Beach Lover เคยนำเสนอเรื่องราวของหาดทรายหน้าวัดท่าไทร ท้ายเหมือง จ.พังงา ช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือไปแล้วครั้งหนึ่ง ติดตามได้จากโพส https://beachlover.net/ท้ายเหมือง-เต่าเกือบไม่ได้ไข่เพราะกำแพงหิน/
ช่วงหมดฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 นี้ Beach Lover ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจชายหาดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง พบว่าชายหาดแตกต่างไปจากเดิมช่วงมรสุมอย่างมากมาย หน้าหาดมีความลาดชัน 18 องศา ซึ่งถือว่าชันมาก และพบว่าคลื่นลมหอบทรายขึ้นมากองบริเวณชายหาดส่วนหลัง (Backshore) ที่เป็นพื้นที่ที่มีการปักไม้เพื่อเป็นรั้วดักทราย (Sand fence) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระยะทาง 594 เมตร ด้วยงบประมาณเกือบห้าแสนบาท
การสำรวจเมื่อช่วงมรสุม (กันยายน) พบว่ารั้วไม้มีสูงจากพื้นทรายประมาณ 0.8-0.95 เมตรตลอดทั้งแนว (เฉลี่ยประมาณ 0.89 เมตร) ส่วนในช่วงปลอดมรสุม (ธันวาคม) พบว่ารั้วไม้มีสูงจากพื้นทรายเฉลี่ยประมาณ 0.15 เมตร
พบว่าชายหาดใกล้เคียงทางทิศใต้ที่เคยมีกองหินโผล่ในช่วงมรสุม ปัจจุบันถูกทรายกลบจนเกือบมิด
พบว่าชายหาดบริเวณนี้ในช่วงมรสุมเมื่อเกิดการกัดเซาะ ก็กัดเซาะตลอดทั้งแนวในรูปแบบเดียวกัน กล่าวคือระดับของสันหาดลดต่ำลงอย่างมาก ความลาดชันชายหาดลดลง คลื่นซัดเอาทรายหน้าหาดหดหายไป ส่งผลให้รั้วไม้ที่ถูกปักไว้โผล่พ้นผืนทรายตลอดทั้งแนวเกือบ 0.9 เมตร และคลื่นยังควักล้วงเอาทรายจากพื้นที่ด้านหลังรั้วไม้ออกไปได้อีกด้วย ครั้งเมื่อปลอดมรสุม ก็เกิดการทับถมในรูปแบบเดียวกัน ไม่มีพื้นที่ใดทับถมมากกว่าอีกพื้นที่หนึ่ง
วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างรั้วไม้ในพื้นที่นี้ตามจริงคือต้องการบรรเทาผลกระทบจากการกัดเซาะด้านท้ายน้ำถัดจากกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งที่ก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่รั้วไม้นี้จะป้องกันการกัดเซาะด้านท้ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่หวังตั้งใจไว้หรือไม่ คงเป็นประเด็นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ต้องตอบคำถามโดยมีข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการอย่างเพียงพอ อาทิ ข้อมูลจากการสำรวจในแต่ละช่วงเวลาในบริเวณที่มีและไม่มีรั้วไม้ ผลวิเคราะห์ปริมาณทรายที่รั้วไม้ดักเอาไว้ได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆยอมรับ และเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
มิฉะนั้น มาตรการ “ไม้หลักปักผืนทราย” ที่กรม ทช โปรโมทไว้ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการไปบ้างแล้ว และกำลังจะดำเนินการต่ออีกในหลายพื้นที่ จะเกิดข้อกังขาตามมามากมาย