บทสรุปเรื่องราว หาดดอนทะเล

หาดดอนทะเล ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  จากการสำรวจสภาพชายหาดเบื้องต้นพบว่า ยังมีชายหาดที่สมบูรณ์ พบผักบุ้งทะเล คนทีสอทะเล และพืชอื่นๆที่ปกคลุมหน้าชายหาด ที่มีความกว้างประมาณ  70-100 เมตร (รูปที่ 1)

ชุมชนแถบนี้ได้มีการรวมกลุ่มกันใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดทำตลาดหนองน้ำดอนทะเล บ้านคันธุลี เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน  พบว่ามีการหาหอยเสียบ หอยขาว หอยตลับ ตามแนวชายหาด ใช้ชายหาดเพื่อตากสัตว์น้ำ รวมถึงใช้จอดเรือประมงกว่า 20 ลำ และใช้เพื่อการซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ประมง (รูปที่ 2)

จากการสำรวจสภาพทั่วไปของชายหาดในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าชายหาดตลอดแนวยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร มีความสมบูรณ์และไร้ร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง แสดงดังรูปที่ 3 

แม้ไร้ร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่งให้พบเห็นจากการสำรวจภาคสนามครั้งนี้ แต่ชายหาดดอนทะเลเป็นหนึ่งในหลายๆชายหาดที่กำลังจะเกิดโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ระยะทาง 1.291 กิโลเมตร (กรอบสีฟ้าในรูปที่ 3) ด้วยงบประมาณ 70.23 ล้านบาท โดยผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566 แสดงรายละเอียดดังรูปที่ 4 แม้จะล่วงเข้าปลายปีงบประมาณ 2564 แล้ว โครงการนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณของการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด

หาดดอนทะเลเข้ามาอยู่ในกระแสแห่งความสนใจเมื่อชาวบ้านดอนทะเลลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการกำแพงกันคลื่น ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยชาวดอนทะเลเริ่มตั้งข้อสังเกตกับโครงการนี้เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2564 (https://beachlover.net/ขอให้ยกเลิกโครงการป้องกันชายฝั่งคันธุลี-ท่าชนะ/)เริ่มมีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ชายหาด ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกรรมาธิการชุดที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา (https://beachlover.net/เปิดแผนกรมโยธาฯ-ใช้งบฯ-3-ปี-71-ล-สร้างเขื่อนกันคลื่น-หาดดอนเล-สุราษฎร์ฯ/ และ https://beachlover.net/ชาวบ้านหาดดอนทะเลค้านกำแพงกันคลื่น/)

การคัดค้านนี้ชูประเด็นเหตุผลที่ว่า หาดแห่งนี้ไม่มีการกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ วิถีชีวิตของประชาชนที่ใช้พื้นที่ชายหาดจะถูกเปลี่ยนแปลงไปหากโครงการที่ว่านี้เกิดขึ้น หากพิจารณาเฉพาะใน อ.ท่าชนะ นี้พบว่ามีโครงการป้องกันชายฝั่งแบบกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นที่หาดสำเร็จ และหาดสมบูรณ์ ที่อยู่ทางทิศใต้ของหาดดอนทะเล โดยโครงการกำแพงกันคลื่นที่หาดสมบูรณ์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ชาวบ้านทำเอกสารร้องเรียนขึ้นสู่หน่วยงานและกรรมาธิการชุดที่เกี่ยวข้องของรัฐสภาด้วยเช่นเดียวกัน (https://beachlover.net/ไม่เฉพาะดอนเล-หาดสำเร็จ-สุราษฎร์ฯ-ถูกร้องด้วย/)

แม้ไร้ร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งจากการสำรวจภาคสนาม แต่มิได้หมายความว่าหาดแห่งนี้ไม่เคยได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะการสำรวจภาคสนามจะพบเห็นเพียงสภาพ ณ วันเวลาที่ทำการสำรวจเท่านั้น แต่มิได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้ในอดีตก่อนการสำรวจ หากต้องการทราบการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องศึกษาจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในอดีต แล้วนำมาเปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้ทราบถึงประวัติการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หาดดอนทะเลอย่างแท้จริง

เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่บริเวณนี้จากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ดังแสดงในรูปที่ 5 เบื้องต้นยังพบเพียงการเปลี่ยนแปลงของชายหาดตามฤดูกาล กล่าวคือพื้นที่ชายหาดจากภาพถ่ายหดหายไปในบางปี แต่ก็คืนกลับมาในปีถัดไป อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องนำภาพ ถ่ายนี้ไปปรับพิกัดภูมิศาสตร์ก่อนและทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อหาระยะและอัตราการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งต่อไป

เมื่อวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งของหาดดอนทะเลโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Google earth ที่นำไปผ่านการปรับพิกัดภูมิศาสตร์แล้ว และใช้แนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง (Permanent vegetation line) (https://beachlover.net/นิยามของแนวชายฝั่งทะเล-shoreline/) เป็นแนวชายฝั่งตามนิยาม พบว่ามีแนวชายฝั่งเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการทับถมและการกัดเซาะสลับไปมาตามรูปที่ 6

เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรายปีดังรูปที่ 7 พบว่า หาดดอนทะเลเกิดการกัดเซาะในช่วงปี 2557-2558 ในอัตรา -0.415 เมตร/ปี, ช่วงปี 2558-2559 ในอัตรา -4.67 เมตร/ปี, ช่วงปี 2560-2561 ในอัตรา -2.84 เมตร/ปี, และ ช่วงปี 2562-2563 ในอัตรา -1.06 เมตร/ปี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ที่เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ประมาณวันที่ 25-26 มกราคม 2559  และ  7-8  กุมภาพันธ์ 2559 ที่ส่งผลให้ชายหาดภาคใต้ตอนล่างเกิดการกัดเซาะหลายพื้นที่ (https://beachlover.net/wp-content/uploads/2019/07/Full-paper-.pdf) สำหรับหาดดอนทะเลพบว่าเกิดการกัดเซาะไปบ้างดังรูปที่ 8 โดยเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามีอัตราการกัดเซาะในช่วงเวลานี้ 4.67 เมตร/ปี ผลจากเหตุการณ์นี้เองทำให้เกิดการริเริ่มโครงการป้องกันชายฝั่งหาดดอนทะเลแห่งนี้ตลอดแนว

โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเล ระยะทาง 1.291 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 70.23 ล้านบาท โดยผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566 โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น เมื่อครั้งที่เข้ามาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อปี 2560 โครงการนี้มีระยะทางเพียง 800 เมตร ตามรูปที่ 9 (อ้างอิงจากเอกสารรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2560)

หลังจากนั้น พบว่าได้มีการปรับขนาดโครงสร้างและระยะทาง จากเดิม 800 เมตร และสันเขื่อนกว้าง 3.5 เมตร (จากเอกสารรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2) เป็นระยะทาง 1,290 เมตร และเพิ่มความกว้างของสันเขื่อนเป็น 5.5 เมตร โดยสันเขื่อนด้านในสุดนั้นห่างจากขอบเขตที่ดินริมทะเลประมาณ 14.5 เมตร ในทุกหน้าตัด แสดงดังรูปที่ 10 หากพิจารณาความกว้างของกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่แนวนอกสุดถึงในสุดทั้งส่วนที่จมและโผล่พ้นผิวชายหาด จะพบว่ามีความกว้างตลอดหน้าตัด 20.1 เมตร 

จากข้อมูลที่กล่าวมานี้ สามารถสรุปได้ว่าหาดดอนทะเลเกิดการกัดเซาะจากเหตุการณ์เพียงครั้งเดียวในช่วงต้นปี 2559 ในอัตรา 4.76 เมตร/ปี ซึ่งถือเป็นการกัดเซาะปานกลาง (อัตราการกัดเซาะปานกลางคือ 1-5  เมตร/ปี อ้างอิงเกณฑ์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) แม้จะเรียกได้ว่าการกัดเซาะที่พบนั้นค่อนไปทางเกือบจะรุนแรง (มากกว่า 5 เมตร/ปี) แต่พบว่าหลังจากนั้นชายหาดกลับมาทับถมมากกว่าที่ถูกกัดเซาะไป และถูกกัดเซาะอีกครั้งและทับถมอีกครั้งสลับไปมาในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการใช้ประโยชน์บนชายหาด

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเท่าที่มีข้อมูลตั้งแต่ 2557-2563 ไม่พบว่าหาดดอนทะเลถูกกัดเซาะแต่พบว่าถูกทับถมในอัตรา 3.32 เมตร/ปี โดยผลวิเคราะห์นี้ตรงกับปากคำของประชาชนแถบนั้นที่ระบุว่า หลังเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2559 ชายหาดแห่งนี้ก็ไม่เคยถูกกัดเซาะอีกเลย หาดอาจหดหายไปบ้างตามมรสุม แต่ไม่เคยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพสาธารณะของประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากชายหาดดอนทะเล จึงไม่มีความจำเป็นที่หน่วยงานต้องสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะแบบเรียงหินใหญ่ปิดทับลงบนชายหาดที่สมบูรณ์แห่งนี้ เมื่อไร้ซึ่งเหตุผลอันสมควร หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะถือได้ว่าเป็นการนำงบประมาณมาใช้แบบไร้ประสิทธิภาพ

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ประชาชนตำบลคันธุลี เข้าชี้เเจงต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี ถึงผลกระทบของโครงการโดยชี้เเจงว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวนั้นไม่มีความจำเป็นเนื่องจากหาดดอนทะเล ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เเละเขื่อนกันคลื่นนั้นทำให้หาดกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง เเละจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังได้มีการอ่านเเถลงการณ์ต่อสภาฯ เพื่อเรียกร้องความกล้าหาญของสมาชิกสภาฯ เเละองค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลีให้ยืนอยู่ข้างประชาชนเเละสิ่งเเวดล้อม หลังจากที่ อบต.คันธุลี สำรวจความเห็นเเละพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 155 คน จากการสำรวจทั้งสิ้น 195 คน ในพื้นที่โครงการ ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จึงเรียกร้องให้องค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี ได้ใช้ความกล้าหาญยืนยัดข้างประชาชนเเละสิ่งเเวดล้อมโดยการทำหนังสือไปยังกรมโยธาธิการฯ เพื่อยกเลิกโครงการดังกล่าวโดยเร็ว (https://beachlover.net/แถลงการณ์คัดค้านกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเล/)

ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำเรื่องการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาอภิปรายในรัฐสภาเพื่อขอปรับลดงบประมาณ โดยได้มีการชูป้ายข้อความที่เขียนว่า “กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA” และ “ปกป้องหาดดอนทะเล” ในช่วงท้ายของการอภิปรายด้วย (https://thestandard.co/house-of-representatives-meeting-200864/)

ช่วงเย็นของวันเดียวกัน ช่อง 8 ได้นำเสนอข่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองยอมยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเลแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามคำร้องเรียน ขอให้ชาวบ้านสบายใจได้ นับว่าเป็นท่าทีการตอบรับของหน่วยงานที่ค่อนข้างเป็นมิตรต่อประชาชนผู้ร้องเรียนเป็นอย่างยิ่ง (https://www.thaich8.com/news_detail/100064)

เรื่องราวที่ต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือนนั้น จบลงแบบสันติ ไร้ความขัดแย้งรุนแรง เป็นการสู้กันด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อทรัพยากรที่จะต้องถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานในอนาคต … เมื่อนั้นชาวดอนทะเลคงจูงมือลูกหลานออกไปเดินย่ำทรายบนชายหาดหน้าบ้านได้อย่างภาคภูมิใจว่าหาดดอนทะเลคือผลผลิตของการต่อสู้เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายหาดอย่างแท้จริง