หาดบางละมุง เป็นพื้นที่ชายหาดส่วนถัดไปทางทิศใต้ของท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งเป็นที่อยู่อาศัย โรงแรม ร้านอาหาร และชุมชนประมง หาดทรายบริเวณนี้มีความยาวต่อเนื่องเป็นทรงโค้งด้วยระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร จากท่าเทียบเรือแหลมฉบังถึงสะพานปลานาเกลือ
พื้นที่แถบกลางอ่าวระยะทาง 2.3 กิโลเมตร ประสบปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งจนเป็นเหตุให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหา และนำมาซึ่งมาตรการต่างๆที่ได้นำมาเสนอประชาชนในพื้นที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบและร่วมกันแสดงความคิดเห็น
หน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการคือกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นรวม 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 โดยได้นำรูปแบบที่คาดว่าจะเกิดผลดีต่อชายหาดบริเวณนี้มานำเสนอต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
โดยโครงการในพื้นที่นี้อันที่จริงแล้วเป็นหนึ่งใน “โครงการศึกษาเพื่อกําหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2” มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบรายละเอียดของพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกอย่างน้อย 4 พื้นที่ โดยพื้นที่ชายหาดที่นี้คือหนึ่งใน 4 ของพื้นที่ที่หน่วยงานจะนำไปออกแบบรายละเอียดเพื่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งต่อไป โดยรูปแบบที่นำมาเสนอเพื่อให้แสดงความคิดเห็นครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคมคือการสร้าง “กำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงและการเติมทราย”
Beach Lover ได้ทำการสำรวจภาพมุมสูงภายในพื้นที่โครงการตลอดแนวชายฝั่งประมาณ 2.3 กิโลเมตร ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 พบว่ามีโครงสร้างริมชายหาดเสียหายจากคลื่นมรสุม มีกำแพงกันคลื่นของเอกชนที่ส่วนมากยังคงมีสภาพดี มีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของเอกชน และยังคงมีพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่มีโครงสร้างป้องกัน ดังรูป
จากการสอบถามชาวประมงได้ความว่า พื้นที่แถบนี้จะประสบกับปัญหาน้ำทะเลยกตัวสูงและคลื่นลมแรงจนส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายหาดเฉพาะช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคมของทุกปีเท่านั้น และไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน อย่างเช่นในวันที่ Beach Lover ลงพื้นที่เพื่อสำรวจภาพมุมสูงนี้ ยังอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ชาวประมงบอกกับเราว่าทะเลจะยกตัวสูง และมีมรสุมกำลังแรง แต่ภาพเชิงประจักษ์คือทะเลค่อนข้างราบเรียบ
ส่วนช่วงเวลาปกติยามน้ำลงสามารถเดินเท้าออกไปจากฝั่งได้กว่าครึ่งกิโลเมตร ชาวประมงให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เรือประมงพื้นบ้านที่จอดเรียงรายอยู่นี้ จำเป็นต้องใช้พื้นที่หาดทรายในการเข้าจอดเรือ การขนถ่ายอุปกรณ์และสัตว์น้ำที่หามาได้เพื่อนำไปส่งขายต่อ ดังนั้น พื้นที่นี้จึงจำเป็นต้องมีหาดทรายเพื่อการอยู่รอดของชาวประมง
ปัจจุบันท่าเทียบเรือแหลมฉบังซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่นี้ห่างออกไปประมาณ 2.65 กิโลเมตร กำลังมีงานถมทะเลเพื่อขยายท่าเรือทางทิศใต้ของท่า เป็นไปได้ว่าเมื่อแล้วเสร็จอาจกระทบพื้นที่อ่าวบางละมุงเพิ่มเติมไปจากสภาพปัจจุบัน ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจำเป็นต้องพิจารณาในส่วนของโครงการพัฒนาพื้นที่นี้เข้าไปเป็นหนึ่งในการปัจจัยของงานศึกษาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วย หากพิจารณาเหตุแห่งปัญหาอย่างไม่รอบด้านแล้ว อาจนำมาซึ่งการสูญเสียงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพใดๆ
งานศึกษานี้ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่มีบทสรุป และไม่แน่ชัดว่ารูปแบบที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอต่อที่ประชุมซึ่งคือ “การเติมทรายเพียงอย่างเดียว” นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจะนำไปพิจารณาอีกครั้งเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบตามแนวคิดเดิมของตนหรือไม่อย่างไร
โปรดติดตาม