ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา: การเปลี่ยนแปลงของชายหาด (ตอนที่ 2/4)

วิธีการที่ง่ายและประหยัดที่สุดในยุคนี้ที่จะสามารถศึกษาประวัติการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งได้ในระยะยาวคือการศึกษาจากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายใช้งานสะดวกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากศึกษาจาก Google earth ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2013 (หรือ พ.ศ.2556) จนถึงปี 2019 (หรือ พ.ศ.2562) ณ พื้นที่ชายหาดมหาราช พบการเปลี่ยนแปลงดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ภาพถ่ายดาวเทียม Google earth ชายหาดมหาราช

ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมลักษณะนี้ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องของแนวชายฝั่งที่เป็นแนวน้ำตัดกับทราย ที่จะแปรเปลี่ยนไปตามระดับน้ำขึ้นลง หากเราต้องการกำจัดอิทธิพลเรื่องระดับน้ำแตกต่างกันที่ว่านี้ออกไป นิยามของแนวชายฝั่งอีกตัวหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ แนวพืชขึ้นถาวร (Permanent vegetation line) [ศึกษาเพิ่มเติมจาก https://beachlover.net/shoreline-detection/]

เมื่อเรามองภาพรวมของหาดมหาราชทั้งสี่ภาพด้านบนจะพบว่า แนวพืชขึ้นถาวร (แนวขอบของหญ้า ผักบุ้งทะเล หรือต้นสน) นั้นไม่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าบริเวณนี้เผชิญปัญหากัดเซาะชายฝั่งจนต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง นอกจากนั้นยังพบว่ากำแพงกันดินที่ท้องถิ่นเคยสร้างไว้เดิมเพื่อปรับภูมิทัศน์ยังถูกปกคลุมมิดด้วยหญ้าและผักบุ้งทะเล (จากโพสตอนที่ 1/4) นั่นย่อมชี้ให้เห็นว่าชายหาดมีเสถียรภาพต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน

เมื่อนำแนวชายฝั่งของแต่ละชุดข้อมูลมาซ้อนทับกันเพื่อวิเคราะห์อัตราการเปลี่ยนแปลง พบว่าชายหาดมหาราชระยะทางตามแนวชายฝั่ง 1.9 กิโลเมตร มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2562 (ค.ศ.2013-2019) แสดงดังกราฟรูปที่ 2

รูปที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของชายหาดมหาราช

จากรูปที่ 2 พบการกัดเซาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 (ค.ศ.2015) เท่านั้น โดยเกิดการกัดเซาะในอัตราการกัดเซาะ 6.168 เมตรต่อปี ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของชายหาดที่มีการกัดเซาะรุนแรง (มากกว่า 5 เมตรต่อปี) ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) ส่วนช่วงปีอื่นๆพบว่าหาดมหาราชเกิดการทับถมทั้งสิ้นกล่าวคือ ในช่วงมีนาคม 2556 ถึง มีนาคม 2558 (25/3/2013 – 17/3/2015 ในรูปที่ 2) ในอัตรา 2.261 เมตรต่อปี  ช่วงสิงหาคม 2558 ถึง มีนาคม 2562 (29/8/2015 – 13/3/2019 ในรูปที่ 2) ในอัตรา 0.621 เมตรต่อปี ช่วงมีนาคม 2562 ถึง เมษายน 2562 (13/3/2019 – 12/4/2019 ในรูปที่ 2) ในอัตรา 1.746 เมตรต่อปี 

ทั้งนี้พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดมหาราชระยะทาง 1.9 กิโลเมตรเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 0.431 เมตรต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นชายหาดที่มีเสถียรภาพ (น้อยกว่า 1 เมตรต่อปี) ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้โดยกรมทรัพยากรธรณีและยึดถือปฏิบัติมาถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) โดยพบว่าการกัดเซาะที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมของปี 2558 (ค.ศ.2015) นั้น กระบวนการทางธรรมชาติของชายหาดได้คืนสภาพหาดให้กลับมาสมดุลอีกครั้ง โดยกล่าวได้ว่าการกัดเซาะที่พบในช่วงเวลานั้นเป็นเพียงเฉพาะฤดูกาลและชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น หากเป็นการกัดเซาะในลักษณะถาวรจะส่งผลให้ชายหาดสูญเสียสมดุลอย่างถาวรและไม่สามารถฟื้นคืนสภาพกลับมาได้

จริงอยู่ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google earth นั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาที่ถ่ายภาพ เช่น ไม่มีรอบการวนกลับมาถ่ายซ้ำคงที่ มีความถี่ต่ำมากในการวนมาถ่ายตำแหน่งเดิม จึงอาจไม่มีภาพของชายหาดในช่วงเวลาที่หาดเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด แม้กระนั้นก็ตาม หากชายหาดนี้ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุผลให้เกิดโครงสร้างกำแพงกันคลื่นมูลค่ากว่า 167 ล้านบาทในปี 2563 ก็น่าจะเห็นร่องรอยการกัดเซาะลึกเข้ามาจนกระทบพื้นที่ด้านในอีกฝั่งของถนนในวงกว้างบ้าง หรือกัดถนนจนขาดบ้าง แต่สิ่งที่เห็นเชิงประจักษ์คือสภาพของพื้นที่ด้านฝั่งตรงข้ามถนนยังไม่เคยถูกกระทบและถนนยังไม่เคยขาด พบเพียงร่องรอยของการซ่อมแซมผิวหน้าถนนจำนวน 8 ตำแหน่งตลอดทั้งแนวชายหาดมหาราชที่กำลังสร้างกำแพงกันคลื่น โดยที่ชายหาดฝั่งขวาของถนนเลียบหาดยังคงสมบูรณ์ ดังแสดงดังรูปถ่ายจาก Google street view ในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2559 (หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองเริ่มโครงการนี้) ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 ร่องรอยกัดเซาะบนถนนเลียบชายหาดจาก Google street view

รูปจาก Google street view เผยให้เห็นว่ามีการซ่อมแซมถนนบางตำแหน่งเท่านั้น โดยพบการกัดเซาะแบบเว้าแหว่งโดยเฉพาะจุดที่อยู่ใกล้กับทางระบายน้ำตามที่ปรากฏดังรูปที่ 3 และ 4 ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงชายหาดมหาราชตลอดแนว ที่ไม่พบการกัดเซาะอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการกัดเซาะเฉพาะตำแหน่งที่มิอาจประเมินได้อย่างแม่นยำผ่านการวิเคราะห์โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพราะเป็นการกัดเซาะเฉพาะตำแหน่งเล็กๆเท่านั้น และที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องการผลกระทบของโครงสร้างปากท่อระบายน้ำที่ไหลลงทะเลนั่นเอง

รูปที่ 4 ภาพความเสียหายเมื่อ พ.ศ.2558 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

จึงสามารถพูดได้ว่าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่กำลังก่อสร้างนี้ วางทับลงไปบนพื้นที่หาดทรายที่เมื่อประเมินในระยะยาวแล้วคงสภาพ มีพืชชายหาดขึ้นปกคลุม แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของชายหาด ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google earth และภาพจากการสำรวจภาคสนาม

ตามต่อในตอนที่ 3: ประเด็นชวนคิด (3/4) ได้เร็วๆนี้