ความคืบหน้า กำแพงป้องกันชายฝั่งชายหาดมหาราช [25ม.ค.2563]

Beach lover ได้นำเสนอการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดมหาราช จ.สงขลา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 จำนวน 4 เรื่อง ติดตามย้อนหลังได้จาก http://Google earth หาดมหาราช จ.สงขลา ไร้การกัดเซาะ [15 ม.ค.2563] และ http://ตอกเข็มแล้ว!! หาดมหาราช จ.สงขลา [11ม.ค.2563] และ http://ลงมือแล้ว! กำแพงกันคลื่นชายหาดมหาราช สงขลา [15 ธ.ค.2562] และ http://ใกล้แล้ว! การมาถึงของโครงสร้างบางอย่าง ณ หาดมหาราช [5 พ.ย.2562]

ความคืบหน้าล่าสุดในวันที่ 25 ม.ค.2563 มีการตอกเข็มเพิ่มขึ้นเกือบตลอดทั้งแนวก่อสร้าง หล่อคอนกรีตแล้วในบางตำแหน่ง และมีการนำเสาเข็มมาวางเป็นจุดๆกระจายตลอดแนวก่อสร้าง

งานก่อสร้างทางทิศใต้

โครงการนี้มีระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 2 ปี 1 เดือน ตลอดแนว 1.1 กิโลเมตร จากการสังเกตหน้างานพบว่าผู้รับเหมาค่อนข้างเร่งงานพอสมควร แม้ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาก็หยุดงานเพียงไม่กี่วันก็กลับมาตอกเสาเข็มต่อ (จากปากคำของผู้มีบ้านอยู่ริมชายหาด)

จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่พบว่า หลายคนแม้มีบ้านและที่ทำกินอยู่ริมชายหาด แต่มิได้ถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมลงความเห็นในโครงการนี้แต่อย่างใด และเนื่องจากโครงการกำแพงกันคลื่นถูกจัดอยู่ในโครงสร้างริมทะเลประเภทที่ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือเรียกกันสั้นๆว่า อีไอเอ จึงไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดเข้มงวดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดกระบวนการรับฟังอย่างถูกต้อง

หน่วยงานมักเปิดภาพจำลองในอนาคตเมื่อโครงสร้างแล้วเสร็จที่สวยงาม โดยมักไม่บอกถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ถัดไปและชายหาดด้านหน้ากำแพง สำหรับโครงการนี้ พื้นที่ถัดไปสุดปลายกำแพงทางทิศเหนือเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่ใช้ชายหาดเป็นพื้นที่จอดเรือ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ถูกเชิญเข้ารับฟังหรือไม่ และแม้จะถูกเชิญเข้ารับฟังก็ไม่แน่ใจว่าได้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรอบด้านหรือเปล่า ชาวบ้านบริเวณนี้จะรู้หรือไม่ว่าอาจเกิดผลกระทบกับชายหาดหน้าบ้านบริเวณที่ใช้จอดเรือเมื่อกำแพงกันคลื่นนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์

ภาพจำลองของโครงการ
ทิศเหนือสุดของโครงการเป็นที่ตั้งสำนักงานก่อสร้างและถัดไปจากส่วนนี้คือชุมชนประมงที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อกำแพงนี้แล้วเสร็จ
Station 1+439 ตำแหน่งสิ้นสุดโครงการด้านทิศเหนือ อยู่เกือบสุดกำแพงหลังโรงเรียนสทิงพระวิทยา
พบชายหาดที่ไร้ร่องรอยการกัดเซาะแม้ยามมรุสมตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนินทรายและพืชปกคลุมที่สมบูรณ์

ตามปกติ หน่วยงานจะของบประมาณก่อสร้างได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องขอจากท้องถิ่นและ/หรือ ชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้น กรณีนี้ ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการระบุชัดว่าเป็นโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พ่วงด้วยการปรับภูมิทัศน์ด้านบนของกำแพงกันคลื่น นั่นแปลว่า เหตุผลของการร้องขอคือการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งพื้นที่นี้ไม่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่งที่ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอให้เป็นเหตุแห่งการสร้าง มีเพียงน้ำซัดเอาทรายเข้ามาริมถนนเฉพาะมรสุมไม่กี่วันต่อปีเท่านั้น (จากปากคำของชาวบ้านผู้ใช้ประโยชน์จากหาดมหาราช) จากการภาพถ่ายดาวเทียมตามที่ beach lover ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ก็ไม่ปรากฏให้เห็นการกัดเซาะชายฝั่งแต่อย่างใด (http://Google earth หาดมหาราช จ.สงขลา ไร้การกัดเซาะ [15 ม.ค.2563])

แม้ไร้ซึ่งความจำเป็น เราก็จะ “ขลิบ” ชายหาดมหาราชด้วยกำแพงกันคลื่น

ในมูลค่า 151.72 ล้านบาทต่อกิโลเมตร กันจริงใช่ไหม ?!?!?