หาดสุรินทร์…หาดที่เกือบแปลงร่างเป็นขั้นบันได

หาดสุรินทร์ อยู่ใน ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง เป็นชายหาดที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของ จังหวัดภูเก็ต อยู่ระหว่างหาดกมลาและหาดบางเทา ชายหาดมีเม็ดทรายสีขาวละเอียด พร้อมกับน้ำทะเลสีคราม ปลายหาดทั้งสองด้านจะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล เต็มไปด้วยแนวต้นมะพร้าว และมีพระอาทิตย์ตกยามเย็นสาดส่องแสงสีทองอย่างสวยงาม และด้วยบริเวณชายหาดจะมีคลื่นลมค่อนข้างแรงกำลังดี ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ยอดนิยมในการเล่นกระดานโต้คลื่น (https://travel.trueid.net/detail/mX1azM4pA4oX)

ภาพเมื่อ: มีนาคม 2565
ภาพเมื่อ: มีนาคม 2565

จากเหตุการณ์คลื่นลมแรงในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อ กรกฎาคม 2557 ส่งผลให้บางส่วนของชายหาดสุรินทร์เกิดการกัดเซาะ โดยบริเวณที่มีปัญหาการกัดเซาะค่อนข้างมาก คือบริเวณที่มีการทำเขื่อนกั้นและมีการนำดินมาถมจนสูง ถูกคลื่นซัดจนแนวกันคลื่นพังทลายระยะประมาณ 200-300 เมตร ขณะเดียวกันก็พบต้นไม้สนขนาดใหญ่และต้นไม้ชนิดอื่นๆ จำนวนถูกคลื่นซัดจนหักโค่นล้มลงมากองอยู่ริมหาด (https://www.bangkokbiznews.com/news/593988)

เมื่อประมาณกันยายน 2557 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดสุรินทร์ (https://mgronline.com/south/detail/9570000110061) ซึ่งมีที่มาจากคำร้องขอจากท้องถิ่นให้กรมโยธาธิการและผังเมืองช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หลังจากนั้นก็มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเรื่อยมาจนถึงช่วงกลางปี 2558 โดยรูปแบบที่สรุปว่าจะก่อสร้างบนหาดแห่งนี้คือ กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได และได้ลงนามสัญญาจัดจ้างผู้รับเหมาไปเมื่อปี 2559

ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง

หลังจากนั้นเมื่อผู้รับเหมาได้เริ่มขุดและดำเนินการนำเสาเข็มมาวางบริเวณริมชายหาด ประมาณ พฤศจิกายน 2560 ก็เกิดกระแสต่อต้านโครงการนี้ขึ้น โดยชาวบ้านบางส่วนเชื่อว่า โครงการนี้ไม่จำเป็นและจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น โดยระบุในข่าวว่า การกัดเซาะของชายหาดแห่งนี้เกิดจากการปล่อยให้นายทุนบุกรุกสร้างเขื่อนบนชายหาด ทำให้ในช่วงหน้ามรสุมคลื่นเข้ามากระแทก ทำให้ร่องน้ำ และกระแสน้ำเปลี่ยน ผลักให้คลื่นซัดมายังฝั่งที่ไม่มีเขื่อนจึงเกิดการกัดเซาะ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมโยธาฯ ได้มีการนำภาพปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นไปจัดทำโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว (https://mgronline.com/south/detail/9600000115624)

หลังจากนั้น ท้องถิ่นและชาวบ้านได้ร้องขอให้มีการแก้ไขแบบในเดือนมกราคม มีนาคม และ มิถุนายน 2562 โดยทางกรมโยธาฯได้ปรับแก้ไขเป็นกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง แต่สุดท้ายทางท้องถิ่นและชาวบ้านก็ไม่ยอมรับรูปแบบนี้ จนเกิดการยกเลิกโครงการในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ในที่สุด

ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง

ต้นเดือน มีนาคม 2565 Beach Lover ได้มีโอกาสลงสำรวจพื้นที่หาดสุรินทร์ที่เกือบแปลงร่างเป็นกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดอีกครั้ง พบว่ายังคงสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งสันทรายด้านในรวมถึงพืชปกคลุมสันทรายก็ยังคงสมบูรณ์ ไร้ร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง

ภาพเมื่อ: มีนาคม 2565
ภาพเมื่อ: มีนาคม 2565

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่พบว่า ความรุนแรงของคลื่นลมในเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งโครงการป้องกันชายฝั่งเมื่อปี 2557 นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยหลังจากนั้น เป็นเพียงมรสุมปกติที่ไม่นานก็จะกลับคืนสภาพชายหาดดังเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่า การกัดเซาะในพื้นที่นี้เป็นการกัดเซาะเพียงชั่วคราว ไม่นานชายหาดก็จะฟื้นคืนสภาพเดิม มีเพียงปี 2557 เท่านั้นที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าปีอื่นๆ

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากท้องถิ่นยังคงร้องขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยงานให้มาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดเพียง “ชั่วคราว” และหน่วยงานยังคงใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆนั่นคือใช้มาตรการป้องกันชายฝั่งแบบ “ชั่วโคตร” เราจะได้ชายหาดแบบไหนกลับคืนมาหลังงานป้องกันชายฝั่งนั้นเสร็จสิ้นลง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกัดเซาะชั่วคราวและชั่วโคตรได้ที่ https://beachlover.net/ชายหาดกัดเซาะแบบไหน/)

กัดเซาะเพียง “ชั่วคราว” ต้องใช้มาตรการป้องกันแบบ “ชั่วคราว” ไม่ใช่ “ชั่วโคตร” ไม่เช่นนั้น พฤติกรรมการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นแบบ “ชั่วโคตร” ทันทีที่งานก่อสร้างแล้วเสร็จ และเมื่อนั้น เราจะเรียกร้องทวงคืนชายหาดแบบเดิมจากใครได้ …