การเดินทางของเม็ดทราย: ตอนที่ 7 ถนนเลียบฝั่งปานาเระ

“อ้าว! นี่พี่ก็ขับตาม Google map มานะ ทำไมมันไม่มีทางไปต่อแล้วหล่ะ” รุ่นพี่งุนงงกับถนนที่สิ้นสุดตรงนี้ ทั้งที่ยังปรากฏเส้นทางให้ไปต่อได้ถึงแหลมตาชีใน Google map

“เอ…ยังไงกันหล่ะเนี่ย ของหนูก็ยังมีเส้นทางอยู่ในพี่” ดาด้าพูดพลางโชว์หน้าจอระบบนำทางของตัวเอง “ของเราก็เหมือนกับด้าเลย” เม็ดทรายสนับสนุนข้อมูลต่อทันที

แท้จริงแล้ว ถนนเส้นที่ทั้งสามคนกำลังงุนงงอยู่นั้น ในอดีตเป็นถนนที่วิ่งเลียบทะเลจากปากน้ำปานาเระไปถึงแหลมตาชี แต่หลังจากงานก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำปานาเระแล้วเสร็จ ก็ส่งผลกระทบให้ชายหาดแถบนี้ รวมถึงถนนเส้นนี้ถูกกัดเซาะจนขาดไปในที่สุด (https://beachlover.net/ถนน-ปานาเระ-หายไปไหน/)

“มันส่งผลกระทบรุนแรงมากขนาดนี้เลยรึ แบบนี้คุ้มกันไหมกับการตัดสินใจสร้างน่ะ” รุ่นพี่แสดงทัศนะของตัวเองทันทีที่ทั้งสามคนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าจากการหาข้อมูลผ่าน Website 

“นั่นแหล่ะ พี่ว่าไหมว่าเค้าจะต้องสร้างอะไรตรงนี้ต่อไปแน่ๆ ยิ่งมันกัดเซาะแบบถนนหายไปแบบนี้ ยิ่งต้องสร้างถนนใหม่ หรือหาอะไรมาป้องกันแน่นอนเลย” เม็ดทรายพูดพลางเดินถ่าย vdo clip ไปพลาง 

“นี่ถ้าเค้าไม่ตัดถนนเลียบทะเลมากขนาดนี้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไรเน้อะ มันน่าจะมีกฎหมายเรื่องระยะถอยร่น อะไรประมาณนี้อยู่นะ พอจำได้บ้างตอนอาจารย์ยกตัวอย่างในวิชากฏหมายสิ่งแวดล้อมอ่ะ” ว่าที่นักกฏหมายอย่างดาด้าพูดพลางก้มหน้าก้มตาค้นข้อมูลบางอย่างผ่าน website  (https://beachlover.net/วิชาการ-ระยะถอยร่นชายฝั่งทะเล/)

“เข้าใจแล้ว ถ้าเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างถาวรมันจะต้องถอยร่นเข้ามาจากแนวน้ำทะเล 12 เมตร แต่ถ้าเป็นถนนมันยังไม่มีกฎหมายที่บังคับเรื่องนี้” ดาด้าสรุปข้อมูลในเอกสารที่เธอค้นเจอจากหน้าจอให้ทุกคนฟัง (https://beachlover.net/กฎกระทรวง-เกี่ยวกับระยะร่นอาคารจากชายฝั่ง/)

“แบบนี้นี่เอง พี่เห็นถนนริมเลแถวบ้านพี่นี่ตัดประชิดทะเลมากๆเลย พอช่วงมรสุมทีนึงนะ อบต. ก็ต้องหางบมาซ่อมถนนเกือบทุกปีเลย” รุ่นพี่นึกภาพถนนริมชายหาดหลายแห่งของนราธิวาสได้  “คราวนี้พวกเราจะเอายังไงต่อดีหล่ะ”

“ตะกี้เราผ่านทางเข้าเล็กๆทางซ้ายมือมา พี่จำได้ไหม มันน่าจะเป็นถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรกัน เราคงไปทางนั้นได้” เม็ดทรายผู้จดจำรายละเอียดเส้นทางได้ดี แนะนำรุ่นพี่

ทั้งสามคนอยู่บนถนนเล็กๆที่ตัดลัดเลาะผ่านบ้านและสวนของชาวบ้าน พร้อมบทสนทนาระหว่างทางถึงถนนเส้นนี้ ที่ใช้งานได้ดี ผ่านชุมชนและมีผู้ได้รับประโยชน์ชัดเจน เหตุใดจึงต้องมีการตัดถนนเลียบชายฝั่งซึ่งไม่ได้ตัดผ่านบ้านเรือนของชาวบ้านเลย และสุดท้ายก็พังทลายลงไปในที่สุด 

“เสียดายภาษีเรานะ ว่าไหม” รุ่นพี่รำพึงรำพันพร้อมถอนหายใจเบาๆ