงสั้นๆหรือช่วงใดช่วงหนึ่งโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเท่ากับโครงการที่รัฐกำลังดำเนินการ

โครงสร้างป้องกันชายฝั่งลักษณะเช่นนี้จึงขัดต่อหลักความจำเป็น

โปรดติดตามตอนที่ 5/5: ประเด็นชวนคิด(ต่อ) ได้ ผ่าน www.beachlover.net

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม (ตอนที่ 3/5: ประวัติการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม)

Beach Lover ได้นำเสนอสภาพทั่วไปและลักษณะโครงการป้องกันชายฝั่งที่กำลังก่อสร้างบนชายหาดม่วงงามไปแล้วสองตอน ติดตามย้อนหลังได้จาก Link ด้านล่าง

ความเดิมตอนที่ 1/5:https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-1-5/

ความเดิมตอนที่ 2/5:https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/

จากประวัติการเปลี่ยนแปลงชายหาดม่วงงามตั้งแต่ปี ค.ศ.2013-2019 (พ.ศ.2556-2562) โดยแปลผลจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth พร้อมปรับความถูกต้องเชิงพิกัดภูมิศาสตร์แล้ว โดยอ้างอิงแนวชายฝั่งจากแนวพืชขึ้นถาวรสูงสุด (Permanent vegetation line) ซึ่งเป็นตำแหน่งของแนวชายฝั่งตามนิยามที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใช้อยู่ในปัจจุบัน (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561) พบว่า สภาพทั่วไปของชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงปี แสดงดังรูปที่ 9

รูปที่ 9  สภาพชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงปี 2013-2019 (2556-2562) (Google earth)

จากภาพถ่ายดาวเทียมปรากฏชัดว่าชายหาดบริเวณนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ พื้นที่ชายหาดมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย พบว่าแนวระดับน้ำทะเลไม่กินลึกเข้ามาถึงแนวถนนเลยแม้แต่ช่วงเวลาเดียว อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างตามฤดูกาล โดยช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ประมาณ ตุลาคม ถึง กุมภาพันธ์) ของทุกปี ชายหาดภาคใต้ตอนล่างมักเกิดคลื่นใหญ่ลมแรงและอาจพบเห็นการกัดเซาะได้ในช่วงเวลานี้ หลังจากนั้นในช่วงปลอดมรสุมในเดือนมิถุนายนไปจนถึงกันยายน คลื่นแถบนี้จะมีขนาดเล็ก และอาจพบสันดอนทรายใต้น้ำในช่วงเวลานี้ (รูปที่ 9  A D F และ G) ซึ่งถือว่าเป็นปราการทางธรรมชาติที่ช่วยป้องกันคลื่นเข้าปะทะชายฝั่งทะเลโดยตรง

เมื่อนำแนวชายฝั่งของแต่ละชุดข้อมูลมาซ้อนทับกันเพื่อวิเคราะห์อัตราการเปลี่ยนแปลง พบว่าชายหาดม่วงงามในหมู่ 7 ระยะทางตามแนวชายฝั่ง 630 เมตร มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2562 (ค.ศ.2013-2019) แสดงดังกราฟรูปที่ 10

รูปที่ 10 อัตราการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม ช่วงปี 2556-2562

จากรูปที่ 10 พบการกัดเซาะและทับถมสลับกันไป โดยเกิดการกัดเซาะมากที่สุดในช่วง มี.ค. 2558 ถึง เม.ย. 2558 (17/3/2015 – 06/4/2015 ในรูปที่ 10) ด้วยอัตราการกัดเซาะ 1.946 เมตรต่อปี ซึ่งอยู่ในประเภทของชายหาดที่มีการกัดเซาะน้อย (1-5 เมตรต่อปี) ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) และพบการทับถมมากที่สุดในช่วง เม.ย.2558 ถึง ส.ค.2558 (06/4/2015 – 19/08/2015 ในรูปที่ 10) ในอัตรา 4.029 เมตรต่อปี

ทั้งนี้พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดม่วงงามระยะทาง 630 เมตรในหมู่ที่ 7 นี้ ชายหาดเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 1.929 เมตรต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานสถานภาพชายฝั่งทะเลที่รายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2561 (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) ที่ไม่พบข้อมูลการกัดเซาะชายหาดม่วงงามอยู่ในรายงาน

โปรดติดตามตอนที่ 4/5: ประเด็นชวนคิด ได้ ผ่าน www.beachlover.net

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม ตอนที่ 2/5: ลักษณะของโครงการ

ความเดิมจากตอนที่ 1 ติดตามได้จาก : https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-1-5/

ในปี พ.ศ. 2559 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ริเร่ิมดำเนินโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชายฝั่งบริเวณชายหาดม่วงงาม ความยาวตลอดชายฝั่งในระยะแรก (เฟส 1) 630 เมตร ด้วยงบประมาณ 87.034 ล้านบาท บริเวณพื้นที่หมู่ 7 ต.ม่วงงาม มีขอบเขตโครงการตั้งแต่ทิศใต้ของขอบเขตสนามกีฬาเรื่อยลงทางทางใต้สิ้นสุดที่สามแยกบริเวณเทศบาลตำบลม่วงงาม แสดงขอบเขตพื้นที่โครงการดังรูปที่ 6 โดยมีรูปแบบของโครงสร้างป้องกันชายฝั่งดังรูปที่ 7 โดยที่รูปแบบของโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเป็นกำแพงกันคลื่นคอนกรีตแบบขั้นบันได แสดงรูปตัดของโครงสร้างที่จะก่อสร้างตามแผนดังรูปที่ 8

รูปที่ 6 ขอบเขตพื้นที่โครงการเฟสที่ 1 (Google earth)
 รูปที่ 7 รูปแบบของโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหาดม่วงงามเฟส 1
 (กรมโยธาธิการและผังเมือง)
รูปที่ 8 รูปตัดของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได (กรมโยธาธิการและผังเมือง)

โปรดติดตามตอนที่ 3/5: ประวัติการกัดเซาะชายหาดม่วงงามได้ ผ่าน www.beachlover.net

ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดม่วงงาม (ตอนที่ 1/5: สภาพทั่วไปของชายหาดม่วงงาม)

หาดม่วงงาม ตั้งอยู่ใน ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีสภาพทั่วไปเป็นหาดทรายขาว ยาวต่อเนื่องในแนวเหนือใต้ ทางทิศใต้ของทางหลวงชนบท สข3025 เป็นที่ตั้งของชุมชนริมหาดม่วงงาม ส่วนมากเป็นชุมชนประมง ใช้พื้นที่ชายหาดด้านหน้าชุมชนเป็นพื้นที่จอดเรือวางอุปกรณ์เพื่อประกอบอาชีพประมง ส่วนด้านทิศเหนือของทางหลวงชนบท สข3025 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน เป็นชายหาดท่องเที่ยวมีถนนเลียบชายหาดตลอดทั้งแนว  ไม่มีชุมชนตั้งประชิดชายหาดเหมือนทางตอนใต้ มีการปรับภูมิทัศน์โดยการทำลานคอนกรีตและปรับพื้นที่บางส่วนโดยการปูอิฐบล็อคเพื่อความสะดวกในการใช้พื้นที่ แสดงสภาพทั่วไปของชายหาดในหมู่ที่ 7 ระยะทาง 630 เมตร ดังรูปที่  1

รูปที่ 1 สภาพทั่วไปของชายหาดม่วงงาม (ภาพเมื่อ มิ.ย.-ก.ค. 2559 โดย Google street view)

จากรูปที่ 1 ที่ถ่ายโดย Google ในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ริเริ่มโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดม่วงงามโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองในเฟสที่ 1 ยังไม่พบร่องรอยการกัดเซาะล้ำเข้ามาจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐดังที่ถูกระบุไว้ในเอกสารสรุปความเป็นมาและความคืบหน้าของโครงการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

อย่างไรก็ตาม การกัดเซาะชายฝั่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชายหาดทั่วโลกแต่จะมีสาเหตุและผล กระทบแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ หาดม่วงงามประสบปัญหาการกัดเซาะเช่นเดียวกันกับชายฝั่งอื่นๆทั่วประเทศ นั่นคือการกัดเซาะในฤดูมรสุมส่งผลให้ชายหาดหดหายไป คลื่นกระเซ็นขึ้นมาบนถนนบ้างในบางฤดูกาล และยามหมดมรสุมชายหาดก็กลับมากว้างเหมือนเดิมตามสมดุลชายฝั่งที่แสดงดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 การปรับตัวของชายหาดก่อนและหลังมรสุม (ดัดแปลงจาก U.S.Army Corps of Engineering, 1984)

โดยรูปที่ 3  แสดงภาพบางส่วนในอดีตของชายหาดม่วงงามหลังผ่านพ้นพายุปาบึก ที่เข้าปะทะชายหาดภาคใต้ตอนล่างเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 ซึ่งส่งผลถึงชายหาด จ.สงขลาทั้งหมดเช่นกัน พบว่าแม้จะประสบกับคลื่นพายุขนาดใหญ่ แต่ชายหาดม่วงงามก็สามารถฟื้นกลับคืนสมดุลได้เองตามธรรมชาติ

รูปที่ 3 ภาพในอดีตของชายหาดม่วงงามหลังพายุปาบึก (ภาพเมื่อ 10 ม.ค. 2562)

บางตำแหน่งของชายหาดม่วงงามพบการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวโดยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นบ้างในช่วงมรสุมอย่างการปักไม้ชะลอคลื่น ซึ่งมิได้กีดขวางการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดมากนักและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงเหมือนโครงสร้างถาวรแสดงดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 โครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราว
บริเวณชายหาดตอนเหนือของเทศบาลตำบลม่วงงาม  (ภาพเมื่อ 3 พ.ค.2563)

ทีม Beach lover ได้ลงพื้นที่เดินสำรวจชายหาดม่วงงามในวันที่ 3 พ.ค.2563 ตั้งแต่ตำแหน่งเริ่มต้นโครงการถึงตำแหน่งสิ้นสุดโครงการรวมถึงพื้นที่ข้างเคียงรวมระยะทาง 630 เมตร แสดงดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 ภาพจากการสำรวจชายหาด (ภาพเมื่อ 3 พ.ค.2563)

พบว่าชายหาดมีสภาพสมบูรณ์ไร้ร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่ง แม้จะผ่านพ้นช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายปีถึงต้นปีไปก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับสภาพของชายหาดที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ชายหาดมีการเปลี่ยนแปลงเพียงตามฤดูกาลและไม่รุนแรง เมื่อพ้นฤดูมรสุมชายหาดสามารถกลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านแถบนี้ด้วย

โปรดติดตามตอนที่ 2/5: ลักษณะของโครงการป้องกันชายฝั่งหาดม่วงงามได้ ผ่าน www.beachlover.net