สำหรับชายหาดท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มาตรการเติมทรายชายหาดควรถูกเลือกใช้เป็นมาตรการหลักก่อน หากมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้จึงค่อยแสวงหามาตรการอื่นๆทดแทน
การเติมทรายชายหาด มีประโยชน์หลักที่เห็นเด่นชัดคือเพิ่มพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เสริมสร้างเกราะป้องกันชายฝั่ง นอกจากนั้นยังมีผลประโยชน์แฝงอื่นเช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ เสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ริมชายหาด ลดการสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงพื้นที่ชายหาด เสริมสร้างสุขภาพกายใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นวิธีการที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลในอนาคต
ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทางทะเลและมีมูลค่าของหาดทรายสูง แม้ต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแต่มักหลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่ง เช่น หาดไวกิกิในฮาวาย หาดไมอามี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หาดแคนคูนประเทศเม็กซิโก โดยวิธีการหนึ่งที่นิยมนำมาปรับใช้กับชายหาดเหล่านี้คือมาตรการเติมทรายชายหาด ในส่วนของประเทศไทยนั้นหาดจอมเทียม จ.ชลบุรี ก็เผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเช่นกัน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินเติมทรายเช่นเดียวกันกับที่สำเร็จลุล่วงไปแล้วคือชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี โดยพบว่าเมื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วย B/C ratio แล้วมีค่า 3.23 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
มาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการเติมทรายนั้น นับเป็นมาตรการเดียวจากที่มีทั้งหมดที่เป็นการเพิ่มมวลทรายให้กับชายหาด เป็นวิธีการที่หากปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาแล้ว จะเป็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านลบน้อย ไม่รบกวนทัศนียภาพของชายหาดโดยอาจปรับใช้ร่วมกับมาตรการแก้ไขแบบอื่นได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามมาตรการนี้มิได้เหมาะสมกับทุกชายหาด เนื่องจากใช้งบประเมาณค่อนข้างมากและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงเหมาะสมกับชายหาดที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงอย่างชายหาดท่องเที่ยว ในการนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลง วางแผนบำรุงรักษาโดยการเสริมทรายเพิ่มในลักษณะประจำตามรอบปีที่ได้ออกแบบไว้ รวมถึงทุกฝ่ายควรมีความรู้ถึงสมดุลของชายหาด เพื่อความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างยั่งยืน