ข้อสังเกต 11 ประการ ต่อโครงการกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง บางสะพาน

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของชายหาดแม่รำพึง บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปแล้วเมื่อสองปีก่อน ติดตามได้จาก https://beachlover.net/ปาบึกกำลังจะเปลี่ยนหาดe/ โดยในครั้งนั้นได้นำเสนอว่า หาดแม่รำพึงนี้ กำลังจะมีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบของกำแพงกันคลื่น เจ้าของงานคือกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา STS Engineering Consultant จำกัด ศึกษาออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2562 โดยในครั้งนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดโครงการกำแพงกันคลื่นขึ้น ณ ตำแหน่งใดของชายหาดเป็นเฟสแรก

กรมโยธาฯได้บรรจุงบประมาณเพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงไว้ในปีงบประมาณ 2564 และต่อเนื่องมาถึงปี 2567 ด้วยงบประมาณรวม 79.078 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นสามรูปแบบบนชายหาดแม่รำพึง ความยาว 805 เมตร (ข้อมูลจากร่างงบประมาณเล่มขาวคาดแดงปี 2566 แต่จากเวทีรับฟังความคิดเห็นมีความยาว 966 เมตร)

เมื่อประมาณต้นปี 2565 ได้เกิดกระแส ไม่เห็นด้วยกันโครงการนี้มากขึ้นโดย “กลุ่ม Save หาดแม่รำพึง” ที่เป็นกลุ่มหลักในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ระบุถึงความไม่จำเป็นในหลายประการรวมถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ จากนั้นก็มีการยื่นหนังสือร้องเรียนและขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จนเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรมของโครงการนี้อย่างรุนแรงอีกครั้ง สืบเนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นนั้นเป็นการคัดลอกข้อมูลจากจังหวัดสงขลามาใส่ในรายงาน แม้จะเป็นข้อมูลประกอบรายงานในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญนัก แต่ก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า กระบวนการทำและจัดส่งรายงานนั้นดำเนินการด้วยความไม่รอบคอบ

ที่มา: รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2562) (ได้รับจากกลุ่ม Save หาดแม่รำพึง)

จนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้อีกครั้ง หากรวมกับครั้งย่อยๆที่ไม่มีการลงมตินับว่าเป็นการจัดเวทีเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนเป็นครั้งที่ 7 เพื่อหาข้อสรุปเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ให้จบลงโดยเร็ว แต่ผลที่ปรากฏคือไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากประธานของงานวันนั้น คือรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นลงในโดยมิได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานหลักที่ดูแลด้านชายฝั่งทะเลอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มาเข้าร่วมเกือบ 10 คน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่กำกับดูแลพื้นที่นี้โดยตรงได้แสดงข้อมูลและความเห็นทั้งที่มีการยกมือมาก่อนหน้าแล้ว รวมถึงปิดโอกาสการแสดงความเห็นของนักวิชาการอีกด้วย จึงเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่สมบูรณ์และไม่รอบด้าน เพราะมีการนำเสนอข้อมูลเฉพาะเพียงฝ่ายของบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นตัวแทนของกรมโยธาฯเท่านั้น ในส่วนของข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่ากังวลหากโครงการนี้เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกนำเสนอในเวทีครั้งนี้เลย

เอกสารจากเวทีรับฟังความคิดเห็น 11 มิ.ย.2565 (กรมโยธาธิการและผังเมือง)

จากข้อมูลที่รวบรวมได้พร้อมกับการสำรวจภาคสนาม พอจะตั้งประเด็นที่เป็นข้อสังเกตต่อโครงการนี้ได้ 11 ประเด็น ดังต่อไปนี้

(1) โครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ชายหาดยาวเกือบ 5 กิโลเมตร มีคลองบางสะพานและคลองแม่รำพึงประกบด้านหัวและท้ายอ่าวแม่รำพึง ซึ่งคลองทั้งสองนี้จะนำตะกอนจากบนแผ่นดินไหลลงมาเติมให้กับชายฝั่งตลอดเวลา สังเกตได้จากปากคลองมักประสบปัญหาตะกอนปิดปากร่องเป็นประจำ แลมีการร้องขอการขุดลอกปากคลองและในคลองอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ จึงเห็นข้อพิสูจน์ได้ว่าอ่าวแม่รำพึงนี้มิได้ขาดแคลนตะกอน โดยข้อมูลล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนปากร่องน้ำบางสะพานอีก 44,00 ลบ.ม. ตามข่าวในวันที่ 14 มิ.ย.2565 (https://www.facebook.com/marinesmartmd) และก่อนหน้านี้ พบว่าที่ปากคลองเดียวกันนี้ก็ได้มีการขุดลอกตะกอนไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2563 ตามภาพมุมสูงที่ Beach Lover บันทึกไว้เมื่อปี 2562 (https://beachlover.net/วิชาการ-แนวคิดเพื่อจัดการปากร่องน้ำ/)

ที่มา: https://www.facebook.com/marinesmartmd

(2) หาดแม่รำพึงประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจริงในปีที่เกิดมรสุมแรงกว่าปกติ หลังจากมรสุมได้ผ่านพ้นไป ชายหาดได้กลับคืนมาตามปกติ หากพื้นที่นี้เกิดการกัดเซาะอย่างต่อเนื่องโดยชายหาดไม่กลับคืนมาหลังมรสุมเลยนั้น เราคงพบร่องรอยการกัดเซาะบนพื้นผิวถนนรวมถึงร่องรอยการซ่อมแซมพื้นถนนอย่างต่อเนื่อง แต่เชิงประจักษ์นั้นไม่พบข้อเท็จจริงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ร้องขอโครงการไปจวบจนถึงปัจจุบัน

ภาพเมื่อ 25 พ.ค.2565

(3) อัตราการกัดเซาะในพื้นที่โครงการ ที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่ศึกษาในรายงานระยะทาง 2 กิโลเมตรนั้น มีอัตราการกัดเซาะในปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงวิเคราะห์ก่อนและหลังพายุปาบึกเท่านั้นที่รุนแรงกว่าช่วงปีอื่นๆ โดยระบุว่าอัตรากัดเซาะมากที่สุดคือ 22 เมตรต่อปี ด้วยระยะทางกัดเซาะตามแนวชายฝั่งยาว 300เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณปากคลองบางสะพาน ซึ่งไม่อยู่ในพื้นที่ที่กรมโยธาฯจะก่อสร้างในเฟสแรกนี้ ส่วนในช่วงเวลาอื่นๆที่ทำการวิเคราะห์ในปี 2545-2557, 2557-2561 และ 2545-2561 นั้นไม่พบการกัดเซาะในระดับรุนแรง

เอกสารจากเวทีรับฟังความคิดเห็น 11 มิ.ย.2565 (กรมโยธาธิการและผังเมือง)

(4) เป็นความจริงที่ว่า ถึงแม้อัตราการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ในระดับต่ำ แต่หากกระทบกับการใช้ประโยชน์ของประชาชน รัฐก็ควรเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา แต่ในกรณีนี้ หากอัตราการกัดเซาะ 22 เมตรต่อปี ในปี 2561-2562 ยังคงดำรงอยู่จริง ป่านนี้ 4 ปีผ่านไป เราคงสูญเสียชายหาดเข้ามาในแผ่นดินกว่า 90 เมตร แล้ว แต่ในความเป็นจริงคือชายหาดได้กลับคืนมาหลังจากพายุได้ผ่านพ้นไป

ภาพเมื่อ 25 พ.ค.2565

(5) มีคำร้องขอจากท้องถิ่นโดย อบต.แม่รำพึง ไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจริง เดือน ก.พ.ปี 2559, ม.ค. ปี 2561 และ ม.ค.ปี 2562 โดยสังเกตได้ว่าเป็นการร้องขอไปในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่แรงกว่าปกติเท่านั้น

(6) โครงการนี้ได้ออกแบบได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เชื่อได้ว่า โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนี้จะมีความมั่นคงแข็งแรงตามอายุโครงการที่ได้คาดไว้ ซึ่งแน่นอนว่า หากโครงสร้างนี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ก็ย่อมส่งผลกระทบได้อย่างยาวนานตามอายุของโครงสร้างด้วยเช่นกัน

ที่มา: รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2562) (ได้รับจากกลุ่ม Save หาดแม่รำพึง)

(7) จากข้อมูลสำรวจโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ปรากฎในรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นนั้นพบว่าท้องน้ำบริเวณกลางอ่าวแม่รำพึงนั้น มีเส้นชั้นความลึกเว้าโค้งเข้ามาล้อไปตามความโค้งของอ่าวมากกว่าบริเวณอื่น หากเกิดการกัดเซาะในอนาคต คาดเดาได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นบริเวณนี้เป็นหลัก หากหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องการบรรเทาทุกข์และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเฝ้าระวังเฉพาะตำแหน่งนี้เป็นหลัก

ภาพเมื่อ 25 พ.ค.2565

(8) การย้ายตำแหน่งก่อสร้างโครงการไปมาโดยให้เหตุผลว่ามีการศึกษาทั้งอ่าวไปแล้ว จะสร้างบริเวณใดก่อนก็ได้นั้น มิอาจทำได้โดยง่าย เหตุเพราะผลกระทบที่เกิดจากการสร้างในตำแหน่งหนึ่ง ย่อมแตกต่างจากผลกระทบที่เกิดจากการสร้างในอีกตำแหน่ง นำมาซึ่งมาตรการลดผลกระทบที่แตกต่างกันด้วย

(9) ข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ปรากฎในรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในส่วนของผลกระทบที่เกิดจากการสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อพื้นที่ชายหาดบริเวณข้างเคียง แต่จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในเกือบทุกพื้นที่ที่เป็นตำแหน่งสิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นพบว่าชายหาดถูกกัดเซาะมากกว่าเดิมและเกิดขึ้นแทบจะทันทีที่กำแพงกันคลื่นสร้างเสร็จ สำหรับกำแพงที่จะเกิดขึ้นบนหาดแม่รำพึงที่มีความกว้างของกำแพงมากกว่า 14 เมตรที่วางทับลงไปบนชายหาดนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดโครงการนี้จึงไม่เกิดผลกระทบเหมือนโครงการอื่นๆ

ผลกระทบท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่น (https://beachlover.net/ผลกระทบปลายกำแพงกันคลื่น-ชายฝั่งบ่ออิฐ-เกาะแต้ว/)

(10) โครงการจะมีการปรับภูมิทัศน์ด้านบนและด้านหลังกำแพงกันคลื่น โดยกรมโยธาฯ ประกาศว่า จะไม่รื้อสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่ง จึงมีข้อกังขาว่ากรมจะใช้พื้นที่ใดกันแน่เพื่อปรับภูมิทัศน์ และกำแพงจะอยู่แนวใดกันแน่ หากเป็นไปอย่างที่อธิบายไว้ในงานรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 มิ.ย.2565 ที่ระบุว่าจะสร้างกำแพงป้องกันเอาไว้ด้านหน้าสิ่งปลูกสร้างริมทะเล จะกลายเป็นว่าโครงสร้างกำแพงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะวางล้ำลงไปบนชายหาดอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันนี้ระดับน้ำสูงสุดก็ขึ้นถึงสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่งในปัจจุบันแล้ว

ภาพเมื่อ 25 พ.ค.2565

(11) มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อโครงการไปแล้วรวม 6 ครั้ง และประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับโครงการในการประชุมครั้งแรกๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อประชาชนได้รับข้อมูลและองค์ความรู้มากขึ้นแล้วจะต้องยืนยันตามความเห็นเดิม ซึ่งกรมโยธาฯควรรับฟัง และปรับมาตรการหากจำเป็น โดยพบว่าการประชุมในครั้งหลังๆเริ่มมีความเห็นที่แตกต่างรวมถึงความห่วงกังวลมากขึ้นหากโครงการเกิดขึ้นจริง แนวทางคลี่คลายความเห็นที่แตกต่างนี้คือการให้ข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการอย่างรอบด้าน โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงาน นักวิชาการ และที่สำคัญคือประชาชนได้เข้าร่วมและแสดงความเห็นได้อย่างสมดุล โดยไม่ปิดกั้นโอกาสของผู้เข้าร่วมในการรับฟังถึงผลกระทบของโครงการอย่างที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 มิ.ย.2565

ภาพเมื่อ 11 มิ.ย.2565

ประเด็นสำคัญที่สุด คือกรมโยธาฯควรยึดหลักความจำเป็นของโครงการมาก่อนเป็นลำดับแรก และควรคลี่คลายปัญหานี้ด้วย “วิทยาศาสตร์” มิใช่ “รัฐศาสตร์” เพื่อมิให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ประชาชนชาวแม่รำพึงอีก

บทสรุปของโครงการนี้จะจบลงอย่างไร Beach Lover จะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป โปรดติดตามอย่างใจเย็น