รั้วไม้ เป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ?

ตามที่ Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของการปักรั้วไม้ดักทรายโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณบ่ออิฐ เขารูปช้าง จ.สงขลา ไปในโพสก่อนหน้านี้ (https://beachlover.net/กำแพงไม้-จะมาแทน-กำแพงหิน/ และ https://beachlover.net/กำแพงไม้-จะมาแทน-กำแพงหิน-ภาคต่อ/) หลังจากการปักรั้วไม้เสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า กรมเจ้าท่าโดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา ได้แจ้งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเจ้าของรั้วไม้ดักทรายว่าจะต้องขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำกับกรมเจ้าท่าก่อนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (ปี พ.ศ.2537) ซึ่งออกตามความในมาตรา 117 แห่ง พรบ.การเดินเรือน่านน้ำไทย ปี พ.ศ.2456

ภาพเมื่อ: 3 ตุลาคม 2565

โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่ารั้วไม้ดักทรายบริเวณนี้ เป็นการนำไม้มาปักบนทรายตามรูปแบบโดยไม่มีการหล่อซีเมนต์หรือวัสดุยึดติดแบบโครงสร้างถาวร ทำจากวัสดุธรรมชาติ มีระยะเวลาการใช้งาน 3-5 ปี และเป็นการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีลักษณะกีดขวางการสัญจรทางน้ำ และยังเป็นการดำเนินการงานตามภารกิจ ตาม พรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 จึงไม่ต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่า

ภาพเมื่อ: 3 ตุลาคม 2565

เมื่อสองหน่วยงาน จากสองกระทรวงมีความเห็นในข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน จึงหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้ข้อยุติว่า การปักรั้วไม้ดักทรายโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณบ่ออิฐ เขารูปช้าง จ.สงขลา จำเป็นต้องขออนุญาตต่อกรมเจ้าท่าหรือไม่

ภาพเมื่อ: 3 ตุลาคม 2565

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 7 ลงความเห็นตามเอกสารระบุวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ว่า กรณีนี้เป็นปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีการทับซ้อนกันของกฎหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันอันเป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ส่วนราชการต้องใช้มาตรการทางบริหารเพื่อบูรณาการร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อประโยชน์ของทางราชการและประชาชนมากกว่าที่จะมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้แต่เพียงอย่างเดียว

ภาพเมื่อ: 3 ตุลาคม 2565

จึงเห็นควรให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (https://onmb.dmcr.go.th//information/national/1063) เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายดังกล่าว

เรื่องราวจะจบลงอย่างไร โปรดติดตาม

—————-

อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ตาม Link ด้านล่าง