การเดินทางของเม็ดทราย: ตอนที่ 5 เกาะยาว

“ว้าวๆๆๆๆ ไม่เคยคิดเลยนะว่าตากใบจะมีหาดสวยแบบนี้”    เม็ดทรายกล่าวพร้อมการกระโดดโลดเต้นทันทีที่ก้าวลงจากรถ

ชายหาดเกาะยาว

หาดเกาะยาวตั้งอยู่บนคาบสมุทรตากใบ ห่างจากปากน้ำโกลกขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายเกาะรูปร่างยาววางตัวขนานไปกับแนวชายฝั่ง แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เกาะ สามารถเข้าออกทางรถผ่านถนนที่มีเพียงเส้นเดียวที่วิ่งเลาะจากปากน้ำโกลกเลียบชายฝั่งไปถึงเกาะยาว หากเดินเท้าหรือรถมอเตอร์ไซด์ก็สามารถข้ามแม่น้ำตากใบผ่านสะพานความยาวประมาณ 310 เมตร จากตัวเมืองตากใบมายังเกาะยาวได้เลย โดยไม่ต้องขับรถอ้อมให้เสียเวลา

ชายหาดเกาะยาว

“นี่ๆ ไอ้กองหินนี้มันวางไว้ทำไมอ่ะ ดูสิ วางเป็นแท่งๆยื่นออกไปตั้งหลายกองแหน่ะ” รุ่นพี่ถาม

รอดักทรายชายหาดเกาะยาว

“อ้อ ไอ้กองหินยื่นๆที่พี่เห็นมันเรียกว่า รอดักทราย หรือชื่อทางเทคนิคคือ Groin เค้าสร้างตลอดแนว 20 กว่ากิโลเลยนะพี่ ตั้งแต่จุดที่เราไปที่และตรงปากน้ำโกลกอ่ะพี่ จำได้ป่ะ ที่หนูชี้ให้ดู อันนั้นคือรอดักทรายตัวแรกของคาบสมุทรตากใบ”

“เออ ชื่อมันแปลกดีนะ รอดักทราย มันรอที่จะดักทรายหรือไง 555” 

รอดักทราย คาบสมุทรตากใบ

ทั้งคู่เดินไปที่ชายหาดแล้วกระโดดไปมาบนกองหินที่นำมาวางเป็นรอดักทรายพร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมของเม็ดทราย

“หนูก็คิดแบบเดียวกับพี่เลยนะ ตอนที่ได้ยินอาจารย์พูดชื่อนี้ครั้งแรกตอนที่เรียนเรื่องโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทะเลน่ะ  แล้วอาจารย์ก็บอกว่า ใช่ มันคือโครงสร้างที่ รอคอยการมาถึงของทรายแล้วดักเอาไว้ตามชื่อเป๊ะเลย ชื่อมันตามหน้าที่ของมันเลยอ่ะ หนูจำได้ดีตั้งแต่ตอนนั้น” 

รอดักทราย คาบสมุทรตากใบ

“อาจารย์เธอนี่อธิบายได้ชัดเจนมากเลยนะ ว่าแต่มันสร้างไว้ทำไมอ่ะ”

“ที่เราไปดู jetty ที่ปากน้ำโกลกอ่ะ ทางทิศเหนือของมันก็คือที่ที่เรายืนกันอยู่ด้วย มันถูกกัดเซาะก็เพราะการก่อสร้าง jetty ตัวนั้นอ่ะพี่ ด้วยความที่มันยื่นยาวออกไปจากฝั่งมาก มันก็ทำให้ตะกอนทรายที่วิ่งเลียบชายฝั่งถูกดักไว้ในอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งก็คือทางทิศใต้หรือฝั่งมาเลเซีย จนทำให้ชายฝั่งของประเทศไทยขาดตะกอนมาหล่อเลี้ยง จนเกิดการกัดเซาะ ทำให้ทางฝั่งไทยต้องสร้างรอดักทราย ยาวไปกว่า 20 กิโล ตามที่หนูบอกอ่ะ”

โครงสร้างชายฝั่งบนคาบสมุทรตากใบทั้งหมด

“เฮ้อ! ทำแบบนี้ก็ได้รึ แบบนี้เราก็เสียประโยชน์ดิ เรายอมได้ไง” รุ่นพี่เริ่มโวยวายตามสไตล์นักธรณีผู้พิทักษ์แผ่นดินไทย

“ตอนนั้นองค์ความรู้เรื่องนี้บ้านเราคงยังมีน้อยอ่ะ มันตั้งแต่ก่อนพวกเราเกิดอีก โครงการเริ่มมาตั้งแต่ปี    2527 และอีกอย่าง ทางรัฐไทยก็เป็นผู้ริเริ่มความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซีย ในเรื่องนี้เองนะพี่ โดยตอนนั้นคือกรมชลประทาน”  

“ผลกระทบมันไม่ได้หมดแค่ตรงที่เราเห็นหรอกนะพี่ ตรงรอดักทรายตัวสุดท้าย สวนมะพร้าวของชาวบ้านหายไป 18 ไร่เลยอ่ะ น่าสงสารมาก” เม็ดทรายพูดพลางชี้ไปที่รอดักทรายตัวสุดท้ายบนหน้าจอ Google earth เพื่อประกอบคำอธิบาย

“หา! 18 ไร่ มันเป็นเงินเท่าไหร่กันเนี่ย แล้วชาวบ้านทำไงอ่ะ”รุ่นพี่ประหลาดใจกับจำนวนพื้นที่ของชาวบ้านที่หายไปจากผลกระทบของโครงการนี้

“อาจารย์เคยเล่าว่า ชาวบ้านฟ้องร้องกรมชลประทานเพื่อเรียกค่าเสียหาย แล้วชนะคดีด้วยนะพี่” (https://beachlover.net/คดีประวัติศาสตร์-หาดกัดเพราะรัฐสร้าง-คาบสมุทรตากใบ-นราธิวาส/) เม็ดทรายพยายามรื้อฟื้นความทรงจำในห้องเรียนกลับมาเล่าให้รุ่นพี่ฟังได้เกือบทั้งหมด

“อืม..ไว้พี่จะหาโอกาสเข้าไปคุยกับผู้ฟ้องคดีนี้ดู น่าสนใจมากที่แกต่อสู้ด้วยตัวคนเดียวโดยไม่มีแม้แต่ทนาย น่าเอามาถอดบทเรียนใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่พี่กำลังขับเคลื่อนอยู่” รุ่นพี่ผู้เคยต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม ถึงกับอยากพบและพูดคุยกับเจ้าของที่ดินผู้ฟ้องคดีตัวเป็นๆขึ้นมาเลยทีเดียวหลังฟังเม็ดทรายเล่าจนจบ