กำแพงไม้ จะมาแทน กำแพงหิน? (ภาคต่อ)

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่ที่มีกำแพงไม้ หรือ ที่หน่วยงานเรียกขานกันว่า “รั้วไม้ดักทราย” ไปแล้วในหลายพื้นที่ ติดตามได้จากโพสเก่าๆ

วันนี้ขอพาชมอีกพื้นที่หนึ่งของโครงการ “รั้วไม้ดักทราย” ใน จ.สงขลา บริเวณชายหาดบริเวณเขารูปช้าง ส่วนถัดจากโครงการกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง (https://beachlover.net/ผลกระทบปลายกำแพงกันคลื่น-ชายฝั่งบ่ออิฐ-เกาะแต้ว/) และต่อเนื่องจากโครงการเติมทรายซึ่งอยู่ในแผนของกรมเจ้าท่าใน ถัดไปทางทิศเหนือของโครงการกำแพงกันคลื่นอีก 1 กิโลเมตร หรือกล่าวได้ว่า “รั้วไม้ดักทราย” จะเกิดขึ้นห่างจากตำแหน่งสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงของกรมเจ้าท่าไปอีก 1 กิโลเมตร ทางทิศเหนือ

ภาพเมื่อ: มิ.ย. 2565

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 Beach Lover ได้เคยนำเสนอภาพและเรื่องราวของพื้นที่นี้ โดย ณ เวลานั้น ยังมิได้ทำการปักรั้วไม้ ติดตามได้จาก https://beachlover.net/กำแพงไม้-จะมาแทน-กำแพงหิน/ หลังจากนั้นอีก 2 เดือนต่อมา เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ Beach Lover จึงลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง แสดงภาพเปรียบเทียบดังรูป

เมื่อเดินสำรวจตลอดระยะทาง 268 เมตร พบว่าไม้ที่ปักค่อนข้างแน่น โดยปักเป็นแนวยาวห่างฝั่งประมาณ 5-6 เมตร พร้อมการปักตั้งฉากจากแนวไม้ยื่นออกไปประมาณ 1 เมตร นับว่าเป็นลักษณะของการปักรั้วไม้ที่แปลกไปจากงานเดิมที่กรมทรัพยากรทางทะเลและและชายฝั่งเคยดำเนินการไว้ในพื้นที่อื่นๆ

ภาพเมื่อ: 10 ก.ค.2565
ภาพเมื่อ: 10 ก.ค.2565

ตามป้ายประชาสัมพันธ์โครงการพบว่าเป็นโครงการเดียวกันกับที่ดำเนินงาน ณ ปากคลองกลาย ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่ง Beach Lover ได้เคยนำเสนอไปแล้ว ติดตามได้จาก https://beachlover.net/กำแพงไม้-ท่าศาลา-นครฯ/

สำหรับงานติดตั้งรั้วไม้ในพื้นที่นี้ มีประเด็นที่ควรตั้งของสังเกตต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการดังต่อไปนี้

  1. เหตุใดจึงติดตั้งรั้วไม้อยู่ด้านหน้ากำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งของหน่วยงานอื่น นั่นเท่ากับว่ากรม ทช. จะไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพของรั้วไม้นี้ได้เลย เหตุเพราะทับซ้อนกับโครงสร้างเดิม นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นที่ซ้ำซ้อนเชิงงบประมาณอีกด้วย หากจำเป็นควรนำรั้วไม้ไปดำเนินการในพื้นที่อื่นที่ยังไม่มีโครงสร้างป้องกันเดิมอยู่จะดีกว่า และเป็นการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
  2. ระยะทางปักไม้ตามที่ปรากฏจริงนั้นไม่เท่ากับระยะทางที่ระบุไว้ในป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ กล่าวคือระยะทางที่ปรากฏบนป้ายนั้นคือ 1,500 เมตร แต่ระยะทางจริงตามแนวชายฝั่งที่ปรากฏบนรั้วไม้นั้นคือ 268 เมตร หน่วยงานควรชี้แจงรายละเอียดบนป้ายประชาสัมพันธ์ให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
  3. ไม้ที่ปักค่อนข้างแน่น จนอาจเรียกโครงสร้างนี้ได้ว่าเป็นกำแพงไม้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกับพื้นที่ถัดไปหรือไม่ อย่างไร
  4. เนื่องจากรูปแบบของการปักรั้วไม้บริเวณนี้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่กรม ทช.เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ การปักไม้ลักษณะนี้ เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกพิสูจน์แล้วในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลดี หรือไม่ อย่างไร
ภาพเมื่อ: 10 ก.ค.2565

กำแพงไม้ จะมาแทน กำแพงหิน ?!?

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่ที่มีกำแพงไม้ หรือ ที่หน่วยงานเรียกขานกันว่า “รั้วไม้ดักทราย” ไปแล้วในหลายพื้นที่ ติดตามได้จาก https://beachlover.net/ถึงคิวเกาะลิบง-กับ-หาดกำ/ และ https://beachlover.net/หาดเต่าไข่-วัดท่าไทร-ยัง/

วันนี้ขอพาชมพื้นที่ที่กำลังจะเกิดโครงการ “รั้วไม้ดักทราย” ใน จ.สงขลา ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ได้แก่ชายหาดบริเวณเขารูปช้าง ส่วนถัดจากโครงการกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง (https://beachlover.net/ผลกระทบปลายกำแพงกันคลื่น-ชายฝั่งบ่ออิฐ-เกาะแต้ว/) และต่อเนื่องจากโครงการเติมทรายซึ่งอยู่ในแผนของกรมเจ้าท่าใน (งบประมาณปี 2566 มูลค่า 30 ล้านบาท) ถัดไปทางทิศเหนือของโครงการกำแพงกันคลื่นอีก 1 กิโลเมตร หรือกล่าวได้ว่า “รั้วไม้ดักทราย” จะเกิดขึ้นห่างจากตำแหน่งสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงของกรมเจ้าท่าไปอีก 1 กิโลเมตร ทางทิศเหนือ

ภาพเมื่อ: 12 พ.ค.2565

จากป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ โครงการนี้ควรแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 แต่ปัจจุบัน ณ วันที่สำรวจ ยังไม่พบร่องรอยของการลงมือก่อสร้างแต่อย่างใด

ภาพเมื่อ: 12 พ.ค.2565

สภาพพื้นที่ทั้งหมดเป็นหาดทราย โดยมีกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งแล้วตลอดทั้งแนว สันหาดค่อนข้างสูง สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือในเมื่อพื้นที่นี้มีกำแพงแบบหินทิ้งริมฝั่งแล้ว หน่วยงานจะดำเนินการก่อสร้างรั้วไม้ดักทรายกันแบบไหน อย่างไร จะรื้อกำแพงหินออก หรือ จะปักไม้ด้านหน้ากำแพง รวมถึงจะวัดประสิทธิภาพของรั้วไม้นี้ได้อย่างไรหากมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของเดิมอยู่

ภาพเมื่อ: 12 พ.ค.2565

วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างรั้วไม้ในพื้นที่นี้ตามจริงคือต้องการบรรเทาผลกระทบจากการกัดเซาะด้านท้ายน้ำถัดจากกำแพงกันคลื่นที่ก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่รั้วไม้นี้จะป้องกันการกัดเซาะด้านท้ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่หวังตั้งใจไว้หรือไม่ คงเป็นประเด็นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ต้องตอบคำถามโดยมีข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการอย่างเพียงพอ อาทิ ข้อมูลจากการสำรวจในแต่ละช่วงเวลาในบริเวณที่มีและไม่มีรั้วไม้ ผลวิเคราะห์ปริมาณทรายที่รั้วไม้ดักเอาไว้ได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆยอมรับ และเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

มิฉะนั้น มาตรการ “ไม้หลักปักผืนทราย” ที่กรม ทช โปรโมทไว้ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการไปบ้างแล้ว และกำลังจะดำเนินการต่ออีกในหลายพื้นที่ จะเกิดข้อกังขาตามมามากมาย