ถนนเลียบทะเลปานาเระ หายไปไหน?!?

[ภาพเมื่อ 9 ส.ค.2563]

ใครผ่านไปผ่านมาแถบปานาเระ จ.ปัตตานี จะพบถนนเลียบทะเลที่ขาดลงในระยะประมาณ 1.3 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกของปากร่องน้ำปานาเระ ที่มีโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 4 ตัว (ปัจจุบันหลงเหลือเพียง 1 ตัว) ทางทิศตะวันตกของปากร่องน้ำ

ภาพมุมสูงของแนวถนนขาด

ตามจริงแล้วหากถนนไม่ขาดลง เราสามารถใช้เส้นทางนี้วิ่งจากปากน้ำปานาเระไปถึงแหลมตาชีได้เลย Beach Lover ได้เคยลงพื้นที่สำรวจบริเวณนี้แล้วเมื่อสองปีก่อน จนถึงวันนี้พบว่ายังไม่มีการซ่อมแซม หรือสร้างถนนเส้นนี้ใหม่แต่อย่างใด

ภาพมุมสูงของแนวถนนขาด

หากสังเกตการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งบริเวณนี้จากภาพถ่ายดาวเทียม Google earth พบว่า ตำแหน่งที่ถนนเส้นนี้ประชิดชายหาดมากที่สุด ก็ยังห่างจากแนวระดับน้ำประมาณ 70 เมตร (สังเกตจากภาพ ก.พ.2005) โดยเริ่มพบการกัดเซาะของถนนนี้อย่างชัดเจนจากภาพถ่ายเดือน ม.ค.ปี 2011 ซึ่งอาจเกิดการกัดเซาะก่อนหน้านั้นแต่ไม่ปรากฏหลักฐานจากภาพถ่ายเพราะไม่มีภาพถ่ายในช่วงระหว่าง 2005-2011 คาดว่าการกัดเซาะถนนเส้นนี้เกิดจากผลกระทบของโครงสร้าง Jetty และเขื่อนกันคลื่นทางทิศตะวันตกของปากร่องน้ำ ที่ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่ถัดๆไปทางทิศตะวันตก

ก.พ.2005
ส.ค.2011
ธ.ค.2015
ต.ค.2018
ม.ค.2011
มี.ค.2015
เม.ย.2018
ก.พ.2020

ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2011 (ภาพ ส.ค.2011) พบการไหลของทรายจากฝั่งตะวันออกมาปิดปากร่องน้ำปานาเระแม้จะมีโครงสร้างป้องกันอย่าง Jetty แล้วก็ตาม และไหลล้นข้ามร่องน้ำมาตามธรรมชาติจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือเข้าออก แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะขุดลอกอย่างไร ก็ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ทรายที่ล้นมาปิดปากร่องน้ำ ณ วันที่ Beach Lover ลงสำรวจพื้นที่นี้ (9 ส.ค.2563) ก็พบเรือขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่ากำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน และยังพบการเปิดปากร่องน้ำใหม่ทางทิศใต้ของปากร่องน้ำเดิม

หากเราไล่เรียงลำดับความเป็นมาเป็นไปในพื้นที่นี้บนพื้นฐานของข้อมูลเท่าที่มีจะพบว่า การเกิดขึ้นของโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำปานาเระ (Jetty) และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Breakwater) อีก 4 ตัวได้ส่งผลให้ถนนที่ตัดเลียบประชิดชายฝั่งเกิดการกัดเซาะและขาดไปในที่สุด แม้ในเวลาถัดมาทรายจะไหลข้ามร่องน้ำไปทางทิศตะวันตกแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงชายหาดที่ถูกกัดเซาะรวมถึงถนนให้กลับคืนสภาพเดิมได้ (สังเกตได้จากพื้นที่ชายหาดในกรอบสี่เหลี่ยมบนภาพถ่าย Google earth ที่ค่อยๆลดลง) นอกจากนั้นกรมเจ้าท่ายังต้องกลับมาขุดลอกร่องน้ำแห่งนี้ถี่ขึ้นและไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น

หากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนั้นบรรลุประสงค์จริง เหตุใดเราจึงเห็นภาพที่ทรายมาปิดร่องน้ำในเกือบทุกภาพจาก Google earth ?

หากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนั้นบรรลุประสงค์จริง เหตุใดกรมเจ้าท่ายังคงต้องปวดหัวกับทรายที่ไหลล้นข้ามร่องที่ปากน้ำปานาเระ ?

จริงอยู่ที่ถนนไม่ควรตัดเลียบประชิดชายฝั่งมากขนาดนี้ในพื้นที่ที่ไม่มีบ้านเรือนแม้แต่หลังคาเดียว แต่ถนนและชายหาดที่ถูกกัดเซาะอย่างถาวร จากโครงสร้างปากร่องน้ำที่ “ไม่บรรลุวัตถุประสงค์” นี้ หน่วยงานไหนควรออกมาแสดงความรับผิดชอบดี ?