Jetty ตัวแรกแห่งอันดามัน กำลังจะเกิดขึ้น?!?

บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่ดำรงชีวิตอยู่แถบชายทะเลอันดามัน เดิมมีชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณปากคลองน้ำเค็มกว่าหนึ่งพันครัวเรือน แต่หลังจากเกิดเหตุ Tsunami เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บ้านน้ำเค็มเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด สิ่งปลูกสร้างชายฝั่งถูกทำลายล้างจนหมดสิ้น สภาพชายฝั่งและพื้นที่ปากคลองถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปอย่างมากมาย สันทรายปากคลองที่เเคยเป็นปราการธรรมชาติถูกทำลาย เช่นเดียวกันกับสันดอนทรายใต้น้ำ

จากการศึกษาโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งจ้างบริษัทที่ปรึกษา “ซีสเปคตรัม” ศึกษาไว้เมื่อปี 2550 ระบุว่าหลังจากพื้นที่นี้ได้รับผลกระทบจาก Tsunami เมื่อปี 2547 พบว่า แรงปะทะจาก Tsunami ได้พัดพาสันดอนทรายที่ปากคลองหายไปจนหมดสิ้น ตะกอนทรายบางส่วนถูกพัดพาไปตกในคลองปากเกาะ ส่งผลให้ร่องน้ำตื้นเขินเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง Ikonos วันที่ 29 ธ.ค.2547 เทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 แสดงให้เห็นการกัดเซาะบริเวณคลองปากเกาะดังพื้นที่สีแดง

ภาพถ่ายดาวเทียม Ikonos วันที่ 29 ธ.ค.2547 เทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 แสดงให้เห็นการกัดเซาะ
บริเวณคลองปากเกาะดังพื้นที่สีแดง (ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี, 2550)

แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 1 ปี พบว่าชายหาดเกิดการฟื้นตัวกลับมามีพื้นที่ชายหาดเกือบเหมือนเดิมก่อนเกิด Tsunami ภาพถ่ายดาวเทียม Ikonos วันที่ 29 ธ.ค.2547 เทียบกับภาพถ่ายวันที่ 24 ธ.ค.2548 แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของชายหาด
บริเวณคลองปากเกาะดังพื้นที่สีเหลือง แต่ยังคงพบว่าสันทรายปากร่องน้ำทางทิศเหนือบริเวณเกาะคอเขายังคงไม่ฟื้นคืนกลับมาในสภาพเดิม

ภาพถ่ายดาวเทียม Ikonos วันที่ 29 ธ.ค.2547 เทียบกับภาพถ่ายวันที่ 24 ธ.ค.2548 แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของชายหาด
บริเวณคลองปากเกาะดังพื้นที่สีเหลือง (ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี, 2550)

หลังจากนั้นปากคลองปากเกาะก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามที่ปรากฏในภาพถ่าย Google earth ปี 2548 ถึง 2562 (เท่าที่มีข้อมูลในปัจจุบัน)

2548
2556
2558
2560
2562
2553
2557
2559
2560

โดยพบว่าพื้นที่ปากคลองทางทิศเหนือ บริเวณเกาะคอเขา เกิดการกัดเซาะแบบผิดธรรมชาติ คือเกิดการกัดเซาะแบบเว้าแหว่ง เหตุเพราะผลจากการที่สันดอนทรายปากร่องน้ำหายไป รวมถึงปราการทางธรรมชาติใต้น้ำถูกทำลายโดย Tsunami ทำให้พื้นที่ปากคลองซึ่งตามปกติแล้วจะค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ค่อยๆกัดเซาะมากยิ่งขึ้น

ก.พ.2548
ธ.ค.2553
มี.ค.2561

จนเมื่อการกัดเซาะถึงโครงสร้างป้องกันของรีสอร์ททางทิศเหนือของปากคลอง ตัวโครงสร้างป้องกันนั้นก็จะยิ่งส่งเสริมให้การกัดเซาะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีก และเมื่อการกัดเซาะเข้าใกล้โครงสร้างพื้นที่ที่สำคัญอย่างถนน หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงต้องเร่งทำกำแพงเพื่อป้องกันถนนมิให้ถูกตัดขาด ด้วยเหตุนี้เราจึงพบเห็นการเว้าแหว่งของพื้นที่นี้ไปตามแนวโครงสร้างป้องกันของรีสอร์ทและถนน

กำแพงกันคลื่นบนเกาะคอเขาทิศเหนือของปากคลอง ภาพเมื่อ 23 มกราคม 2563 (https://www.dmcr.go.th/detailAll/38420/nws/22)

แม้จะมีบางพื้นที่ขาดตะกอนจนถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง แต่บริเวณปากคลองก็เกิดตะกอนส่วนเกินที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือโดยเฉพาะในช่วงปลอดมรสุม มีตะกอนทรายจำนวนหนึ่งไหลมาปิดปากคลองฝั่งทางทิศเหนือของปากร่องน้ำ

ภาพเมื่อ 27 ธันวาคม 2563
ภาพเมื่อ 27 ธันวาคม 2563

หลายฝ่ายกำลังหาวิธีเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งการกัดเซาะและปัญหาตะกอนทรายปิดปากร่องน้ำ เป็นต้นว่า ม.สงขลานครินทร์ https://www.psu.ac.th/th/node/9246 ได้เสนอการวางโดมปะการังเทียม ไว้เมื่อปี 2562 แต่ที่ดูจะเป็นรูปธรรมและอาจจะเกิดขึ้นจริงในระยะเวลาอันใกล้นี้คือโครงการของกรมเจ้าท่าภายใต้ชื่อโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำคลองน้ำเค็ม ที่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2556 และจัดทำ EIA แล้วเสร็จส่งให้ สผ. ไปเมื่อปี 2558 มีองค์ประกอบของโครงการคือ (1) เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 1 คู่ (2) เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 5 ตัว ก่อสร้างบนเกาะคอเขาในพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะใกล้ปากคลอง ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 415.088 ล้านบาท

ที่มา: กรมเจ้าท่า
ที่มา: กรมเจ้าท่า

หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง จะถือได้ว่าเป็นเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่อง( jetty) ตัวแรกแห่งทะเลฝั่งอันดามัน และเมื่อนั้น เราคงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของชายหาดแถบนี้กันอย่างใกล้ชิด