Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของชายหาดแม่รำพึง บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปแล้วเมื่อสองปีก่อน ติดตามได้จาก https://beachlover.net/ปาบึกกำลังจะเปลี่ยนหาดe/ โดยในครั้งนั้นได้นำเสนอว่า หาดแม่รำพึงนี้ กำลังจะมีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบของกำแพงกันคลื่น เจ้าของงานคือกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา STS Engineering Consultant จำกัด ศึกษาออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2562 โดยในครั้งนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดโครงการกำแพงกันคลื่นขึ้น ณ ตำแหน่งใดของชายหาดเป็นเฟสแรก
กรมโยธาฯได้บรรจุงบประมาณเพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงไว้ในปีงบประมาณ 2564 และต่อเนื่องมาถึงปี 2567 ด้วยงบประมาณรวม 79.078 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นสามรูปแบบบนชายหาดแม่รำพึง ความยาว 805 เมตร (ข้อมูลจากร่างงบประมาณเล่มขาวคาดแดงปี 2566 แต่จากเวทีรับฟังความคิดเห็นมีความยาว 966 เมตร)
เมื่อประมาณต้นปี 2565 ได้เกิดกระแส ไม่เห็นด้วยกันโครงการนี้มากขึ้นโดย “กลุ่ม Save หาดแม่รำพึง” ที่เป็นกลุ่มหลักในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ (https://beachlover.net/ชาวบ้านบางสะพานจี้กรมโยธาฯ-ทบทวนโครงการสร้างเขื่อนกันตลิ่งมูลค่า-79-ล้าน/) ระบุถึงความไม่จำเป็นในหลายประการรวมถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ จากนั้นก็มีการยื่นหนังสือร้องเรียนและขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จนเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรมของโครงการนี้อย่างรุนแรงอีกครั้ง สืบเนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นนั้นเป็นการคัดลอกข้อมูลจากจังหวัดสงขลามาใส่ในรายงาน แม้จะเป็นข้อมูลประกอบรายงานในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญนัก แต่ก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า กระบวนการทำและจัดส่งรายงานนั้นดำเนินการด้วยความไม่รอบคอบ (https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง-ประจวบคีรีขันธ์-๙๖๖-เมตร-บนคำถาม/)
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้อีกครั้ง หากรวมกับครั้งย่อยๆที่ไม่มีการลงมตินับว่าเป็นการจัดเวทีเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนเป็นครั้งที่ 7 เพื่อหาข้อสรุปเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ให้จบลงโดยเร็ว แต่ผลที่ปรากฏคือไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากประธานของงานวันนั้น คือรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นลงในโดยมิได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานหลักที่ดูแลด้านชายฝั่งทะเลอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มาเข้าร่วมเกือบ 10 คน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่กำกับดูแลพื้นที่นี้โดยตรงได้แสดงข้อมูลและความเห็นทั้งที่มีการยกมือมาก่อนหน้าแล้ว รวมถึงปิดโอกาสการแสดงความเห็นของนักวิชาการอีกด้วย จึงเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่สมบูรณ์และไม่รอบด้าน เพราะมีการนำเสนอข้อมูลเฉพาะเพียงฝ่ายของบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นตัวแทนของกรมโยธาฯเท่านั้น ในส่วนของข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่ากังวลหากโครงการนี้เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกนำเสนอในเวทีครั้งนี้เลย (https://beachlover.net/กลุ่มคัดค้านเขื่อนกันคลื่นหาดแม่รำพึง-แถลงไม่ยอมรับ-เวทีประชามติ/)
หลังจากนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อคลี่คลายปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันระหว่างกรมฯกับผู้เห็นต่าง โดยได้มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้งในเดือนธันวาคม 2565
Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจภาคสนามบริเวณหาดแม่รำพึงนี้ในช่วงที่ชายฝั่งทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์เพิ่งผ่านพ้นสภาวะคลื่นลมแรงไปได้เพียง 3 วัน พบว่า หาดแม่รำพึงยังคงมีสภาพไม่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยสำรวจไว้ในเดือน พ.ค.2565 (https://beachlover.net/ข้อสังเกต-11-ประการ-ต่อโครงการกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง-บางสะพาน/)
สำหรับตำแหน่งวิกฤตที่พบว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการร้องขอโครงการฯพบว่ายังคงมีสภาพเหมือนเดิม ชายหาดตัดชันเป็นหน้าผาเนื่องจากผลกระทบของโครงสร้างเดิมที่อยู่ริมฝั่ง ซึ่งยังไม่ถูกรื้อถอนออกไป และยังไม่พบร่องรอยการกัดเซาะถึงถนนจนเกิดความเสียหาย
ประเด็นสำคัญที่สุดเพื่อจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมานี้ คือกรมโยธาฯควรยึดหลักความจำเป็นของโครงการมาก่อนเป็นลำดับแรก และควรคลี่คลายปัญหานี้ด้วย “วิทยาศาสตร์” มิใช่ “รัฐศาสตร์” เพื่อมิให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ประชาชนชาวแม่รำพึงอีก … โปรดติดตามกันต่อไป