สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงใช้มาตรการป้องกันชายฝั่งที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อรับมือกับการกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ กำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย และการเติมทรายชายหาด โดยที่ชายหาดท่องเที่ยวนั้น มาตรการเติมทรายชายหาดกำลังถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นการเพิ่มพื้นที่ ชายหาด ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางเศรษฐกิจของชายหาด ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบทางลบต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับมาตรการที่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อป้องกันชายฝั่งประเภทอื่น
การเติมทรายชายหาด มีประโยชน์หลักที่เห็นเด่นชัดคือเพิ่มพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เสริมสร้างเกราะป้องกันชายฝั่ง นอกจากนั้นยังมีผลประโยชน์แฝงอื่นเช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ เสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ริมชายหาด ลดการสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงพื้นที่ชายหาด เสริมสร้างสุขภาพกายใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นวิธีการที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลในอนาคต ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทางทะเลและมีมูลค่าของหาดทรายสูง แม้ต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแต่มักหลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่ง เช่น หาดไวกิกิในฮาวาย หาดไมอามี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หาดแคนคูนประเทศเม็กซิโก โดยวิธีการหนึ่งที่นิยมนำมาปรับใช้กับชายหาดเหล่านี้คือมาตรการเติมทรายชายหาด (https://beachlover.net/การเติมทรายชายหาด/)
ในส่วนของประเทศไทยนั้นหาดจอมเทียม จ.ชลบุรี ก็เผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเช่นกัน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการเติมทรายเช่นเดียวกันกับที่สำเร็จลุล่วงไปแล้วคือชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี โดยพบว่าเมื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วย B/C ratio แล้วมีค่า 3.32 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันในประเทศไทยมีโครงการเติมทรายชายหาดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 โครงการ ณ หาดพัทยา จ.ชลบุรี (https://beachlover.net/หาดพัทยา-น่าเที่ยวแค่ไหน/) และมีที่กำลังดำเนินการอยู่ที่หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี (https://beachlover.net/พาชม-เติมทรายชายหาดจอมเทียน-อีกครั้ง/) และหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา (https://beachlover.net/หาดชลาทัศน์-ยามนี้-ยังสบ/) ทั้ง 3 โครงการนี้ เมื่อประเมินมูลค่าของการเติมทรายจากค่าเฉลี่ยต่อลูกบาศก์เมตรของการเติมทรายจากทั้ง 3 โครงการ พบว่ามีมูลค่าเฉลี่ย 803.108 บาท/ลบ.ม. ซึ่งได้รวมทั้งค่า ขุด ล้าง ขนย้าย และค่าดำเนินการทุกอย่างครบทั้งกระบวนการแล้ว (อ้างอิงข้อมูลจากรายงานการศึกษาออกแบบของกรมเจ้าท่า จาก 3 โครงการ)
หากประเมินค่าก่อสร้างโดยภาพรวมต่อหนึ่งกิโลเมตรพบว่า 1) หาดจอมเทียน 163.93 ล้านบาทต่อกิโลเมตร 2) หาดพัทยา 153.23 ล้านบาทต่อกิโลเมตร 3) หาดชลาทัศน์ 78.6 ล้านบาทต่อกิโลเมตร โดยเฉลี่ยแล้วทั้ง 3 โครงการมีค่า 131.92 ล้านบาทต่อกิโลเมตร จะพบว่างานเติมทราย ณ หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา มีค่าก่อสร้างถูกกว่ามากเพราะขนส่งไม่ไกล กระบวนการไม่ยุ่งยากเท่า จ.ชลบุรี และแหล่งทรายมาจากแหลมสมิหลา ซึ่งเป็นส่วนของชายหาดที่ต่อเนื่องจากหาดชลาทัศน์ ห่างออกไปทางทิศเหนือไม่ถึง 4 กิโลเมตร
สำหรับงานเติมทราย ณ หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา นั้น กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการมาตั้งแต่ มิถุนายน 2559 ด้วยงบประมาณ 269,600,000 บาท จวบจนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2565) ยังไม่แล้วเสร็จ โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการไปเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินงานต่อจากที่ทำค้างไว้เดิม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับจ้างเหมางาน (https://beachlover.net/เติมทรายหาดชลาทัศน์-ถึงไหน-ยังไง/)
ปัจจุบันได้มีการศึกษาหาแหล่งทรายและมีแผนนำมาตรการเติมทรายชายหาดมาใช้เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น อย่างโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสํารวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะ สนับสนุนการท่องเที่ยวชายหาดชะอํา อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 16 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 16.7 ล้านบาท (ผูกพัน 2564-2566) และโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะ สนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณเขาหลักถึงแหลมปะการัง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ระยะทาง 12 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 17.7 ล้านบาท (ผูกพัน 2564-2566) ที่ได้ดำเนินการในช่วงเวลาเดียวกันทั้ง 2 โครงการ คือ พฤษภาคม 2564 ถึง พฤศจิกายน 2565 โดยกรมเจ้าท่า
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการของบประมาณเพื่อสำรวจหาแหล่งทรายอีกในเอกสารร่างงบประมาณแผ่นดินปี 2566 (ขาวคาดแดง) ที่ระบุว่าเป็นค่าศึกษาสำรวจหาแหล่งทรายเพื่อเสริมทรายชายหาดป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร) รวมทั้งสิ้น 25 ล้านบาท (ผูกพัน 2566-2567) โดยกรมเจ้าท่าเช่นเดียวกัน
นอกจากโครงการเติมทรายเพื่อชายหาดท่องเที่ยวตามโครงการที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังพบว่ามีการนำการเติมทรายชายหาดมาปรับใช้ร่วมกับงานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วย อย่างเช่นโครงการบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา หาดกระทิงลาย จ.ชลบุรี เป็นต้น
มาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการเติมทรายนั้น นับเป็นมาตรการเดียวจากที่มีทั้งหมดที่เป็นการเพิ่มมวลทรายให้กับชายหาด เป็นวิธีการที่หากปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาแล้ว จะเป็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านลบน้อย ไม่รบกวนทัศนียภาพของชายหาดโดยอาจปรับใช้ร่วมกับมาตรการแก้ไขแบบอื่นได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามมาตรการนี้มิได้เหมาะสมกับทุกชายหาด เนื่องจากใช้งบประเมาณค่อนข้างมากและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงเหมาะสมกับชายหาดที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงอย่างชายหาดท่องเที่ยว ในการนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลง วางแผนบำรุงรักษาโดยการเสริมทรายเพิ่มในลักษณะประจำตามรอบปีที่ได้ออกแบบไว้ รวมถึงทุกฝ่ายควรมีความรู้ถึงสมดุลของชายหาด เพื่อความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างยั่งยืน
“ชายหาดท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มาตรการเติมทรายชายหาดควรถูกเลือกใช้เป็นมาตรการหลักก่อน หากมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้จึงค่อยแสวงหามาตรการอื่นๆทดแทน”