ในปี 2558 กรมเจ้าท่าได้จ้างเหมาก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี โดยมีการถมทรายชายหาดกว้าง 50 เมตร โดยฝังถุงทรายไว้ที่ระยะห่างฝั่งประมาณ 25 เมตร ตามรูปแบบที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกแบบไว้เมื่อตุลาคม 2556 และส่งมอบให้กรมเจ้าท่าไปดำเนินการต่อ โดยการก่อสร้างแล้วเสร็จไปเมื่อ พ.ย.2560
ปรากฏว่าหลังก่อสร้างแล้วเสร็จไปเพียง 1 ปี ทรายที่เสริมไว้ถูกพัดพาหายไปอย่างรวดเร็วจนถึงแนวถุงทรายที่เคยมีทรายปกคลุมอยู่ ถุงทรายเริ่มเกิดความเสียหายและก่อให้เกิดทัศนียภาพไม่สวยงาม
โรงแรมรีเจ้นท์ชะอำบีชรีสอร์ท ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานนี้โดยตรง พบว่าเกิดอันตรายต่อผู้มาพักที่โรงแรมตลอดจนผู้ใช้ชายหาดอื่นๆ แขกมาเข้าพักลดน้อยลงเพราะชายหาดหน้าโรงแรมไม่สวยงาม ลงเล่นน้ำไม่ได้ จึงมีหนังสือถึงกรมเจ้าท่าขอให้พิจารณาตามข้อเสนอ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
(1) ทำการรื้อถุงทรายหน้าโรงแรมออกทั้งหมด (2) ทำการย้ายหัวหาดตามแบบแก้ไขของกรมเจ้าท่าในส่วนของทิศเหนือขยับขึ้นมาจนสุดแนวรั้วของโรงแรมรีเจ้นท์ ชาเล่ต์ และ (3) โรงแรมทราบดีถึงผลกระทบที่อาจตามมาจากข้อเสนอนี้ตามข้อ 1 และ 2 และยอมรับในการที่น้ำทะเลจะรุกเข้ามาถึงแนวกำแพงหรือแนวเขตที่ดินของกำแพงได้
กรมเจ้าท่าได้พิจารณาแล้วจึงทำการออกแบบเพื่อปรับปรุงแก้ไข ด้วยการรื้อถุงทรายแนวกันชนเดิมหน้าโรงแรมออกทั้งหมด แล้วนำมาเรียงเป็นแนวกันชนบริเวณชายฝั่งริมรั้วโรงแรม ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้หารือกับโรงแรมแล้วว่าเหมาะสม และได้สร้างหัวหาด (Headland) สองตำแหน่งห่างกันประมาณ 800 เมตร โดยหัวหาดนี้สร้างโดยใช้ถุงทรายวาง ส่วนที่ประชิดชายน้ำสร้างเป็นบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นผิวด้านบนเททับด้วยโพลี่ยูรีเทนเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการรับแรงดึง พร้อมการถมทรายด้านบน
Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจเมื่อกลางเดือนสิงหาคมพบงานก่อสร้างเรียงถุงทรายใหม่ พร้อมการสร้างหัวหาด ตามภาพ
หากวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการกัดเซาะในพื้นที่นี้พบว่า เกิดจากโครงสร้างปากร่องน้ำบริเวณอุทยานนานาชาติฯซึ่งส่งผลกระทบให้ชายหาดด้านทิศเหนือเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนต้องสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย รวมถึงกำแพงกันคลื่นของเอกชนตลอดแนวจนมาสิ้นสุดที่ทางทิศใต้ของโรงแรม The Regent Cha-Am ซึ่งทำให้พื้นที่นี้ต้องรองรับผลกระทบที่ถูกส่งต่อมาเป็นทอดๆนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากต้นเหตุแห่งปัญหายังคงอยู่ คงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสำหรับเจ้าของพื้นที่ริมทะเลบริเวณนี้ที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหากันต่อไป เป็นโจทย์สำคัญที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตอบให้ได้ว่ารูปแบบใดที่จะถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการและส่งต่อผลกระทบให้กับชายหาดถัดไปทางทิศเหนือน้อยที่สุด
หรือเราจะต้องมาคอยรื้อ ปรับแบบ และสร้างใหม่กันเช่นนี้เรื่อยๆ ?