หาดชะอำ แหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อของ จ.เพชรบุรี ด้วยทำเลที่ห่างจากกรุงเทพฯไม่ไกลมาก และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่มีให้เลือกหลากหลาย ตามความสบายของเงินในกระเป๋าของแต่ละคน มีที่พักตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหลายพันบาท อาหารการกินริมทางจนถึงภัตรคารริมทะเล รวมถึงการคมนาคมสาธารณะที่ค่อนข้างสะดวก
จากร่างงบประมาณปี 2564 ของ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (ขาวคาดแดง) พบว่า กรมเจ้าท่าได้ตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชายหาดชะอำ ไว้ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท โดยผูกพันตั้งแต่ปี 2564-2565
ในปีงบประมาณเดียวกันนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตั้งงบประมาณเพื่อฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชายหาดชะอำ ระยะที่ 3 ต่อไปอีก 647 เมตร รวมงบประมาณทั้งสิ้น 48.5 ล้านบาท โดยผูกพันตั้งแต่ปี 2564-2566
จากเอกสารร่างงบประมาณ ยังไม่พบรายละเอียดของพื้นที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงพื้นที่ศึกษาเพื่อวางแผนสำรวจออกแบบการเติมทรายของกรมเจ้าท่า แต่ทั้งสองหน่วยงานได้ระบุตรงกันว่าเป็นพื้นที่ชายหาดชะอำ โดยชายหาดชะอำที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งอยู่บ้างในขณะนี้คือแถบชะอำใต้ ริมถนนสาธารณะเลียบชายหาด ซึ่งกรมโยธาฯกำลังดำเนินการบางส่วนอยู่ในขณะนี้ โดยบางส่วนมีกำแพงกันคลื่นประชิดชายฝั่งอยู่แล้ว ทั้งหินทิ้ง และกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่ง และในบางพื้นที่ยังไม่พบร่องรอยการกัดเซาะอย่างรุนแรง
สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเหมือนกันจากคนละหน่วยงาน บนพื้นที่เดียวกันนี้ ได้มีการปรึกษาหารือ หรือที่เรียกเป็นคำพูดที่สวยหรูเข้ากับยุคสมัยว่า “บูรณาการ” กันหรือไม่ ในขณะที่หน่วยงานหนึ่งกำลังก่อสร้างกำแพง จะมีผลต่องานศึกษาเพื่อสำรวจออกแบบการเติมทรายของอีกหน่วยงานหรือไม่
และหากทั้งสองโครงการซ้อนทับกันบนพื้นที่เดียวกันจริง และงบประมาณผ่านความเห็นชอบให้สร้างและศึกษาออกแบบได้จริงตามนี้ ต้องตั้งคำถามกันต่อไปว่าเป็นการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากกำแพงกันคลื่นจะเหนี่ยวนำให้ทรายด้านหน้าชายหาดและส่วนถัดไปทางทิศเหนือน้ำค่อยๆหดหายไป หากกรมเจ้าท่าดำเนินการเติมทรายในพื้นที่เดียวกันหรือถัดไป … คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดผลอย่างไร
แม้จะหวังได้ยากไปสักนิด แต่แอบหวังว่าทั้งสองโครงการจะไม่ใช่พื้นที่เดียวกัน