ที่มา: https://www.facebook.com/TheReportersTH
UPDATE: ‘ปดิพัทธ์’ ลงพื้นที่หาดแม่รำพึง บางสะพาน ยืนยันกำแพงกันคลื่นส่งผลเสียมากกว่าผลดี รัฐต้องรับฟังประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เตรียมยื่นเรื่องเข้า กมธ.การมีส่วนร่วมของประชาชน ทบทวนการทำ EIA
วันนี้ (14 เม.ย. 65) ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ติดตามกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ชายฝั่งทะเลหาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมนายนราวิชญ์ กิตติพงศ์ธนกิจ กลุ่ม Saveหาดแม่รำพึงบางสะพาน หลังทางกลุ่มได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สภาผู้แทนราษฎร
ประดิพัทธ์ กล่าวว่า วันนี้มาพักผ่อนที่บ้านญาติ จึงแวะมารับฟังปัญหาและติดตามประเด็นช่วย ส.ส.ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัติ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการกัดเซาะชายฝั่ง สภาผู้แทนราษฎร รับฟังความเดือดร้อนและติดตามประเด็นดังกล่าว พร้อมระบุว่า แม้ผลการศึกษาเรื่องการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้วยแนวกำแพงกันคลื่นยังไม่ออกมาเป็นเล่มรายงาน แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นชี้ชัดว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นมีผลเสียมากกว่าผลดี เป็นโครงการที่ไม่ตรงกับสภาพการณ์ของแต่ละพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเพิ่มเติม มีตัวอย่างให้เห็นในหลายหาดว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้นเพราะไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบของคลื่น
ที่บางสะพานมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้พบว่ามีการกัดเซาะรุนแรง ความจริงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ มีมาตรการณ์ตั้งแต่ระดับเบาจนไปถึงการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทอช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการศึกษาหาดแม่รำพึงแล้ว ว่า ไม่ต้องปรับอะไรมาก ใช้โครงสร้างอ่อน เพราะเป็นหาดที่ไม่มีภาวะการกัดเซาะรุนแรง เพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งและทัศนีภาพไว้ได้ โดยก่อนหน้านี้มีการจะริเริ่มก่อสร้างในเดือนที่ผ่านมาแต่ต้องถอยออกไปเพราะถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน จึงชะลอการก่อสร้างออกไปแล้ว
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากมีการสร้างแนวกำแพงกันคลื่นจะส่งผลกระทบระยะสั้น ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว คนคงไม่อยากมาเที่ยวทะเลที่ไม่มีหาดทราย มีแต่กำแพง และโครงการดังกล่าวเกินความจำเป็นหรือไม่ มีผลประโยชน์แอบแฝง บริษัทที่ปรึกษาคือใคร มีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ เพราะหลังจากปี 2556 ก็ยกเลิกการทำ EIA (ผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม) เพราะอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ส่วนผลกระทบระยะยาวคือการสะท้อนการทำงานของรัฐราชการที่ดีแต่สร้าง ชาวบ้านในพื้นที่ต้องได้รับผลกระทบ และอาจลุกลามไปยังชายหาดอื่นๆอีก ดั้งนั้นเป็นหน้าที่ของราชการ รัฐบาล ที่ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้เกี่ยวกับการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพแบบนี้
โดยหลังจากนี้ ประดิพัทธ์ จะมีการยื่นเรื่องไปยังประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนฯ สภาผู้แทนราษฎร รื้อฟื้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ เพราะปัญหาลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หลังปี 2556 ที่ไม่มีการทำ EIA และยืนยันว่าพรรคก้าวไกลพร้อมใช้กลไกของคณะกรรมาธิการมาดูแลตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย