ถึงคิวเกาะลิบง กับ หาดกำแพง ?!?

ลิบง เป็นชื่อของเกาะซึ่งตั้งอยู่ในน่านน้ำทะเลตรัง บริเวณปากแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน ห่างจากฝั่งบ้านเจ้าไหมไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร และมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าเกาะใด ๆ ที่อยู่เขตปกครองของจังหวัดนี้ เกาะลิบงที่มีฐานะเป็นตำบล ที่อยู่ในเขตปกครองของอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร (https://th.wikipedia.org/wiki/เกาะลิบง)

เกาะลิบงเมื่อปีก่อนเริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางและเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นแหล่งพักรักษาตัวของพยูนมาเรียม อันที่จริงแล้วเกาะลิบงมีชื่อเสียงเรื่องพยูนมาเนิ่นนานแล้วด้วยเป็นแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพยูน จึงเป็นพื้นที่แหล่งหากินของพยูนมาแต่ครั้งอดีต ปัจจุบันประกาศเป็นเขตอนุรักษ์

Beach Lover ได้สำรวจความสมบูรณ์ของทรัพยากรบนเกาะลิบงและพื้นที่ชายหาดรอบๆเกาะ พบทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันหลากหลาย บางโซนของเกาะเป็นหาดทรายขาวยาวสวย บางโซนเป็นหาดโคลนบนทราย บางโซนเป็นท้องทุ่งหญ้าทะเล บางโซนเป็นโขดหินรูปร่างแปลกตา งานสำรวจเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ไม่ได้มีโอกาสหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง จนถึงวันนี้ วันที่บางส่วนของชายหาดบนเกาะลิบงกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

หาดที่พักรักษาตัวของพยูนมาเรียม
บางส่วนของหาดบนเกาะ
บางส่วนของหาดบนเกาะ
บางส่วนของหาดบนเกาะ

รอบๆเกาะไร้ร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่งยกเว้นเพียงพื้นที่เดียวคือพื้นที่หมู่ 5 บ้านหลังเขา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะซึ่งเป็นทะเลเปิด เป็นพื้นที่ของชุมชนประมงที่ตั้งอยู่ด้านหลังเกาะกวาง ช่วงที่ Beach Lover ลงสำรวจพื้นที่เป็นช่วงปลอดมรสุม คลื่นลมสงบยังไม่พบร่องรอยการกัดเซาะใดๆ แต่พบซากปรักหักพังของเศษวัสดุมากมายรวมถึงเศษซากแห่งความพยายามป้องกันพื้นที่ชายฝั่งนี้ให้รอดพ้นจากการกัดเซาะในอดีต

ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า หาดแถบนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังเกิด Tsunami เมื่อปี 2547 หลังจากนั้นทางท้องถิ่นก็ได้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นและถนนเลียบหาดแบบไม่ได้มาตรฐานนัก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพเชิงกายภาพครั้งใหญ่ของหาดในหมู่ที่ 5 นี้ โดยระยะต่อมาโครงสร้างเกือบทั้งหมดได้พังทลายลงและส่งผลกระทบให้หาดกัดเซาะไปเรื่อยๆจวบจนถึงปัจจุบัน

ซากกำแพงกันคลื่นเดิม

ทางท้องถิ่นได้ประสานไปหลายหน่วยงานรวมถึงนักวิชาการหลายสำนัก ต่อมาได้นำเสาไม้มาปักเป็นรั้วและใส่เศษไม้เข้าไปและนำอวนมาคลุมทับเพื่อป้องกันคลื่น แต่สุดท้ายความพยายามนี้ก็มิอาจต้านทานความรุนแรงของคลื่นได้ จึงปรากฎภาพของซากรั้วไม้และอวนตามที่เห็น

ซากของเสาไม้ปักเพื่อกันคลื่น
ซากของเสาไม้ปักเพื่อกันคลื่น
ความพยายามของชาวบ้านเพื่อป้องกันพื้นที่ตนเอง
ซากของเสาไม้ปักเพื่อกันคลื่น
ซากของเสาไม้ปักเพื่อกันคลื่น
ซากของเสาไม้ปักเพื่อกันคลื่น

พื้นที่หมู่ 5 เกิดการกัดเซาะทุกปีเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นและคลื่นลมในทะเลมีความรุนแรงกว่าช่วงเวลาปกติเท่านั้น แต่ด้วยการใช้ประโยชน์พื้นที่นี้ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและบ้านเรือนที่อยู่ค่อนข้างประชิดฝั่ง จึงส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อทรัพย์สินของผู้มีบ้านเรือนริมชายฝั่ง (นับแล้วไม่เกิน 10 หลังคาเรือน) ตลอดแนว 600 เมตร องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบงจึงทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปที่สำนักโยธาธิการและผังเมือง จ.ตรัง เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจออกแบบและขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

พื้นที่โครงการ (ที่มา:กรมโยธาธิการและผังเมือง)

จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองส่วนกลางจึงรับเรื่องต่อจากจังหวัดเพื่อดำเนินโครงการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บ้านหลังเขา ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ด้วยความยาวตามแนวชายฝั่งประมาณ 600 เมตร และด้วยพื้นที่นี้ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง รวมถึงอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ขั้นตอนและการศึกษาออกแบบจำเป็นต้องเพิ่มกระบวนการพิเศษผนวกเข้าไปมากกว่างานก่อสร้างในพื้นที่ปกติ

หลังจากเจ้าหน้าที่และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ลงสำรวจพื้นที่เมื่อเดือนกันยายน 2563 เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นแล้วพบว่า แนวทางเลือกเพื่อการป้องกันชายฝั่งในพื้นที่หมู่ 5 ประกอบด้วย (1) เขื่อนถุงทราย (2) เขื่อนหินใหญ่เรียง (3) เขื่อนหินเกเบียน (4) กำแพงกันคลื่นแนวดิ่ง และ (5) เขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันได ซึ่งแนวทางเลือกทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกำแพงกันคลื่น (Seawall) ทั้งสิ้น เพียงแต่เรียกขานแตกต่างกันไปตามลักษณะและวัสดุเท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่นี้ชาวบ้านใช้เพื่อการจอดเรือ หากเกิดโครงสร้างป้องกันชายฝั่งขึ้น จะเกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ในมิตินี้อย่างแน่นอน เป็นประเด็นที่หน่วยงานเจ้าของโครงการควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ถัดไปทางทิศเหนือและทิศใต้ของโครงการที่ยังคงสภาพเป็นชายหาดที่สมบูรณ์อยู่ด้วย

พื้นที่ก่อสร้างโครงการ ปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่จอดเรือ
พื้นที่ทางทิศเหนือของโครงการ
พื้นที่ทางทิศใต้ของโครงการ

โครงการดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อรวบรวมข้อมูลและเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ หากมีความคืบหน้า Beach Lover จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป