นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงโครงการถมทะเลในบริบทของการพัฒนาและขยายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 โดยเสนอให้มีการถมทะเลที่บางขุนเทียนและปากน้ำ เพื่อให้ได้พื้นที่ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง และเป็นเมืองสีเขียวและเมืองใหม่ ให้เฉพาะรถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้นและมีรถไฟเชื่อม และป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ (อ้างอิง)
นายทักษิณเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนภาครัฐในช่วงสามปีของรัฐบาลนี้ และกล่าวว่าโครงการถมทะเลจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน (อ้างอิง)
หลังจากนั้นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยได้ออกมาอธิบายถึงแนวคิดหลักของโครงการนี้เพิ่มเติมในชื่อใหม่ที่เรียกว่า “โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย” โดยการสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลในลักษณะของเกาะ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีเกาะจำนวน 9 เกาะ และให้แต่ละเกาะมีเขื่อนเป็นแนวกั้นน้ำ และมีประตูเปิด-ปิดได้ซึ่งเกาะแรกจะสร้างในพื้นที่ของชายทะเลบางขุนเทียน จากนั้นจะสร้างเกาะอื่นไปจนถึงชลบุรี รวมระยะทางตลอดอ่าวตัว ก.ประมาณ 100 กิโลเมตร ทั้งนี้พื้นที่เกาะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดเชื่อมของเขื่อนกั้นน้ำแต่ละเกาะจะมีขนาดประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และสร้างห่างจากชายฝั่งไป 1 กิโลเมตร มีถนนเชื่อมกับพื้นที่ชายฝั่งเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปยังพื้นที่เกาะต่างๆ ได้
สำหรับแนวทางการลงทุนจะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนจะได้สัมปทานการใช้ที่ดินอาจจะเป็น 99 ปี ซึ่งสามารถพัฒนาเกาะนี้ใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบต่างๆ อาทิ การพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ หรือเป็นเมืองใหม่ที่เป็นสมาร์ตซิตี้ใช้พลังงานสะอาด โดยจะมีการติดตั้งกังหันลมหรือโซลาร์เซลล์ก็สามารถที่จะออกแบบได้ โดยเมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานแล้วพื้นที่นี้ก็จะเป็นของภาครัฐ (อ้างอิง)
สำหรับแนวความคิดนี้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของภาครัฐที่ได้โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ลุ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ลุ่มในภาคกลางที่จะถูกน้ำทะเลท่วมถึงได้ในอนาคต
หลังจากการประกาศแนวคิดของโครงการนี้โดยตัวแทนพรรครัฐบาลพบว่าเรื่องนี้เริ่มเป็นประเด็นข่าวด้านสิ่งแวดล้อมให้ถกเถียงกันพอสมควร โดยการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมในอ่าวไทยจะต้องใช้เทคโนโลยีและวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย Beach Lover ชวนมองแนวคิดโครงการนี้ผ่านมุมมองทางด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมเฉพาะในประเด็นหลักๆ ที่ชวนให้คิดต่อดังนี้:
- ปริมาณทราย: การถมทะเลจะต้องใช้ทรายเป็นวัสดุหลัก เนื่องจากพื้นที่ที่ต้องการถมเป็นทะเลโคลน ซึ่งมีความต้องการทรายประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อถมพื้นที่ประมาณ 282,000 ไร่ (50 ตารางกิโลเมตร X 9 เกาะ) ซึ่งมีขนาดรวมใกล้เคียงกับพื้นที่ของ จ.สมุทรสงคราม
- การเลือกแหล่งทราย: หากเป็นทรายก่อสร้างโดยทั่วไป จะใช้จากแหล่งทรายในแม่น้ำ ซึ่งหากขุดทรายมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้ตลิ่งพังเสียหายได้ หรืออาจมาจากทรายบก หรือทะเล ที่ยังมีข้อกังวลอยู่ว่าจะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาศักยภาพแหล่งทรายในประเทศไทยกันอย่างละเอียด หรือหากใช้วัสดุเหลือทิ้งหรือขยะเหมือนในต่างประเทศ เช่น สนามบินคันไซในญี่ปุ่น ก็ยังเป็นที่กังขาในเชิงปริมาณและคุณภาพ ว่าจะมีอย่างเพียงพอและเป็นวัสดุหรือขยะที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำมาถมทะเลหรือไม่
- การออกแบบวิศวกรรม: ต้องมีการออกแบบที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักและป้องกันการทรุดตัวในอนาคต โดยจะต้องคำนึงถึงสภาพดินและการกัดเซาะชายฝั่งที่อาจเกิดขึ้น หากพิจารณาจากกายภาพของพื้นที่พบว่าบริเวณใกล้ฝั่งเป็นตะกอนโคลนเลนมีโอกาสทรุดตัวสูง ออกไปไกลหน่อยถึงจะมีส่วนประกอบของทรายปะปน
- การใช้เทคโนโลยีการก่อสร้าง: ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย เช่น การใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงในการขนส่งและจัดการวัสดุถมอยู่แล้ว เนื่องจากมีโครงการถมทะเลในอดีตมาแล้วหลายโครงการ ทั้งเพื่อป้องกันชายฝั่งและเพื่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ แต่โครงการทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นประชิดฝั่งและดำเนินการบนหาดทรายหรือพื้นท้องทะเลที่ส่วนมากเป็นทราย แม้แต่โครงการอื่นๆในต่างประเทศที่มีการยกตัวอย่างตามข่าว ก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นบนพื้นท้องทะเลที่เป็นทรายหรือบนหาดทรายทั้งสิ้น ในขณะที่โครงการนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการถมทะเลนอกชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร บนพื้นท้องทะเลที่มีสภาพเป็นโคลน ซึ่งมีการฟุ้งกระจายระดับสูงมากเมื่อเทียบกับทราย น่าสนใจว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีใดเพื่อดำเนินโครงการลักษณะนี้
- การไหลเวียนของกระแสน้ำ: เนื่องจากโครงการมีลักษณะเป็นเกาะอยู่นอกชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ซึ่งคลื่นลมวิ่งเข้าปะทะโดยตรงจากทิศใต้ เกาะเหล่านี้จะวางตัวขวางทิศทางหลักของคลื่นโดยตรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ ทำให้การไหลเวียนของน้ำด้านหลังเกาะจนถึงริมชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเปิด-ปิด บานประตูระบายน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาที่จำเป็น จะยิ่งรบกวนต่อการหมุนเวียนของน้ำมากกว่าเดิม อาจส่งผลให้เกิดการตกตะกอนด้านหลังเกาะต่อเนื่องไปริมชายฝั่ง และส่งผลต่อเนื่องถึงระบบนิเวศน์ป่าชายเลน การประกอบอาชีพประมงที่ต้องใช้ร่องน้ำเพื่อการเข้าออกได้ รวมถึงอาจเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำเนื่องจากน้ำเสียที่ไหลลงทะเลไหลเวียนออกไปไม่ได้สะดวกเหมือนอย่างเดิม
- ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์: เนื่องจากมีการปิดปากแม่น้ำหลักถึง 2 สายคือเจ้าพระยาและบางปะกง ตามที่ปรากฎในข่าว ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์หาดโคลน ป่าชายเลน สัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของมนุษย์ รวมถึงมีฝูงโลมาบริเวณใกล้ปากน้ำบางปะกง เป็นเรื่องน่าห่วงกังวลอย่างยิ่งว่าระบบนิเวศน์อันเปราะบางและห่วงโซ่อาหารที่สำคัญนี้จะมีผลกระทบในระหว่างก่อสร้าง และหลังดำเนินโครงการอย่างไร
- โครงการอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์: เนื่องจากโครงการนี้ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้หลายด้าน หลักๆในเชิงการจัดการน้ำคือ ป้องกันน้ำท่วมเมืองด้านใน ป้องกันเมืองจมน้ำจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง Beach Lover ขอชวนมองทีละประเด็นดังนี้
- ป้องกันน้ำท่วม: โดยการบริหารบานประตูที่เชื่อมระหว่างเกาะเหมือนในหลายประเทศ พบว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศจริง แต่หากมองบริบทประเทศไทยที่แม้แต่การบริหารบานประตูในลำน้ำ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่างๆ เพื่อการชลประทานและจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลายข้อจำกัด ดังที่ได้พบเห็นปัญหากันตามข่าวมากมาย ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากเป็นการจัดการบานประตูระดับ Mega project ยิ่งน่ากังวลถึงประสิทธิภาพในการจัดการให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประงค์ของโครงการได้จริง
- ป้องกันเมืองจมน้ำจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล: วัตถุประสงค์นี้จะบรรลุได้หากดำเนินการควบคู่กับโครงการอื่นๆไปด้วย เช่นการยกระดับถนนด้านใน การสร้าง Green belt ด้านในอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากบานประตูที่เชื่อมระหว่างเกาะมีการเปิด-ปิด ในยามที่บริหารจัดการน้ำท่วม ในขณะที่ Sea level rise ที่เกิดขึ้นนั้น Rise โดยไม่ Fall หรือขึ้นแล้วไม่มีลดลง เป็นไปได้ว่าโครงการนี้จะไม่สามารถป้องกันหรือปิดตายผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่จะมีต่อพื้นที่ด้านหลังโครงการได้อย่างสมบูรณ์แน่ๆ
- ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง: หากเกาะที่ถูกสร้างขึ้นวางตัวห่างจากชายฝั่งทะเลในระยะ 1 กิโลเมตร ตามข่าว เป็นไปได้อย่างแน่นอนว่า ลมที่ยังคงพัดเหนือผิวหน้าน้ำทะเลจะทำให้เกิดขึ้นคลื่นด้านหลังเกาะขึ้นอีกระลอกและยังคงวิ่งเข้ามาปะทะชายฝั่งทะเลเหมือนเดิม เนื่องจากเกาะมิได้วางห่างฝั่งในระยะทางที่ใกล้เพียงพอที่จะพอส่งผลให้ลมไม่พัฒนาคลื่นต่อเหมือนการวางตัวของโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งทั่วไป อย่างไรก็ตามคลื่นจะมีความสูงและพลังงานลดลงมากกว่าการไม่มีเกาะบัง แต่การลดลงนี้จะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะน้อยลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการกัดเซาะบริเวณนี้ว่าเกิดจากคลื่นเป็นหลักหรือไม่อย่างไร
ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นและความห่วงกังวลในประเด็นหลักๆเชิงวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ Beach Lover ชวนให้ตั้งคำถามและถกเถียงกันได้อย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวคิดโดยยังไม่มีการลงมือศึกษากันในรายละเอียดแต่อย่างใด ทั้งนี้หากมีข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการมากขึ้น Beach Love จะหยิบโครงการนี้มาชวนคิดชวนคุยกันต่อในครั้งถัดไป โปรดติดตาม