งบประมาณสร้างกำแพงกันคลื่น 2554-2565 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

Beach Lover ได้นำเสนอร่างงบประมาณเพื่อการป้องกันชายฝั่งของ 3 กรมหลัก มาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ติดตามได้จากโพสเก่าๆ

Beach Lover ได้นำเสนอเรื่องราวของกำแพงกันคลื่น [https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/] อย่างต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการถอดเอากำแพงกันคลื่นออกจากรายการที่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2556 [https://beachlover.net/ประกาศกระทรวงทรัพยากร-2/] ติดตามได้จากโพสเก่าๆเช่นเดียวกัน

ครั้งนี้ขอนำสองเรื่องมาผนวกกัน โดยแสดงข้อมูลของงบประมาณที่ถูกเสนอไว้ในเล่มงบประมาณ(ขาวคาดแดง) โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองในส่วนของกำแพงกันคลื่นตั้งแต่ปี 2554-2565 รวม 12 ปี พบว่า จำนวนงบประมาณที่ขอตั้งไว้ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงกันคลื่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ไม่นับรวมงานจ้างบริษัทที่ปรึกษา)

หากย้อนดูอดีตช่วงปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการถอดกำแพงกันคลื่นออกจากรายการที่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงการตั้งงบประมาณของหน่วยงานในปี 2558 จะอยู่บนหลักที่ว่ากำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA แล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ประกาศนี้จะมีผลต่อการตั้งงบประมาณในปี 2559 เสียมากกว่า เนื่องจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ธันวาคม 2556 ซึ่งกระชั้นกับการตั้งงบประมาณเกินไป (เริ่มทำเอกสารงบประมาณ 2558 ตั้งแต่ต้นปี 2557)

เมื่อพิจารณาการของบประมาณเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่นในปี 2559-2560 นั้นพบว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก คือเพิ่มขึ้นถึง 149.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.635% ของงบประมาณที่ถูกขอในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่มีข้อมูลตั้งแต่ปี 2554-2565

ในปีล่าสุดงบประมาณส่วนนี้ถูกปรับลดลงประมาณ 20% ซึ่งก็สอดคล้องในภาพรวมของงบประมาณปี 2565 ในหลายๆหน่วยงานที่ถูกปรับลดลงประมาณ 20% เนื่องจากภาวะโรคระบาด

หากรัฐดำเนินมาตรการอย่างถูกทิศถูกทาง หากกำแพงกันคลื่นแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เราควรจะได้เห็นการของบประมาณเพื่อการป้องกันชายฝั่งที่ลดลง แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม เรายังคงเห็นการตั้งงบก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง นี่ยังไม่รวมกับงบประมาณจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและออกแบบโครงสร้างในปีถัดๆไปอีก หากไม่มีภาวะของโรคระบาด คาดเดาได้ว่างบประมาณส่วนนี้ก็จะเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐควรหยุดการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเดิมๆเสียที เพราะมันได้ถูกพิสูจน์แล้วจากการของบประมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่ต้องไปสืบหาประจักษ์พยานที่มีอยู่อย่างดาษดื่นที่ไหนมาร่วมพิสูจน์เพิ่มเติม หากเลือกเดินทางเดิม เราก็จะวนอยู่ในปัญหาและทางแก้ไขแบบเดิมๆด้วยงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แบบที่ผ่านมา ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปักหมุดหมายใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหาแนวใหม่ ซึ่งนั่นต้องการความกล้าหาญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก มากเสียยิ่งกว่าองค์ความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่อย่างมากมายให้พร้อมหยิบฉวยมาใช้งาน

เราจะไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยหากเลือกเดินทางเดิม ทางเดียวคือ หาหนทางใหม่แล้วก้าวเดินไปอย่างกล้าหาญ