” 3 ความต่าง ” ของชายหาดมหาราช ช่วงมรสุม

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของชายหาดมหาราชไปแล้วในหลายตอน ติดตามได้จาก โพสเดิมๆโดยใช้ icon search มุมขวาบน แล้วพิมพ์คำว่า “หาดมหาราช” ได้เลย

กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดริมชายหาดมหาราช จ.สงขลา ระยะที่ 2 ที่กำลังเร่งมือก่อสร้างในช่วงเวลานี้ ได้ก่อสร้างต่อจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่มีอยู่เดิมทางทิศใต้ ที่มีความยาว 92 เมตรในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน

กำแพงกันคลื่นที่มีอยู่เดิมยาว 92 เมตร ปัจจุบันโอนให้โยธาจังหวัดดูแล
งบประมาณปี 2559 จำนวน 18.612 ล้านบาท (ภาพเมื่อ 29 ตุลาคม 2563)

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นช่วงที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นลมแรง และระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น จากการสำรวจภาคสนามโดยเครือข่าย Beach for life พบว่า ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นกว่าปกติ ชายหาดด้านหน้าหายไป รวมถึงคลื่นวิ่งเข้าปะทะกำแพงและสะท้อนออกไปอย่างปั่นป่วน ยอดน้ำกระเซ็นของปลายคลื่นได้หอบเอาทรายขนาดละเอียดข้ามสันโครงสร้างเข้ามาด้านในบางส่วน

มองไปทางทิศใต้ (ภาพโดย Beach for life)
มองไปทางทิศเหนือ (ภาพโดย Beach for life)
มองปทางทิศใต้ (ภาพโดย Beach for life)

เมื่อสำรวจไปทางทิศเหนือห่างจากจุดเดิมไปประมาณ 1.7 กิโลเมตร ในช่วงเวลาเดียวกัน บริเวณที่กำลังมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระยะที่สองของกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าหลุมบ่อที่เคยขุดไว้เพื่อเปิดหน้าหาดสำหรับงานฐานรากถูกทรายกลบจนหมด (สังเกตจากภาพวันที่ 29 ต.ค.2563 เทียบกับภาพของวันที่ 1 ม.ค.2564) แต่ยังพอหลงเหลือพื้นที่หน้าหาดอยู่บ้างเนื่องจากโครงสร้างในส่วนของขั้นบันไดยังไม่แล้วเสร็จ

ภาพเมื่อ 29 ตุลาคม 2563
ภาพเมื่อ 1 มกราคม 2564 (โดย Beach for life)

เช่นเดียวกันกับพื้นที่ส่วนถัดไปที่เป็นตำแหน่งสิ้นสุดโครงสร้างระยะที่สองนี้ เป็นชายหาดที่ยังไม่มีโครงสร้าง แต่วางแผนว่าจะสร้างต่อไปในระยะที่สาม พื้นที่ส่วนนี้ยังคงมีพื้นที่หน้าหาดอยู่พอสมควร ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่หน้าหาดของกำแพงกันคลื่นระยะที่ 1 ที่ไม่มีหน้าหาดหลงเหลืออยู่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน

ภาพเมื่อ 29 ตุลาคม 2563
ภาพเมื่อ 1 มกราคม 2564 (โดย Beach for life)

Beach Lover ไม่มีข้อมูลแบบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดในระยะที่ 1 จึงไม่ทราบว่ารายละเอียดของโครงสร้างนี้เป็นอย่างไร แต่คาดเดาได้ว่าจะคล้ายๆกับที่อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ คือเป็นขั้นบันไดสองช่วง ส่วนของขั้นบันไดนั้นวางทับลงไปบนชายหาด และมีบางส่วนของโครงสร้างอยู่ใต้ทรายและอยู่ในแนวที่น้ำท่วมถึง ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่เราไม่พบชายหาดด้านหน้ากำแพงระยะที่ 1 เพราะตัวกำแพงเองนั้นวางทับลงไปบนชายหาด แต่เรายังคงพบพื้นที่หาดในส่วนที่กำแพงยังสร้างไม่แล้วเสร็จ และส่วนถัดไปที่ยังคงเป็นชายหาดที่สมบูรณ์

แม้เป็นช่วงวันเวลาเดียวกัน แต่ชายหาดทั้ง 3 ส่วนนั้นแตกต่างกันด้วยสาเหตุที่ว่ามานี้ … แบบนี้ยังจะอ้างได้ว่า สร้างกำแพงริมทะเลโดยไม่รุกล้ำลงไปบนพื้นที่ชายหาดอยู่หรือไม่ ?