การเดินทางของเม็ดทราย: ตอนที่ 12 เทพา สะกอม

เช้าวันรุ่นขึ้นกระบะสองประตูมาบีบแตรรออยู่หน้าบ้านน้ำฝน พร้อมคำทักทายแบบอิสลาม “อัสซะลามุอะลัยกุม” (https://th.wikipedia.org/wiki/อัสซะลามุอะลัยกุม) น้ำฝนแนะนำเม็ดทรายให้รู้จักหยก นักศึกษาปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม ม.อ. “หวัดดีค่ะพี่หยก ขอบคุณพี่มากๆเลย ถ้าไม่ได้พี่พวกเราต้องตัวดำก้นพังกันแน่ๆ” 

“พี่ทำงานเกี่ยวกับต้นน้ำบนเขา อยากรู้ว่าที่ปลายน้ำที่ออกทะเลมันเป็นยังไง ดีเหมือนกันแหล่ะ ได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง”

ระหว่างทางหาดใหญ่-เทพา ทั้ง 3 คนได้ถกปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอย่างสนุกถูกคอ รู้ตัวอีกทีหยกก็พารถมาจอดที่สันทรายขนาดใหญ่กว้างสุดลูกหูลูกตา มีพืชปกคลุมสันทรายนี้อย่างประปราย “โห! กว้างกว่าที่ส่องจาก Google เยอะเลย” เม็ดทรายตื่นเต้นกับภาพชายหาดสุดลูกหูลูกตาเบื้องหน้า

สันทรายทางทิศใต้ของปากร่องน้ำเทพา

ทั้งสามกึ่งวิ่งกึ่งเดินจากถนนดินที่จอดรถไปยังชายหาด ระหว่างทางต้องฝ่าดงหญ้าลูกลมที่มีหนามแหลมคม ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่ขึ้นอยู่บริเวณหาดทรายแห่งนี้มาเนิ่นนานแล้ว (https://www.dmcr.go.th/detailAll/23795/nws/141)

สันทรายทางทิศใต้ของปากร่องน้ำเทพา

“เหนื่อยไม่เบาเลยนะเนี่ย ทำไมหาดตรงนี้มันถึงกว้างขนาดนี้อ่ะ” น้ำฝนถามอย่างประหลาดใจ แม้จะเป็นคนสงขลาแต่ไม่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนหาดแถบนี้เลย”

“นี่ตกลงใครเป็นคนสงขลากันแน่ แกไม่รู้เลยรึว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่” เม็ดทรายหยอกเพื่อนแรงๆ

“เออเน่อะ แต่ไม่เคยมา และถึงมาก็ไม่มีความรู้เรื่องอะไรแบบนี้เลยอ่ะ” น้ำฝนซึ่งไม่มีความรู้มากนักเรื่องชายหาด แต่สนอกสนใจด้านสิ่งแวดล้อมตอบเพื่อน

“เห็นกองหินไกลๆตรงโน้นไหม ยาวๆออกไปในทะเลน่ะ เค้าเรียกกันว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ หรือ Jetty” (https://beachlover.net/jetty/)

“ยาวมากเลยนะ ลองวัดระยะดูมันมากกว่าครึ่งโลอีก” หยกผู้มีทักษะการค้นข้อมูลมากกว่าน้องๆตามประสานักศึกษาปริญญาโทพูดพลางเอาหน้าจอ Smartphone ที่เปิด Application Google Earth ให้น้องๆดู

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำเทพา

“อยากเห็นหาดอีกฝั่งแล้วซิ ไปกันต่อเลยไหม” ทั้งสามรีบจ้ำขึ้นรถด้วยความอยากรู้อยากเห็น

เมื่อมาถึงชายหาดทางฝั่งทิศเหนือของปากน้ำเทพา เม็ดทรายวิ่งถลาลงไปที่ชายหาดพลางพูดว่า “โห! เป็นแบบที่อาจารย์สอนในห้องเป๊ะเลยนะเนี่ย”

“อะไร ยังไง เล่ามาซิ” หยกถามขณะที่มือและตายังง่วนอยู่กับภาพ Google Earth ในมือถือ

ภาพมุมสูงมองไปทางปากร่องน้ำเทพา

“คือไอ้กองหินยาวๆที่พี่เห็นอ่ะ มันจะดักตะกอนทรายเอาไว้ฝั่งโน้น ที่ตะกี้เราเดินกันจนเหนื่อยจากรถถึงชายหาดน่ะ มันคือทรายที่ถูกดักไว้จากไอ้ตัวนี้แหล่ะ”

“แล้วตรงนี้มันก็เลยถูกกัดเซาะตามหลัก Physics ใช่เป่า” หยกพูดพลางวาดภาพ Jetty บนพื้นทรายประกอบ

“นี่พวกนักวิทยาศาสตร์กับวิศวกรคุยอะไรกัน ช่วยแปลให้นักกฎหมายเข้าใจแบบง่ายๆได้ไหมเนี่ย” น้ำฝนงุนงงกับบทสนทนาที่ดูเหมือนตัวเองจะเป็นคนนอกในเรื่องราวนี้

“แบบนี้ไงฝน เวลาที่คลื่นวิ่ง …………” (https://beachlover.net/jetty/) “พอเข้าใจไหมอ่ะ”

“อืม…เข้าใจง่ายดีนะ แล้วเรื่องง่ายๆแบบนี้ คนที่สร้างเค้าไม่เข้าใจหรือไง ทำไมเค้ายังสร้างมันหล่ะ ถ้ารู้ว่ามันจะทำให้ชายหาดตรงนี้มีผลกระทบอ่ะ” น้ำฝนยังสนใจต่อเนื่องจากคำตอบของเม็ดทราย “นี่รู้ไหม แบบนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับหน่วยงานรัฐที่สร้างไอ้กองหินยื่นๆนั้นได้เลยนะ” ฝนเริ่มเติมประเด็นเชิงกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมาลงไปในวงสนทนา

“หือ! …แบบนั้นได้ด้วยรึ ประชาชนฟ้องรัฐได้ด้วยรึ” หยกละจากหน้าจอข้อมูล Google earth ของเธอเพื่อร่วมวงสนทนานี้

“ตอนเรียนกฎหมายสิ่งแวดล้อมอ่ะพี่ อาจารย์ที่สอนเค้ายกกรณีศึกษาข้อพิพาทชายหาดที่ชาวบ้านฟ้องรัฐมาสอนแหล่ะ ฝนจำได้แม่นมาก เพราะมีอาจารย์รับเชิญที่เป็นวิศวกรมาจากกรุงเทพฯมาพูดเรื่องนี้ ทำให้เข้าใจข้อมูลเชิงกายภาพมากขึ้น พอมาประกอบร่างกับความรู้เรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่อาจารย์สอน ภาพมันชัดมากเลยอ่ะ” 

เมื่อน้ำฝนเล่าเรื่องราวคดีชายหาดสะกอมที่ชาวบ้านฟ้องกรมเจ้าท่าให้ทั้งคู่ฟังจบ ทั้งสามก็มาถึงทิศเหนือของปากร่องน้ำสะกอมพอดี

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม

“โครงสร้างนี้เองรึนี่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องคดีปกครองคดีแรกในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับชายหาดเมื่อปี 2551” น้ำฝนพูดพลางกระโดดไปมาบนกองหิน “แกเรียกมันว่าอะไรนะ … จำไม่ได้แล้วอ่ะ” น้ำฝนถามเพื่อนตามประสานักกฎหมายที่มักจดจำศัพท์แสงทางเทคนิคไม่ค่อยได้

การกัดเซาะทางทิศเหนือของปากร่องน้ำสะกอม

“เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ หรือ Jetty ยังไงหล่ะ” เม็ดทรายที่ดูจะตื่นเต้นกว่าใครยิ่งได้รู้ว่ามีการฟ้องร้องเป็นคดีความกันที่นี่ด้วยแล้ว ยิ่งดูมีพลังในการค่อยๆอธิบายวัตถุประสงค์ของ Jetty ให้เพื่อนร่วมทริปฟังอย่างละเอียด

(Fact sheet คดีชายหาดสะกอม https://beachlover.net/คดีสะกอม-จ-สงขลา/)

“นี่แกอธิบายได้เกือบเหมือนอาจารย์รับเชิญคนนั้นที่มาจากกรุงเทพฯเลยอ่ะ” น้ำฝนกล่าวชื่นชมเพื่อน

“อ้าว ลืมไปแล้วรึว่าชั้นก็ว่าที่วิศวกรเชียวน้า ไม่แปลกที่วิศวกรจะอธิบายเรื่องนี้ได้เหมือนๆกัน ก็มันเป็นไปตามทฤษฎีเป๊ะเลยนี่นา”

“หาดมันหายไปเยอะมากเลยเน่อะ” หยกเปิดภาพ Google Earth ในแต่ละช่วงเวลาของพื้นที่นี้ให้ทุกคนได้ดูผ่านหน้าจอ

ภาพมุมสูงมองไปทางปากร่องน้ำสะกอม 

“ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของที่ดินตรงโน้นจะลุกขึ้นมาฟ้องร้องทวงพื้นที่ตัวเองคืนจากรัฐ” “พี่ดูจาก Google แล้วเห็นว่ามันกัดเซาะไปยาวเหมือนกันแฮ่ะจากกองหินนี้” หยกพยายามให้ ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจเชิงกายภาพของพื้นที่มากยิ่งขึ้น 

“จริงๆยังมีตรงโน้นไกลๆอีกที่นะ ตรงบ้านโคกสักที่ชาวบ้านเป็นโจทย์ยื่นฟ้องน่ะ” น้ำฝนพูดพลางชี้ไปทางทิศเหนือ

ภาพมุมสูงมองไปทางบ้านโคกสัก

ทั้งสามคนวิพากวิจารณ์การดำเนินของภาครัฐต่อเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยขยายผลจากกรณีชายหาดสะกอมกันอย่างสนุกสนานตลอดทาง ตามประสานักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมคอเดียวกัน

“เราแวะทักทายเจ้าย๊ะกันหน่อยไหมพี่หยก ทางผ่านพอดี” ฝนรีบบอกก่อนที่รถจะวิ่งเลยผ่านบ้านสวนกง อ.จะนะ 

“ดีเหมือนกัน เผื่อมีอาหารทะเลแห้งให้ซื้อกลับหาดใหญ่บ้าง” หยกกล่าวพลางตบไฟและเลี้ยวหัวรถเข้าสู่บ้านสวนกง

“พี่ไปจอดตรงสันทรายเลยนะ และค่อยเดินย้อนมา” น้ำฝนพูดพร้อมกดโทรศัพท์หารุ่นน้องที่คุ้นเคย