ท้ายเหมือง…เต่าเกือบไม่ได้ไข่เพราะกำแพงหิน

[ภาพเมื่อ 30 กันยายน 2563]

หาดหน้าวัดวัดเทสก์ธรรมนาวา (วัดท่าไทร) อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินบริเวณชายหาดด้านหน้าของวัด เพื่อป้องกันศาลาและถนนเลียบทะเลของวัด ไม่ให้เกิดการกัดเซาะ จนเกือบกระทบการวางไข่ของเต่ามะเฟือง

หาดหน้าวัดวัดเทสก์ธรรมนาวา (วัดท่าไทร) อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินบริเวณชายหาดด้านหน้าของวัด ระหว่างการก่อสร้าง วันที่ 26 ธ.ค.2561 ได้มีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ทางทิศเหนือถัดจากกำแพงไปไม่ไกล ไปประมาณ 200 เมตร หลังจากนั้นในวันที่ 31 ธ.ค.2561 อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เข้าพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เจ้าอาวาสวัดท่าไทร มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นห่วงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับหลุมไข่เต่ามะเฟือง จึงได้มอบหมายให้ ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สบทช.) ใช้อำนาจอำนาจตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (https://beachlover.net/พรบ-กรม-ทช/) สั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนไปก่อน

จากนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ทำโครงการปักเสาไม้เพื่อป้องกันการกัดเซาะด้านท้ายน้ำ (Downdrift) ด้านทิศเหนือของกำแพงหิน ระยะทาง 594 เมตร โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 495,000 บาท แล้วเสร็จเมื่อไหร่ไม่มีข้อมูล

Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่หลังพายุโนอึลผ่านพ้นไป พบว่า หลังจากสุ่มเช็คความสูงของรั้วไม้เกือบตลอดแนว 594 เมตร พบว่ามีสูงจากพื้นทรายเฉลี่ยประมาณ 0.89 เมตร และยังคงพบการกัดเซาะของเนินทรายด้านหลังรั้วไม้ในระยะแนวราบประมาณ 2.8 เมตร และระยะแนวดิ่งประมาณ 1.24 เมตร

รั้วไม้นี้ป้องกันการกัดเซาะด้านท้ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ คงเป็นประเด็นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ต้องตอบคำถามโดยมีข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆยอมรับ และเห็นไปในทิศทางเดียวกัน มิฉะนั้น มาตรการ “ไม้หลักปักผืนทราย” ที่กรม ทช โปรโมทไว้ ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการไปบ้างแล้วและกำลังจะดำเนินการในอีกหลายพื้นที่ จะเกิดข้อกังขาตามมามากมาย