ที่มา: https://www.facebook.com/DXCThaiPBS/
กระแสกำแพงกันคลื่น กำลังได้รับความสนใจ หลังจากในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เริ่มพบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น กระจายไปยังหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะล่าสุด ที่ปรากฎภาพกำแพงกันคลื่นตามชายหาดท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น หาดชะอำ และ หาดปราณบุรี ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วน ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงว่า โครงสร้างวิศวกรรมป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จะเข้าไปแทนที่หาดทราย ส่งผลต่อทัศนียภาพเดิมในอดีต ประกอบกับขณะนี้เริ่มพบปัญหากำแพงที่สร้างไปแล้วพังเสียหาย รวมถึงยังทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงที่บริเวณด้านหัวและท้ายของโครงสร้าง ทำให้ต้องมีการก่อสร้างไปอย่างไม่รู้จบ
นักวิชาการ ระบุว่า กำแพงกันคลื่นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หลายโครงการทยอยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี และยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังมีการประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินการของรัฐ สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างทันท่วงที เมื่อปี 2556
วันนี้ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ รวบรวมข้อมูลการสำรวจโครงสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ ว่าปัจจุบันมีการก่อสร้างไปแล้วกี่จังหวัด และพื้นที่ไหนที่มีโครงสร้างดังกล่าวมากที่สุด ขณะเดียวกันยังชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าของโครงการผ่านตัวเลขงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างโครงการที่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถาวร ซึ่งจุดนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า หากกำแพงกันคลื่นสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดจริง เหตุใดตัวเลขงบประมาณจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี