Elastocoast คือวัสดุที่ใช้เพื่อเททับแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งแม่น้ำและทะเล ประกอบด้วยหินกรวดขนาดเล็กที่ถูกยึดติดกันด้วยโพรียูรีเทน 2 องค์ประกอบ (Two-component polyurethane) โดยหินกรวดนี้จะถูกน้ำยาเคลือบเหมือนมี Film บางๆของโพรียูรีเทนมาหุ้ม เมื่อน้ำยานี้แข็งตัว Film บางๆที่เคลือบหินกรวดจะเป็นตัวยึดให้หินทุกก้อนติดกันเฉพาะส่วนที่ contact กัน ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างก้อนกรวดนี้ ส่งผลให้โครงสร้างที่ถูกเททับด้วย Elastocoast มีความพรุนน้ำสูง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการการรับแรงปะทะและสลายพลังงานคลื่น
มีการประยุกต์ใช้ Elastocoast เป็นหนึ่งในวัสดุรูปแบบใหม่เพื่องานป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำและชายฝั่ง โดยได้ถูกทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2004-2007 แถบ North-Sea islands ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน หลังจากนั้นได้ถูกวิจัยและทดสอบใน 2 พื้นที่ Pilot area ในประเทศเนเธอร์แลนด์ในเมื่อปี 2007
ข้อมูลจากกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า ระบุว่า Elastocoast คือวัสดุคอมโพสิตที่มีความยืดหยุ่นซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันการ กัดเซาะแนวชายหาดโดยเฉพาะ ประกอบด้วยก้อนกรวดผสมกับโพลียูรีเทนซับน้ำที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้วัสดุมีลักษณะเหมือนหินที่มีโครงสร้างแบบเซลล์เปิด ผลิตโดยการนำของเหลวสองชนิดที่ทำจากโพลียูรีเทนสังเคราะห์มาผสมกันในพื้นที่ หน้างานแล้วจึงใส่ก้อนกรวดลงไป คุณสมบัติด้านความยืดหยุ่นจะช่วยปกป้องแนวกำแพงหินจากแรงกระแทกของน้ำได้ เนื่องจากช่องว่างระหว่างก้อนหินจะคอยดูดซับพลังงานเอาไว้ ขณะที่หากใช้คอนกรีตหรือยางมะตอยที่มีพื้นผิวแข็งและทึบตันจะถูกพังทลาย โดย แรงกระแทกจากคลื่นได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ก้อนหินที่มีขนาดต่างๆ มาปูทับกันให้ได้ความหนาต่างๆ ตามต้องการ โดยมีภาพประกอบงานก่อสร้าง ณ จ.ประจวบฯ ดังนี้ (https://www.facebook.com/civilengineering.md/posts/1520087611639742/)
สำหรับงานป้องกันชายฝั่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดนักว่านำเข้ามาใช้เมื่อไหร่ และพื้นที่ใดเป็นที่แรกๆ จากข้อมูลกรมเจ้าท่าพบว่ามีการดำเนินการไปเมื่อ 6 ปีก่อน ณ หาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามภาพด้านบน และจากการสำรวจภาคสนามโดย Beach Lover พบ Elastocoast บริเวณ 1.หาดกระทิงลาย จ.ชลบุรี 2.ร้านอาหารต้นสน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 3.วัดอู่ตะเภา ท่าบอน จ.สงขลา และ 4.หาดหน้าโรงแรมรีเจ้นท์ชะอำ จ.เพชรบุรี
น่าตามต่อถึงประสิทธิภาพของวัสดุรูปแบบใหม่นี้สำหรับงานป้องกันตลิ่งแม่น้ำและทะเล หากหน่วยงานที่รับผิดชอบนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จะสามารถควบคุมคุณภาพของงานก่อสร้างได้มาตรฐานตามบริษัทต้นแบบเทคโนโลยีกำหนดมาหรือไม่ รอติดตาม