ที่มา: https://www.opt-news.com/
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณหาดแม่รำพึง ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง งบประมาณประจำปี 2564 ความยาว 900 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 79.94 ล้านบาท ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันเป็นจำนวนมากทั้งจากประชาชนในพื้นที่อำเภอบางสะพาน กลุ่มนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มนักอนุรักษ์ฯ ถึงความจำเป็น และ ผลดี-ผลเสีย หากมีการก่อสร้าง
จุดเริ่มต้นของโครงการฯ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559 โดยทาง อบต.แม่รำพึง ได้ทำหนังสือ ที่ ปข.71907/259 ถึงโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเรื่อง ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนงบประมาณโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ต.แม่รำพึง จำนวน 2 โครงการ คือ
1. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และขุดลอกริมคลองบางสะพาน ในพื้นที่ ม.8 ต.แม่รำพึง
2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดแม่รำพึง ม.1 – ม.5 ต.แม่รำพึง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกว่า 240 ครัวเรือนตลอดแนวชายฝั่งหาดแม่รำพึง หมู่ที่ 1 ถึง หมู่ที่ 5 ระยะทางประมาณ 13,800 เมตร ต่อมา อบต.แม่รำพึงได้มีหนังสือที่ ปข 71903/45 ลงวันที่ 17 มกราคม 2561 ถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหากัดเซาะในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนี้อีกครั้ง
ต่อมาในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2562 พายุปาบึกได้ก่อให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกระแสลมพัดอย่างรุนแรง คลื่นในทะเลสูง 3 – 5 เมตร ได้พัดเข้าสู่ชายฝั่งหมู่ที่ 5 ทำให้ต้นไม้ที่อยู่ริมทะเลโค่นล้มได้รับความเสียหาย มีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยริมอ่าวแม่รำพึงได้รับความเสียหาย เนื่องจากคลื่นสูงได้ยกตัวพัดสู่ชายฝั่ง พร้อมทั้งนำเอาเศษไม้ที่อยู่ในทะเลรวมทั้งขยะและต้นไม้ขึ้นไปบนถนนเลียบชายหาดแม่รำพึง อบต.แม่รำพึง จึงได้มีหนังสือที่ ปข 71903/48 ลงวันที่ 22 มกราคม 2562 ถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการก่อสร้างเขื่อนฯ เป็นครั้งที่ 3 โดยขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยด่วน จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2564 ทางกรมโยธาฯ จึงได้รับการอนุมัติงบประมาณจำนวน 79.94 ล้านบาท สำหรับโครงการในระยะแรก ความยาว 900 เมตร
นายบุญธรรม อัมพวา อายุ 50 ชาวบ้าน ม.5 ต.แม่รำพึง เปิดเผยว่า เดิมครอบครัวตนอาศัยอยู่ริมชายหาดแม่รำพึงตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ซึ่งมีชาวบ้านอยู่ร่วมกันกว่า 70-80 ครัวเรือน ก่อนจะถูกคลื่นกัดเซาะในช่วงที่มีพายุใหญ่ จนต้องหนีน้ำเข้าอยู่ด้านในใกล้ๆกับบริเวณปากคลอง จนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนชายทะเลก็ลดการกัดเซาะลงไปได้ แต่เมื่อต้นปี 2562 ที่มีพายุปาบึกเข้ามาคลื่นขนาดใหญ่ได้ซ้ดเข้าหาชายฝั่งตลอดแนวหาดแม่รำพึง ส่งผลให้ร้านอาหารที่ตั้งอยู่หน้าหาดถูกคลื่นซัด พังถล่มได้รับความเสียหาย น้ำทะเลซัดกัดเซาะขึ้นมาถึงถนน แต่หากเป็นช่วงฤดูมรสุมประจำปีทั่วๆไป ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก ส่วนในกรณีที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณหาดแม่รำพึง ชาวบ้านอย่างผมและอีกบางส่วนก็อยากให้มีการสร้าง แต่ก็มีกลุ่มที่คัดค้านซึ่งโดยส่วนตัวตนเชื่อว่าหากมีการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งขึ้นจะช่วยป้องกันคลื่น กันทราย ชาวบ้านบริเวณริมหาดก็สามารถค้าขายอาหารทะเลได้ตามปกติ การท่องเที่ยวก็จะเข้ามา อะไรๆ มันจะดีไปหมด
นายสวัสดิ์เกียรติ์ สีทับทิม ชาวบ้าน ม.5 ต.แม่รำพึง หนึ่งในผู้ร่วมเรียกร้องให้มีการก่อสร้างโครงการฯดังกล่าว เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นที่อยากจะให้มีการก่อสร้างโครงการฯดังกล่าว สืบเนื่องมาจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในช่วงมรสุม ที่ล่าสุดเมื่อคราวพายุปาบึกเมื่อต้นปี 2562 เกิดคลื่นขนาดใหญ่กัดเซาะเข้าถึงถนนและบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นทางกลุ่มชาวบ้านเราก็ได้มีการประชุมร่วมกับท้องถิ่นเพื่อทำเรื่องไปยังจังหวัดเพื่อให้มาหาวิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะดังกล่าว ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งต้องทำความเข้าใจว่าหากไม่ใช่ฤดูมรสุม น้ำก็จะน้อยไม่มีการกัดเซาะ แต่หากว่ามีพายุเข้ามาก็จะเกิดการกัดเซาะจากคลื่นที่ยกตัวสูงพัดเข้ามาบนฝั่ง ซึ่งมันก็มีร่องรอยความเสียหายของมันอยู่ ไล่มาตั้งแต่ครั้งพายุเกย์ เมื่อปี 2532 ในหมู่ 5 ก็ประสบปัญหาการกัดเซาะและได้มีการแก้ปัญหาโดยท้องถิ่น สร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ และในพื้นที่ตั้งของศาลาประชุมของหมู่บ้านก็มีการสร้างกำแพงกันเอาไว้ ซึ่งเป็นร่องรอยที่ชี้ให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีการกัดเซาะอย่างหนักมาก่อน ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขในครั้งนั้นไม่รู้ว่าป่านนี้บริเวณดังกล่าวจะเป็นทะเลไปหมดแล้วหรือยัง การที่จะมีเขื่อนกันคลื่นในวันนี้ก็จะช่วยป้องกันความเสียหายให้กับทรัพย์สินของชาวบ้าน และเส้นทางการคมนาคมต่างๆในพื้นที่ ซึ่งในวันข้างหน้าเราไม่รู้หรอกว่ามรสุมจะเข้ามาวันไหน เกิดความเสียหายจากการกัดเซาะถนนขาดจะแก้ปัญหากันอย่างไร
นายสวัสดิ์เกียรติ์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาก่อนที่ทางโครงการฯจะลงมาก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3-4 ครั้ง ผมก็เข้าไปเสนอความคิดเห็นในทุกครั้งมาโดยตลอด ซึ่งหากมีการก่อสร้างทางเราก็อยากจะได้แบบที่มันดีๆ ที่มันมีความคงทนถาวร และกระทบต่อชาวบ้านที่ทำมาหากินหรืออยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวให้น้อยที่สุด ซึ่งส่วนนึงต้องยอมรับว่าหาดแม่รำพึงนี้ ไม่ได้เหมาะที่จะมีการเล่นน้ำทะเลเนื่องจากน้ำไม่ใส มีลักษณะเป็นทะเลโคลน ไม่ค่อยมีคนลงเล่นน้ำทะเลในบริเวณนี้อยู่แล้ว
นายนราวิชญ์ หรือ เจ กิตติพงษ์ธนกิจ แกนนำกลุ่ม Saveหาดแม่รำพึงอำเภอบางสะพาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ทางกลุ่ม Beach for life ได้จัดกิจกรรมบอกรักหาดแม่รำพึงอำเภอบางสะพาน และการเสวนาเชิงวิพากษ์ “อนาคตหาดแม่รำพึงเมื่อกำแพงกันคลื่นมาถึง?” ณ บริเวณชายหาดแม่รำพึง ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงความรักถึงหาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน ที่กำลังจะมีการก่อสร้างโครงการกำแพงกันคลื่น ของกรมโยธาฯ ซึ่งผมมองว่าไม่จำเป็นที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนกำแพงขนาดใหญ่บริเวณนี้ ซึ่งการจัดเวทีในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อให้ทางภาครัฐยุตืโครงการฯ โดยการรวมตัวในกลุ่มของพวกเรานั้นต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์นั้นไม่ได้มีการเปิดให้เข้าถึงหรือเชิญชวนคนเข้าร่วมในวงกว้างชาดการประชาสัมพันธ์ ซึ่งหากทางเรารู้ว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ขึ้นทางกลุ่มเราจะเข้าร่วมเวทีนั้นอย่างแน่นอน เพราะถึงแม้ว่าบ้านของผมจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ติดหาดแม่รำพึงแต่ถือเราคือคนใช้หาดคนนึงเราก็ควรจะมีส่วนรวมในหาดสาธารณะด้วยเช่นกัน
นายนรวิชญ์ กล่าวต่อว่า เราต้องการได้รับคำตอบจากรัฐว่าหาดแห่งนี้มีการกัดเซาะจริงหรือไม่ เป็นการกัดเซาะชั่วคราว หรือกัดเซาะถาวร ซึ่งจุดตั้งต้นของโครงการก็ตอนมีพายุปาบึกเมื่อเดือน มกราคม ปี 2562 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา หาดแห่งนี้ก็มีการเยียวยาตัวเองตามธรรมชาติของมัน ซึ่งมันคือการกัดเซาะชั่วคราวไม่ใช่การกัดเซาะถาวร การเอากำแพงกันคลื่น 900 เมตร มาตั้งบนจุดกัดเซาะแค่ 200 เมตร มันเกินความจำเป็นไปหรือไม่ เป็นการทำลายทัศนียภาพและสูญเสียงบประมาณไปเกินความจำเป็น พื้นที่สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะใช้เอาความเป็นธรรมชาติมาสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ โดยทางกลุ่มต้องการให้ยกเลิกโครงการนี้ไปก่อน แล้วทาตั้งต้นศึกษาหาแนวทางเลือกที่เหมาะสมให้กับพื้นที่ มีตัวเลือกที่หลากหลาย นอกจากนี้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้มีตัวแทนกลุ่มSaveหาดแม่รำพึงอำเภอบางสะพานร่วมกับชาวบ้าน ร่วมยื่นหนังสือต่อ นายประเสริฐพงศ์ ศรนุวัตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนให้ยกเลิกโครงการฯดังกล่าว
น.ส.บุญจิรา เผดิมรอด ผอ.ส่วนอนุรักษ์ชายฝั่ง สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า สำหรีบบริเวณชายหาดแม่รำพึง อ.บางสะพานนั้นตามรายงานของ ทช. เมื่อปี 2563 นั้น พื้นที่บริเวณดังกล่าวจัดอยู่ในเส้นสถานภาพสีเขียวหรือ ชายหาดสมดุล เป็นชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ ซึ่งในช่วงน้ำลงชายหาดจะมีความกว้างมากและในช่วงน้ำขึ้นชายหาดจะมีความกว้างประมาณ 20 เมตร ซึ่งสถานภาพสมดุลในที่นี้ตามนิยามความหมาย คือ พบการกัดเซาะน้อยมากหรือพบการกัดเซาะชั่วคราวในช่วงฤดูมรสุมและหากมรสุมผ่านไปชายหาดก็จะปรับสมดุลด้วยตัวของมันเอง
น.ส.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ค่อนข้างสมดุล ซึ่งหาดแม่รำพึงตลอดแนว 4.6 กิโลเมตรตั้งแต่ปากคลองแม่รำพึง ถึงปากคลองบางสะพาน มีเพียงแค่ระยะ 200 เมตร ที่ดูเหมือนว่าจะมีการกัดเซาะ แต่นิยามของการกัดเซาะตรงนี้ก็คือกัดไม่ถึงถนน มีเพียงหาดที่ค่อนข้างสั้นลงเล็กน้อยแต่ไม่มีผลต่อถนนที่อยู่เลียบชายหาด ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวบอกได้ว่าการกัดเซาะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้นในช่วงที่มีมรสุม ในช่วงที่ปลอดจากมรสุมหาดก็กลับมากว้าง ระดับน้ำค่อนช้างอยู่ต่ำ และการกัดเซาะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 200 เมตรเท่านั้นไม่ได้ตลอดแนว 4.6 กิโลเมตรของหาด ซึ่งตรงจุดนี้จึงอาจจะเป็นจุดที่ทาง อบต.แม่รำพึงทำเรื่องของไปยังกรมโยธาฯ
น.ส.สมปรารถนา กล่าวต่อว่า การที่เราจะแนวทางในการป้องกันชายฝั่ง เราต้องคิดให้ชัดว่าตกลงนี่เป็นการกัดเซาะแบบชั่วคราว หรือ แบบชั่วโคตร การกัดเซาะแบบชั่วคราวคือมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ตามฤดูกาล แต่แบบชั่วโคตรคือ กัดแล้วกัดเลย ซึ่งพื้นที่หาดแม่รำพึงนี้ถ้าดูด้วยตาก็จะเป็นการกัดเซาะแบบชั่วคราว จากนี้มาดูอีกว่าเร่งด่วนหรือไม่ เช่นเร่งด่วนต้องเร่งแก้ไขเพราะบ้านชาวบ้านกำลังจะไหลลงทะเลแล้วเป็นต้นก็ต้องหาวิธีการเข้ามาดำเนินการที่เหมาะสมเช่นการเสริมบิ๊กแบ็ค แต่ถ้าไม่เร่งด่วนเราก็ต้องปล่อยให้พื้นที่นั้นมันสมดุลเองเพราะมันเป็นการกัดเซาะแบบชั่วคราว หรือหาแนวทางที่เหมาะสมเข้ามาจัดการแต่แนวทางที่ กรมโยธาฯกำลังจะเอากำแพงกันคลื่น ที่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบชั่วโคตรเช้ามาวางที่นี่จะทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการกัดเซาะจากชั่วคราวเป็นขั่วโคตรในทันที เพราะเรากำลังจะตรึงชายฝั่งที่บางช่วงเวลามีการทับถม บางช่วงเวลามีการกัดเซาะ เป็นชายฝั่งที่ไม่มีการเคลื่อนตัวอีกต่อไป เรากำลังจะขังชายฝั่งให้กับที่ในทุกฤดูกาล ซึ่งถ้ามันเป็นแบบนั้นเหมือนเราใช้ยาแรง ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาเป็นสิ่งที่เราคาดเดาได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยื่งในช่วงที่มันเป็น climate change แบบนี้ ยากที่จะคาดเดาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเหมือนหลายๆหาดที่เราเห็นต่อไปอย่างไร
ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ถึงแม้สถานะของโครงการฯจะอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีการเซ็นต๋สัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น โดยสัญญาเริ่มต้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 5 กันยายน 2566 ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือนที่เริ่มต้นสัญญาก่อสร้าง แต่ในพื้นที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้างใดๆ เกิดขึ้นเนื่องจากมีประชาชนบางส่วน ได้ยื่นเรื่องคัดค้านโครงการฯ ผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง ไปยัง กรมโยธาฯ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ก่อสร้างโครงการไม่ตรงตามที่แจ้งไว้, การรับรู้ของชาวบ้านไม่ทั่วถึง, ขอให้มีการจัดทำประชาคมใหม่ โดยมีการขับเคลื่อนคัดค้านการก่อสร้างผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียผ่านทางเฟสบุ๊กเพจ Beach for life พร้อมกับเชิญชวนประชาชนร่วมกันติดแฮสแท็ก #saveหาดแม่รำพึงอำเภอบางสะพาน ควบคู่กันไปด้วยเพื่อการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ทางหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ ยกเลิกโครงการและเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่รับฟังเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างเปิดเผย ต่อไป