กฎข้อที่หนึ่ง: ชายหาดมีฤดูกาล สิ่งปลูกสร้างถาวรใดๆที่ตั้งประชิดฝั่งควรคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญ ปล่อยให้คลื่นลมได้มีพื้นที่เพื่อการ Exercise ยามมรสุมบ้าง
ช่วงคลื่นลมสงบชายหาดจะกว้าง ส่วนในช่วงฤดูมรสุมชายหาดจะแคบลง บางส่วนของชายหาดอาจถูกกัดเซาะเนื่องจากช่วงมรสุมระดับน้ำทะเลจะยกตัวสูงขึ้นกว่าฤดูกาลปกติ คลื่นจะนำเอามวลทรายหน้าหาดออกไปทับถมนอกชายฝั่ง จากนั้นช่วงปลอดมรสุมชายหาดจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนมรสุม และวนเวียนแบบนี้เป็นวัฏจักรตราบเท่าที่สมดุลชายหาดไม่ถูกแทรกแซง https://beachlover.net/ชายหาดมีฤดูกาล/
ภาพบ้านที่ถูกคลื่นกัดเซาะเสียหายเมื่อต้นปี และบ้านเดิมยามปลอดมรสุม ณ ชายทะเลทุ่งประดู่ หมู่ 2 ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ สื่อสารประเด็นนี้ได้ดี
จริงอยู่ที่เราย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ของตนเอง แต่ความจริงอีกประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เรามิอาจคาดเดาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้อย่างแม่นยำนัก รวมถึงธรรมชาติเองก็มีการเปลี่ยนแปลงสมดุลอยู่ตลอดเวลา
หากเราไม่เข้าใจว่าชายหาดมีฤดูกาลแล้วเข้าไปพัฒนาพื้นที่ริมชายหาดมากจนเกินไป ในช่วงฤดูมรสุมอาจเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ มนุษย์ควรตระหนักถึงประเด็นนี้และไม่เข้าไปรุกล้ำพื้นที่ชายหาดมากจนเกินไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้กระบวนการชายฝั่งได้ปรับสมดุลตามธรรมชาติ
ชายหาดบริเวณนี้มีแผนสร้างกำแพงกันคลื่นความยาว 1.2 กิโลเมตร แต่ผู้รับเหมาทิ้งงานไปหลังสร้างแล้วเสร็จ 400 เมตร ทางกรมเจ้าท่าในฐานะเจ้าของงานได้ตั้งงบประมาณต่อเนื่องในปี 2564 ในชื่อ “โครงการปรับปรุงกำแพงหินทิ้งป้องกันการกัดเซาะ ม.2” จำนวน 15 ล้านบาท
ระหว่างนี้คงมีมาตรการต่างๆลงไปเพื่อบรรเทาปัญหาทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยทาง Beach Lover จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป