กำแพงกันคลื่น … ไปต่อหรือพอแค่นี้

หากนำบทความนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อ กรุณาอ้างอิงลิขสิทธิ์บทความจาก www.beachlover.net ด้วย : ขอขอบคุณ

เมื่อชายหาดประสบปัญหาการกัดเซาะ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมักคิดถึงการใช้มาตรการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อการป้องกันก่อนเป็นลำดับแรกๆ สืบเนื่องมาจากหลักคิดที่ว่าการจะหลีกเลี่ยงปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะ คือการตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่ หรือป้องกันมิให้คลื่นขนาดใหญ่เข้ามาปะทะชายฝั่งโดยตรง เพื่อมิให้ชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง 

หลักคิดนี้เป็นจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเมื่อใดที่เราตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่ หรือป้องกันมิให้คลื่นวิ่งเข้ามาปะทะชายหาดโดยใช้โครงสร้างป้องกัน เท่ากับว่าเรากำลังแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่ง ทำให้ชายฝั่งเสียสมดุลและในบางครั้งอาจเกิดขึ้นแบบถาวรโดยมิอาจเรียกกลับคืนสมดุลเดิมได้ ก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมามากมาย

มาตรการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมสามารถป้องกันได้เฉพาะพื้นที่ด้านในที่เราต้องการป้องกันเท่านั้น แต่พื้นที่รอบๆโครงสร้างพื้นที่ถัดไปจะถูกโครงสร้างนี้แทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติและเสียสมดุลไปในที่สุด ดังจะเห็นว่าพื้นที่ที่อยู่ถัดไปจากโครงสร้างป้องกันมักเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่บางครั้งรุนแรงมากกว่าการกัดเซาะตามธรรมชาติเสียอีก

หากเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง และทรงคุณค่าไม่ว่าจะด้านอะไรที่ประชาชนเล็งเห็นว่ามีความสำคัญ หากพิจารณาแล้ว การปล่อยไว้ตามธรรมชาติจะส่งผลให้พื้นที่นั้นค่อยๆถูกทะเลกัดกลืนหายไป และเมื่อพิจารณาแนวทางเลือกอื่นๆที่ไม่ใช้โครงสร้างแล้ว พบว่าไม่เหมาะสมเท่ากับการสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกัน ในกรณีนี้ การใช้โครงสร้างป้องกันอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากหากต้องการรักษาพื้นที่นั้นไว้ให้คงอยู่ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ควรแสดงเหตุผลอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งหาแนวทางบรรเทาผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณาโครงการ หากดำเนินการอย่างครบถ้วน “ทางรอด” นั้น ก็คงจะ “รอด” ได้จริงตามที่รัฐต้องการ

หากพื้นที่นั้นมี “ความจำเป็น” มากเพียงพอ และหา “ทางรอด” โดยใช้มาตรการอื่นๆไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราว การเติมทรายชายหาด หรือการใช้มาตรการอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางรอดนั้นอาจเป็นการสร้างโครงสร้างป้องกันทางวิศวกรรมที่มั่นคงถาวร

แต่หากการเกิดขึ้นของโครงการนั้นไร้ซึ่งความจำเป็น รวมถึงไม่แสดงข้อมูลอย่างถูกต้องและรอบด้านต่อผู้มีส่วนได้ส่วนแสียแล้ว “ทางรอด” ที่ว่านี้ อาจกลับกลายเป็น “ทางตัน” และนำพาสารพัดปัญหาแก่รัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างที่ได้เห็นกันในหลายๆตัวอย่างที่เกิดการฟ้องร้องระหว่างรัฐและประชาชน เช่น คดีชายหาดม่วงงาม หาดมหาราช จ.สงขลา อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น (https://beachlover.net/คดีชายหาด/)

ดังนั้นการเลือกมาตรการป้องกันโดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมควรเลือกเฉพาะพื้นที่ที่มีความจำเป็นมากทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม โดยพิจารณาทางเลือกอื่นๆประกอบการพิจารณา หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้างได้ ควรใช้อย่างจำกัดที่สุด และเลือกรูปแบบที่รบกวนกระบวนการธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่านั้น  

โครงสร้างกำแพงกันคลื่นเป็นทางเลือกเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลที่นิยมใช้กันมากในยุคปัจจุบัน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบระบุว่าเป็นแนวทางเลือกที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการป้องกันชายฝั่งในหลายๆพื้นที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด เช่น หาดมหาราช หาดม่วงงาม จ.สงขลา หาดชะอำ จ.เพชรบุรี ปากน้ำปราณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ส่วนหนึ่งของคำอธิบายโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีดังนี้

  1. ก่อสร้างได้ง่าย และรวดเร็วกว่าโครงสร้างประเภทอื่นๆ
  2. เป็นโครงสร้างทางทะเลที่ไม่ต้องจัดทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยิ่งส่งผลให้กระบวนการใช้ระยะเวลาสั้นลงกว่ารูปแบบอื่น
  3. ง่ายต่อการบำรุงรักษาเพราะเป็นโครงสร้างประชิดชายฝั่ง 
  4. พื้นที่บนสันกำแพงและด้านหน้าสามารถใช้เป็นพื้นที่สาธารณะและปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้
  5. พื้นที่ด้านหลังกำแพงปลอดภัยจากการการกัดเซาะชายฝั่ง

และเนื่องจากกำแพงกันคลื่นมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบได้นำเสนอข้อมูลให้ประชาชนเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นดังตาราง

ข้อดีและข้อด้วยของกำแพงกันคลื่นแต่ละรูปแบบ (กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2561)

โดยทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ระบุว่า โครงสร้างกำแพงกันคลื่นทุกรูปแบบได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบตามหลักวิชาว่าสามารถป้องกันชายฝั่งได้ดี สมควรดำเนินการในหลายๆพื้นที่ที่ยังรอคอยการแก้ไข เช่น หาดสวนสน จ.ระยอง และ ปากน้ำแขมหนู จ.จันทบุรี ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างและแล้วเสร็จไปในช่วงปี 2563-2565

ภาพมุมสูงระหว่างงานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ต่างๆ

ข้อเท็จจริงตามทฤษฎีคือ โครงสร้างกำแพงกันคลื่นมีลักษณะเป็นกําแพงวางตัวตามแนวประชิดและขนานชายฝั่ง เพื่อรับแรงปะทะจากคลื่น ทำหน้าที่ตรึงแนวชายฝั่งให้อยู่กับที่ ช่วยรักษาเสถียรภาพของพื้นที่บริเวณริมชายฝั่งด้านหลังกำแพงกันคลื่นไม่ให้ถูกกัดเซาะ แต่ไม่ช่วยป้องกันพื้นที่ชายหาดบริเวณด้านหน้ากำแพงกันคลื่น และบริเวณข้างเคียง บริเวณชายฝั่งที่มีปัญหาการกัดเซาะพบว่าชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นจะมีขนาดแคบลง และมักจะหายไปในที่สุดถ้าตะกอนบริเวณชายฝั่งมีปริมาณไม่เพียงพอ (Corps of Engineerings, 1971) โดยจะออกแบบไปเป็นรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเชิงพื้นที่ทั้งในแง่ของลักษณะทางกายภาพ กระบวนการทางชายฝั่ง การยอมรับของประชาชน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และงบประมาณ 

กำแพงกันคลื่นทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างน้ำและตะกอนทรายรวมไปถึงคลื่นและกระแสน้ำ ไม่เหมือนเดิมกับชายหาดธรรมชาติในส่วนที่ไม่มีโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ดังนั้นพื้นที่ชายฝั่งและบริเวณข้างเคียงกำแพงกันคลื่นจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากกรณีที่ไม่มีโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (Kraus, 1988)

กำแพงกันคลื่นรูปแบบต่างๆ

เนื่องจากกำแพงกันคลื่นวางตัวขนานกับชายฝั่งจะทำให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง ความสูงคลื่นด้านหน้ากำแพงจะแปรผกผันกับสัมประสิทธิ์การสะท้อนของวัสดุที่ใช้สร้างกำแพงกันคลื่น กล่าวคือหากกำแพงกันคลื่นมีความพรุนน้ำสูง (สัมประสิทธิ์การสะท้อนต่ำ) ก็จะสะท้อนคลื่นออกไปนอกฝั่งได้น้อยกว่ากำแพงที่ความพรุนน้ำต่ำ (สัมประสิทธิ์การสะท้อนสูง) (Sawaragi, 1967) ส่งผลให้คลื่นมีความรุนแรงขึ้นด้านหน้ากําแพง ก่อให้เกิดอันตรายต่อการใช้ประโยชน์ด้านหน้ากําแพงได้

นอกจากนี้ยังพบว่า ความกว้างชายหาดส่วนที่โผล่พ้นน้ำด้านหน้าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นยังมีแนวโน้มค่อยๆแคบลง โดยเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกด้วย (Pilkey and Wright, 1988) โดยเมื่อคลื่นเข้าปะทะกําแพงจะเกิดการตะกุยตะกอนทรายจากชายหาดด้านหน้ากําแพงกันคลื่น แล้วกระแสน้ําในทิศทางออกจากฝั่งซึ่งเกิดจากคลื่นจะพาตะกอนทรายเหล่านั้นออกไปนอกชายฝั่ง ส่งผลให้ระดับสันชายหาดลดต่ำลง ระดับน้ำด้านหน้ากำแพงกันคลื่นลึกขึ้น จนชายหาดด้านหน้ากำแพงส่วนที่จมน้ำก็จะหดหายไปด้วย ส่งผลเสียต่อทรัพยากรและทัศนียภาพริมทะเล นอกจากนั้นการที่ทรายด้านหน้ากำแพงหายไปยังทำให้เกิดการกัดเซาะที่ฐานของกำแพง ส่งผลต่อเสถียรภาพของกำแพงกันคลื่นด้วย

ทั้งนี้ยังพบว่าหลังฤดูมรสุมผ่านพ้นไป ชายหาดที่มีโครงสร้างกำแพงกันคลื่นจะเกิดการฟื้นตัวของชายหาดตาม (Recovery process) ได้ช้ากว่าชายหาดธรรมชาติที่ไร้โครงสร้างป้องกัน (Kraus, 1988) หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย (Morton, 1988) 

Gary B. Griggs and Kim Fulton-Bennett (1988) ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันลดความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้นจากพายุชายฝั่ง และสามารถช่วยลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งในแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกันทั้งขนาดโครงสร้าง ประสิทธิภาพ ต้นทุนในการก่อสร้างและอายุการใช้งาน การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นอาจทำให้ในบางครั้งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไม่สามารถป้องกันได้และหาดมีการออกแบบและบำรุงรักษาอย่างไม่ถูกวิธี โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนี้ก็จะมีอายุที่สั้นลง

Pilkey and Wright (1988-1989) ได้ทำการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความกว้างชายหาดกับโครงสร้างป้องกัน โดยวัดความกว้างชายหาดทุก 400-500 เมตร และทำการเปรียบเทียบชายฝั่งที่ติดกับบริเวณที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง โดยงานศึกษานี้สรุปได้ว่าชายหาดที่มีโครงสร้างจะมีความกว้างชายหาดแคบกว่า 

การศึกษาที่ชายฝั่งนิวเจอร์ซีย์ พบว่าชายหาดที่มีโครงสร้าง จะมีความกว้างชายหาดแคบกว่าชายหาดที่ไม่มีโครงสร้าง โดยความกว้างชายหาดจะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของโครงสร้างที่มี หากมีโครงสร้างเยอะ ชายหาดจะยิ่งแคบกว่าชายหาดที่มีโครงสร้างน้อย โดยชายหาดที่มีกำแพงกันคลื่นและเขื่อนหินทิ้งจะมีความกว้างชายหาดน้อยที่สุด 

นอกจากนั้นยังพบว่า 51% ของชายฝั่งที่มีกำแพงกันคลื่น พบว่าไม่มีชายหาด ยกเว้นในกรณีที่มีรอดักทรายจะมีทรายเข้ามาสะสมบริเวณด้านบนของรอดักทราย โดยกำแพงกันคลื่นส่งผลต่อการหายไปของชายหาดมากกว่ารอดักทราย โดยสรุปคือ ชายหาดที่ไม่มีโครงสร้างจะกว้างกว่าชายหาดที่มีโครงสร้างในบริเวณใกล้เคียง 

Gary B. Griggs, James F. Tait and Wendy Corona (1994) ทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 7 ปีว่าโครงสร้างป้องกันชายฝั่งมีส่วนช่วยเร่งหรือลดการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่อย่างไร โดยการสำรวจข้อมูลบริเวณด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นเป็นประจำในทุกๆเดือน เป็นเวลา 7 ปี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว แบ่งออกเป็นชายหาดควบคุมและชายหาดสำรวจ จากการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนสู่ฤดูหนาว ทรายจะกองกันที่บริเวณหน้ากำแพงกันคลื่นซึ่งสัมพันธ์กับชายหาดที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างเลย และการเปลี่ยนแปลงรูปตัดชายหาดบริเวณหน้ากำแพงเมื่อเปรียบเทียบกับชายหาดควบคุมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อทำการสำรวจซ้ำเปรียบเทียบระหว่างกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรงและกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง พบว่ามีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และความสามารถในการซึมผ่านของทั้ง 2 โครงสร้าง ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับการสะท้อนกลับของคลื่นหรือพลังงานของคลื่นต่อการกัดเซาะชายหาด 

การกัดเซาะมักพบบริเวณด้านท้ายของโครงสร้างเนื่องจากการสะท้อนของคลื่นจากส่วนท้ายของกำแพงกันคลื่น ขอบเขตของการกัดเซาะถูกควบคุมโดยจุดสิ้นสุดโครงสร้าง หรือ ตำแหน่งการวางแนวกำแพงกันคลื่น, มุมของคลื่นที่เข้าปะทะ, ความสูงคลื่นและช่วงเวลา การสำรวจในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนบ่งชี้ว่าชายหาดจะถูกกัดเซาะไปจนถึงบริเวณหน้ากำแพง และในฤดูหนาวชายหาดถูกกัดเซาะจากผลกระทบของกำแพง เมื่อเปรียบเทียบจากการเก็บข้อมูลในระยะเวลา 7 ปี ช่วงฤดูร้อนทั้งชายหาดที่สำรวจและชายหาดควบคุมมีทรายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ช่วงฤดูหนาวมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอย่างช้าๆในแต่ละปี และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการประเมินผลกระทบในระยะยาวของกำแพงกันคลื่นซึ่งเปรียบเทียบระหว่างเวลาเฉลี่ยและรูปตัดชายหาดในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนนั้นบ่งชี้ว่าไม่มีความแตกต่างที่สามารถวัดได้หรือมีนัยสำคัญระหว่างรูปตัดชายหาดนี้   

Balaji, R., Sathish Kumar, S and Antika Misra (2017) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวผลกระทบของกำแพงกันคลื่นโดยใช้การผสมระหว่างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และการรับข้อมูลระยะไกลที่ทะเลฟานซ่า ประเทศอินเดีย จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นจากการใช้การแบบจำลองคณิตศาสตร์กับการวิเคราะห์เชิงภูมิศาสตร์สารสนเทศเห็นได้ชัดว่ากำแพงกันคลื่นตามแนวชายฝั่งของทะเลแฟนซ่าส่งผลให้เกิดการกัดเซาะประมาณ 20 เมตรทางด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่น ภายในระยะเวลา 1 ปีของการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากแบบจำลองทางทฤษฎี คาดการณ์เพิ่มเติมว่าชายหาดจะถูกกัดเซาะอีก 20 เมตรก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะสมดุลในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งผลการวิจัยยืนยันว่าในปี ค.ศ. 2011 ถึง ค.ศ. 2014 จะเกิดการกัดเซาะประมาณ 40 เมตรทางด้านเหนือน้ำของกำแพงกันคลื่น แม้ว่าชายหาดของทะเลแฟนซ่าได้รับการคาดการณ์ว่ามีเสถียรภาพแล้ว แต่การสร้างกำแพงกันคลื่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในแนวชายฝั่ง สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ แม้ว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นจะสามารถป้องกันความเสียทางด้านทรัพย์สินได้ แต่การสร้างกำแพงกันคลื่นนี้จะลดการเคลื่อนที่ของทรายตามธรรมชาติ จึงนำไปสู่การกัดเซาะทางด้านท้ายน้ำ

แม้ระยะหลังหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศไทยจะพยายามปรับรูปแบบของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเป็นแบบขั้นบันได หรือแบบหินเรียงหรือหินทิ้งแบบลาดเอียง เพื่อลดการสะท้อนของคลื่นได้มากกว่ากำแพงกันคลื่นในแนวดิ่งแบบที่เกิดขึ้นที่อ่าวประจวบฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดสวนสน จ.ระยอง และอีกหลายที่ที่เคยดำเนินการมา ในเชิงวิชาการนั้นไม่ผิดที่ว่ากำแพงลักษณะนี้จะสะท้อนคลื่นออกไปน้อยกว่ากำแพงแนวดิ่ง แต่ใช่ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชายหาดส่วนถัดไป หรือชายหาดด้านหน้ากำแพง เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าโครงสร้างนั้นยื่นล้ำลงไปในระดับที่น้ำท่วมถึง ไม่เอียงรับคลื่นในแนวเดียวกับชายหาดธรรมชาติ และไม่ดูดซับพลังงานคลื่นเหมือนอย่างที่ทรายบนชายหาดกระทำต่อคลื่น โครงสร้างนั้นล้วนแล้วแต่รบกวนสมดุลของชายฝั่งทั้งสิ้น

การกัดเซาะชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่น

การเลี้ยวเบนของคลื่นเมื่อเข้ากระทบกำลังจะส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงด้านท้ายน้ําของกําแพง (Downdrift) เกิดการกัดเซาะได้เช่นกันดังนั้นหากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบ

การกัดเซาะชายหาดส่วนถัดไปจากกำแพงกันคลื่น
ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ถัดไปที่ไม่มีการป้องกัน

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้สร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งไว้ในหลายพื้นที่ เป็นความจริงที่พื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นนั้นยังคงมั่นคงแข็งแรงตราบเท่าที่กำแพงกันคลื่นยังคงประสิทธิภาพในการป้องกัน แต่ก็ปฏิเสธมิได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่าไว้ทุกประการ ดังปรากฏชัดจากตัวอย่างภาพถ่ายโครงสร้างกำแพงกันคลื่นในที่ต่างๆ และเพิ่มเติมดังรูป

ผลกระทบด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นหน้าสตน จ.นครศรีธรรมราช

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากจุดสิ้นสุดของปลายกำแพงไม่ใช่หัวหาด หัวแหลม โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง หรือโครงสร้างปากแม่น้ำ จะเกิดการกัดเซาะต่อเนื่องทางด้านท้ายน้ำ จนอาจจะต้องสร้างกำแพงต่อไปเรื่อยๆ ใช้งบประมาณต่อไปเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไปเรื่อยๆ ดังแสดงไว้ใน https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/  และ https://beachlover.net/8-เดือนผ่านไป-กับ-หาดกัดเพราะรัฐสร้าง-หน้าสตน/ และ https://beachlover.net/ผลกระทบปลายกำแพงกันคลื่น-ชายฝั่งบ่ออิฐ-เกาะแต้ว/

ผลกระทบด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นเขารูปช้าง จ.สงขลา

จากแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 (รวมงบผูกพันที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2564) ที่ใช้เพื่อป้องกันชายฝั่งทะเลใน 3 กรม [https://beachlover.net/ร่างงบประมาณ-ชายฝั่ง-2564/] เป็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 69 โครงการ และกรมเจ้าท่า จำนวน 7 โครงการ (สร้างใหม่ 4 และปรับปรุง 3 โครงการ)  โดยทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ได้ถูกถอดออกจากรายการโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อปลายปี 2556 [https://beachlover.net/ประกาศกระทรวงทรัพยากร-2/] รวมงบประมาณปี 2564 เพื่อการก่อสร้างและปรับปรุงกำแพงกันคลื่นทั้งสิ้น  1,568.932 ล้านบาท

ต่อมาในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 (รวมงบผูกพันที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2565) เพื่อการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างป้องกันชายฝั่งใน 3 กรมหลัก [https://beachlover.net/สดๆร้อนๆ-เปิดร่างงบประมาณป้องกันชายฝั่งประจำปี-2565/] เป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 53 โครงการ โดยทั้ง 53 โครงการนั้น เป็นโครงสร้างประเภทกำแพงกันคลื่นทั้งหมด ส่วนกรมเจ้าท่ามีโครงการที่ระบุว่าเป็นกำแพงกันคลื่น 3 โครงการ (สร้างใหม่ 1 และปรับปรุง 2 โครงการ) รวมงบประมาณปี 2565 เพื่อการก่อสร้างและปรับปรุงกำแพงกันคลื่นทั้งสิ้น  1,109.460 ล้านบาท

และล่าสุดในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 (รวมงบผูกพันที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566) [https://beachlover.net/เปิดร่างงบประมาณ-เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลปี-2566/] เป็นโครงการที่ระบุว่ามีรูปแบบเป็นกำแพงกันคลื่นทั้งสิ้น 48 โครงการ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง  39 โครงการ (สร้างใหม่ 38 และปรับปรุง 1 โครงการ) กรมเจ้าท่า 5 โครงการ (สร้างใหม่ 2 และปรับปรุง 3 โครงการ) และกลุ่มจังหวัด 4 โครงการ รวมงบประมาณปี 2566 เพื่อการก่อสร้างและปรับปรุงกำแพงกันคลื่นทั้งสิ้น  1,064.058 ล้านบาท

เมื่อศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปในอดีตของงบประมาณที่ถูกเสนอไว้ในเล่มงบประมาณ(ขาวคาดแดง) โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองในส่วนของกำแพงกันคลื่นตั้งแต่ปี 2554-2565 รวม 12 ปี พบว่า จำนวนงบประมาณที่ขอตั้งไว้ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงกันคลื่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ไม่นับรวมงานจ้างบริษัทที่ปรึกษา)

หากย้อนดูอดีตช่วงปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการถอดกำแพงกันคลื่นออกจากรายการที่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงการตั้งงบประมาณของหน่วยงานในปี 2558 จะอยู่บนหลักที่ว่ากำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA แล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ประกาศนี้จะมีผลต่อการตั้งงบประมาณในปี 2559 เสียมากกว่า เนื่องจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ธันวาคม  2556 ซึ่งกระชั้นกับการตั้งงบประมาณเกินไป (เริ่มทำเอกสารงบประมาณ 2558 ตั้งแต่ต้นปี 2557)

 งบประมาณเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่นในปี 2554-2565 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

เมื่อพิจารณาการของบประมาณเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่นในปี 2559-2560 นั้นพบว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก คือเพิ่มขึ้นถึง 149.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.635% ของงบประมาณที่ถูกขอในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่มีข้อมูลตั้งแต่ปี 2554-2565

ปัจจุบัน (กันยายน 2565)  เท่าที่พอสืบค้นข้อมูลได้พบว่าโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในรูปแบบของกำแพงกันคลื่นที่สร้างแบบถาวรทั้งหินทิ้ง หินเรียง แนวดิ่ง แนวเอียง และขั้นบันได นั้นมีอยู่ทั้ง 23 จังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล รวมถึงเกาะต่างๆ รวมทั้งสิ้น 530 โครงการ ระยะทางตามแนวชายฝั่งรวมประมาณ 190 กิโลเมตร แสดงพิกัดดังรูป

ตำแหน่งกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเล (สืบค้นเมื่อกันยายน 2565)

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่สืบค้นได้นี้คาดว่าต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเป็นการสืบค้นผ่านภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth ที่ข้อมูลบางพื้นที่ไม่ Up to date ถึงปีปัจจุบัน รวมถึงโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้สังเกตได้ยากจากภาพถ่ายดาวเทียมเพราะเป็นโครงสร้างประชิดฝั่ง และในบางพื้นที่ถูกบดบังด้วยแนวพุ่มไม้จากด้านบนจึงไม่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนนัก

หากรัฐดำเนินมาตรการอย่างถูกทิศถูกทาง หากกำแพงกันคลื่นแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เราควรจะได้เห็นการของบประมาณเพื่อการป้องกันชายฝั่งที่ลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม เรายังคงเห็นการตั้งงบก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่รวมกับงบประมาณจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและออกแบบโครงสร้างในปีถัดๆไปอีก

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบโดมิโน่ของกำแพงกันคลื่นนอกจากจะส่งต่อชายหาดเชิงกายภาพแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากตัวโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเสียเองอย่างต่อเนื่อง จึงควรศึกษาให้รอบด้านก่อนดำเนินโครงการ โดยการนำเอาโครงสร้างป้องกันชายฝั่งประเภทกำแพงกันคลื่นกลับเข้าไปอยู่ในประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในรายการของโครงสร้างชายฝั่งทะเลที่จำเป็นต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนพิจารณาใช้โครงสร้างนี้เพื่อป้องกันชายฝั่งเหมือนก่อนเดือนธันวาคม 2556 แม้ว่าการจัดทำรายงานนี้จะมิได้การรันตีว่าโครงสร้างดังกล่าวจะไม่เกิดผลกระทบ แต่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างจัดทำรายงานนั้นถือเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อการตัดสินในโครงการใดๆอย่างรอบคอบ รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบที่แนบท้ายรายงานนี้ จะมีสภาพบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งทั้งสองประเด็นจะไม่ถูกใช้ในทางปฏิบัติอย่างเข้มข้นหากโครงการนั้นมิต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

กำแพงกันคลื่น… ไปต่อหรือพอแค่นี้?

กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได เป็นทางเลือกเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลในยุคปัจจุบัน ที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่าเป็นแนวทางเลือกที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการป้องกันชายฝั่งในหลายๆพื้นที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด เช่น หาดมหาราช [https://beachlover.net/covid19-หาดมหาราช/] หาดม่วงงาม [https://beachlover.net/ข้อสังเกต-ม่วงงาม-2-5/] จ.สงขลา หาดชะอำ จ.เพชรบุรี [https://beachlover.net/หาดขั้นบันได-ชะอำ/] ปากน้ำปราณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ [https://beachlover.net/ไทยริเวียร่า-ประจวบ/] เป็นต้น

โดยทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ระบุว่า โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบตามหลักวิชานี้สามารถป้องกันชายฝั่งได้ดี สมควรดำเนินการต่ออีกในหลายพื้นที่ที่ยังรอคอยการแก้ไข เช่น หาดสวนสน จ.ระยอง และ ปากน้ำแขมหนู จ.จันทบุรี ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน

งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ณ หาดสวนสน จ.ระยอง (ภาพเมื่อ กรกฎาคม 2563)
งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ณ ปากน้ำแขมหนู จ.จันทบุรี (ภาพเมื่อ กรกฎาคม 2563)

ข้อเท็จจริงตามทฤษฎีก็คือ โครงสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ว่าจะเป็นแบบแนวดิ่ง ลาดเอียง หรือแบบขั้นบันไดที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการนั้น มีลักษณะเป็นกําแพงวางตัวตามแนวประชิดและขนานชายฝั่ง เพื่อรับแรงปะทะจากคลื่น ทำหน้าที่ตรึงแนวชายฝั่งให้อยู่กับที่  ทําให้พื้นที่ด้านหลังกําแพงกันคลื่นไม่ถูกกัดเซาะ โดยจะออกแบบไปเป็นรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเชิงพื้นที่  การยอมรับของประชาชน และงบประมาณ

ปากบารา จ.สตูล
เกาะพยาม จ.ระนอง
หาดพยูน จ.ระยอง

เนื่องจากกำแพงกันคลื่นวางตัวขนานกับชายฝั่งจะทำให้เกิดคลื่นสะท้อนด้านหน้ากำแพง โดยที่คลื่นจะมีความรุนแรงขึ้นด้านหน้ากําแพง ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อการใช้ประโยชน์ด้านหน้ากําแพงได้ เมื่อคลื่นเข้าปะทะกําแพงจะเกิดการตะกุยตะกอนทรายจากชายหาดด้านหน้ากําแพงกันคลื่น แล้วกระแสน้ําในทิศทางออกจากฝั่งซึ่งเกิดจากคลื่นจะพาตะกอนทรายเหล่านั้นออกไปนอกชายฝั่ง ส่งผลให้ระดับสันชายหาดลดต่ำลงระดับน้ำด้านหน้ากำแพงกันคลื่นลึกขึ้นจนชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปในที่สุด ส่งผลเสียต่อทรัพยากรและทัศนียภาพริมทะเล การที่ทรายด้านหน้ากำแพงหายไปยังทำให้เกิดการกัดเซาะที่ฐานของกำแพง ส่งผลต่อเสถียรภาพของกำแพงกันคลื่นด้วย

ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อชายหาดด้านหน้ากำแพงและพื้นที่ข้างเคียง

การเลี้ยวเบนของคลื่นเมื่อเข้ากระทบกำลังจะส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงด้านท้ายน้ําของกําแพง (Downdrift) เกิดการกัดเซาะได้เช่นกันดังนั้นหากใช้มาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว มิฉะนั้นพื้นที่ใกล้เคียงที่ปราศจากโครงสร้างป้องกันจะเกิดผลกระทบ โดย Beach Lover ได้เคยนำเสนอผลกระทบที่ว่านี้ผ่าน https://beachlover.net/seawall/ และในอีกหลายๆโพสไปแล้วก่อนหน้านี้

ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ข้างเคียง
ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อพื้นที่ข้างเคียง

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้สร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งไว้ในหลายพื้นที่ เป็นความจริงที่พื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นนั้นยังคงมั่นคงแข็งแรงตราบเท่าที่กำแพงกันคลื่นยังคงประสิทธิภาพในการป้องกัน แต่ก็ปฏิเสธมิได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่าไว้ทุกประการ ดังปรากฏชัดจากตัวอย่างภาพถ่ายโครงสร้างกำแพงกันคลื่นในที่ต่างๆ และเพิ่มเติมดังรูป

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากจุดสิ้นสุดของปลายกำแพงไม่ใช่หัวหาด หัวแหลม โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง หรือโครงสร้างปากแม่น้ำ จะเกิดการกัดเซาะต่อเนื่องทางด้านท้ายน้ำ จนอาจจะต้องสร้างกำแพงต่อไปเรื่อยๆ ใช้งบประมาณต่อไปเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไปเรื่อยๆ ดังแสดงไว้ใน https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-3-พื้นที่/ 

จากแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่ใช้เพื่อป้องกันชายฝั่งทะเลใน 3 กรม [https://beachlover.net/ร่างงบประมาณ-ชายฝั่ง-2564/] พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้ง 80 โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2564 นี้ เป็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 69 โครงการ และกรมเจ้าท่า จำนวน 6 โครงการ โดยทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ได้ถูกถอดออกจากรายการโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อปลายปี 2556 [https://beachlover.net/ประกาศกระทรวงทรัพยากร-2/]

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้สามารถสรุปได้ว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อชายหาดเชิงกายภาพแล้วยังส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากตัวโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเสียเองอย่างต่อเนื่อง จึงควรศึกษาให้รอบด้านก่อนพิจารณาใช้โครงสร้างนี้เพื่อป้องกันชายฝั่งเพราะผลที่เกิดขึ้นในลักษณะของโดมิโน่นี้จะยากเกินกว่าที่รัฐจะเยียวยาได้