เกาะคอเขา กับแผ่นดินที่หายไป

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของเกาะคอเขา จ.พังงา ไปแล้วหลายครั้ง ติดตามบางส่วนได้จาก https://beachlover.net/jetty-ตัวแรกแห่งอันดามัน-กำล/ วันนี้ Beach Lover ได้มีโอกาสสำรวจภาคสนามพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์การกัดเซาะพื้นที่เกาะคอเขาบริเวณปากคลองบ้านน้ำเค็ม พบว่าพื้นที่ปากคลองทางทิศเหนือ ที่เกิดการกัดเซาะแบบผิดธรรมชาติ คือเกิดการกัดเซาะแบบเว้าแหว่งตามที่ได้อธิบายไปแล้วตามโพส https://beachlover.net/jetty-ตัวแรกแห่งอันดามัน-กำล/ มีโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงกันคลื่น ซึ่งทางรีสอร์ทได้ดำเนินการก่อสร้างเอง เพราะต้องการปกป้องถนนซึ่งเป็นเพียงเส้นเดียวที่วิ่งเข้าสู่รีสอร์ทแห่งนี้ ส่วนของที่ดินด้านข้างของรีสอร์ท หรือด้านหน้าถนนเส้นนี้ ที่จมน้ำหายไปจำนวนหลายไร่ ทางรีสอร์ทยังมิได้ดำเนินการใดๆ เพียงแต่ขอป้องกันถนนไว้ก่อนเพื่อสัญจรเข้าออก และได้นำวัสดุจำพวกท่อซีเมนต์เทปูนมาวางเพื่อป้องกันแนวรั้วของโรงแรมเอาไว้ ด้านหน้าโรงแรมส่วนที่ใกล้มาทางปากคลอง พบความพยายามในการป้องกันแก้ไขปัญหาโดยการนำท่อซีเมนต์และแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมลูกบาศก์มาวางเพื่อป้องกันคลื่น และพบว่าไม่มีชายหาดหลงเหลืออยู่เลย ด้านหน้ารีสอร์ทส่วนถัดขึ้นไปทางทิศเหนือ พบชายหาดและโครงสร้างบางส่วนของห้องพักที่วางอยู่บนชายหาด โดยพบร่องรอยการกัดเซาะอยู่ ด้านใต้โครงสร้าง ถัดไปทางทิศเหนือของห้องพัก พบโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรีสอร์ทที่ถูกฝังอยู่ใต้ทรายจำนวนหนึ่ง ทางผู้ดูแลได้แจ้งว่า ได้วางโครงสร้างแบบนี้ไว้เกือบตลอดทั้งแนว จะโผล่พ้นน้ำมาให้เห็นในช่วงมรสุมเท่านั้น ถัดจากรีสอร์ทขึ้นไปทางเหนือในที่ดินส่วนถัดไป พบการกัดเซาะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ชายหาดยังคงสมบูรณ์อยู่มากด้วยพืชและป่าชายหาด

Beachlover

May 9, 2022

Jetty ตัวแรกแห่งอันดามัน กำลังจะเกิดขึ้น?!?

บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่ดำรงชีวิตอยู่แถบชายทะเลอันดามัน เดิมมีชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณปากคลองน้ำเค็มกว่าหนึ่งพันครัวเรือน แต่หลังจากเกิดเหตุ Tsunami เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บ้านน้ำเค็มเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด สิ่งปลูกสร้างชายฝั่งถูกทำลายล้างจนหมดสิ้น สภาพชายฝั่งและพื้นที่ปากคลองถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปอย่างมากมาย สันทรายปากคลองที่เเคยเป็นปราการธรรมชาติถูกทำลาย เช่นเดียวกันกับสันดอนทรายใต้น้ำ จากการศึกษาโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งจ้างบริษัทที่ปรึกษา “ซีสเปคตรัม” ศึกษาไว้เมื่อปี 2550 ระบุว่าหลังจากพื้นที่นี้ได้รับผลกระทบจาก Tsunami เมื่อปี 2547 พบว่า แรงปะทะจาก Tsunami ได้พัดพาสันดอนทรายที่ปากคลองหายไปจนหมดสิ้น ตะกอนทรายบางส่วนถูกพัดพาไปตกในคลองปากเกาะ ส่งผลให้ร่องน้ำตื้นเขินเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง Ikonos วันที่ 29 ธ.ค.2547 เทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 แสดงให้เห็นการกัดเซาะบริเวณคลองปากเกาะดังพื้นที่สีแดง แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 1 ปี พบว่าชายหาดเกิดการฟื้นตัวกลับมามีพื้นที่ชายหาดเกือบเหมือนเดิมก่อนเกิด Tsunami ภาพถ่ายดาวเทียม Ikonos วันที่ 29 ธ.ค.2547 เทียบกับภาพถ่ายวันที่ 24 ธ.ค.2548 แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของชายหาดบริเวณคลองปากเกาะดังพื้นที่สีเหลือง แต่ยังคงพบว่าสันทรายปากร่องน้ำทางทิศเหนือบริเวณเกาะคอเขายังคงไม่ฟื้นคืนกลับมาในสภาพเดิม หลังจากนั้นปากคลองปากเกาะก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามที่ปรากฏในภาพถ่าย […]

Beachlover

January 11, 2021