โครงการเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม จ.สงขลา
สภาพทั่วไปของพื้นที่
ชายหาดบริเวณปากร่องน้ำสะกอมเดิมมีลักษณะเป็นหาดสองชั้น คือมีสันทรายซึ่งเป็นปากทางเข้าร่องน้ำอยู่ด้านนอก เลี้ยวไปตามทิศทางการเคลื่อนตัวของตะกอนเลียบชายฝั่ง (ใต้ไปเหนือหรือขวาไปซ้ายในรูปที่ 1) และมีชายหาดด้านในอีกชั้นหนึ่ง ในบางช่วงเวลาปากน้ำจะปิดเนื่องมาจากตะกอนทรายตกทับถมบริเวณปากร่องน้ำ ต้องทำการขุดสันทรายให้เปิดเพื่อการเข้าออกของเรือ ส่วนบริเวณชายหาดนั้นในอดีตใช้เพื่อเป็นที่จอดเรือ ขนถ่ายผลผลิตทางการประมง หาหอยเสียบ ทำการประมงริมชายฝั่ง ตลอดจนการพักผ่อนหย่อนใจ
ข้อเท็จจริงของโครงการที่เกิดขึ้น
โครงการประกอบตัวเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 2 ตัว และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบหินทิ้ง 4 ตัว มีตำแหน่งที่ตั้งดังรูปที่ 2 ใน ต.สะกอม อ.จะนะ สร้างเสร็จเมื่อปี 2541
ประเด็นเชิงกายภาพ
เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) นั้นถือเป็นโครงสร้างชายฝั่งทะเลที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ชายหาดข้างเคียงรุนแรงที่สุด ด้วยขนาดที่ใหญ่และยาวออกไปนอกชายฝั่งมาก จึงเป็นการรบกวนการเคลื่อนตัวของตะกอนชายฝั่งมากกว่าโครงสร้างแบบอื่นๆ โดยปกติแล้วทางด้านท้ายน้ำ (ทิศตะวันตกของปากร่อง หรือทางซ้ายของปากร่องน้ำสะกอม) จะมีการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นที่ทราบแน่นอนอยู่แล้วว่าจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากอิทธิพลของเขื่อนกันทรายและคลื่อนปากร่องน้ำ โดยในกรณีนี้ได้เลือกสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบหินทิ้งจำนวน 4 ตัว เมื่อสุดเขื่อนกันคลื่นตัวสุดท้าย ชายหาดเกิดการเว้าแหว่งตามทิศทางของคลื่นเลี้ยวเบนไปจากการปะทะโครงสร้าง ชายหาดจึงค่อยๆพังทลายลงอย่างต่อเนื่อง แสดงภาพจำลองดังรูปที่ 3
ผลกระทบที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ของพื้นที่
หลังการก่อสร้างไม่นานชายหาดด้านทิศตะวันตกของปากน้ำสะกอม ตั้งแต่ปลายเขื่อนกันคลื่นตัวสุดท้ายถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยในปีแรกกัดเซาะไปกว่า 10 ม. และเพิ่มเป็นกว่า 80 ม.ในปี 2551 เป็นระยะทางยาวกว่า 3 ก.ม. ส่งผลให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาดถูกทำลายลง ชาวบ้านที่เคยใช้พื้นที่หน้าชายหาดมิอาจใช้ประโยชน์ได้แบบเดิม เช่น การใช้เป็นที่จอดเรือ การหาหอยเสียบ
ชายหาดทางทิศตะวันตกของปากร่องน้ำถัดจากเขื่อนกันคลื่นตัวสุดท้ายยังคงกัดเซาะเข้ามาเรื่อยๆ แสดงตัวอย่างดังรูปที่ 4 จนช่วงกลางปี 2559 กรมเจ้าท่าได้สร้างกำแพงกันคลื่นขนาดใหญ่พร้อมการถมพื้นที่ด้านหลังกำแพงเพื่อให้พื้นที่เดิมที่เคยถูกกัดเซาะกลับคืนมา แสดงดังรูปที่ 5 แต่กระนั้นก็มิได้ช่วยให้ชายหาดกลับมาเพราะกำแพงนี้สร้างโดยการถมทะเล ชายหาดด้านหน้ากำแพงจึงไม่มี นอกจากนั้นโครงสร้างนี้ยังอาจส่งผลกระทบให้กับพื้นที่ถัดไปทางทิศตะวันตกที่บริเวณสุดปลายกำแพงได้อีกด้วย
ความเป็นมาของคดี และรายละเอียดอื่นๆ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก E-Book : https://beachlover.net/การฟ้องคดีปกครอง/