การเดินทางของเม็ดทราย: ตอนที่ 3 นราธิวาส

เม็ดทรายมาถึงดินแดนที่เธอไม่คุ้นเคย ทั้งวัฒนธรรม ภาษา อาหาร นราธิวาสควรเป็นจังหวัดที่ดูน่ากลัว ต้องระแวดระวังตัวตลอดเวลา แต่สัมผัสแรกของเม็ดทรายกลับไม่เป็นเช่นนั้น  ผู้คนมีน้ำใจ น่ารัก เธอได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรุ่นพี่และญาติๆของรุ่นพี่ที่เป็นชาวนราธิวาส พูดภาษาไทยกับเธอบ้าง แต่โดยมากมักจะพูดภาษาถิ่นผ่านทางรุ่นพี่มาถึงเธอเสียมากกว่า

“อย่าไปนินทาเค้าหล่ะ ป้าพี่เค้าฟังออกหมดนะ เค้าดูทีวี ดูละครไทย อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน เพียงแต่เค้าจะเขินๆคนกรุงเทพแบบเราน่ะ เลยไม่ค่อยกล้าพูด” รุ่นพี่รีบเตือนแม้จะรู้ว่ารุ่นน้องอย่างเม็ดทรายจะไม่มีวันพูดนินทาใครทั้งต่อหน้าและลับหลังก็ตาม 

เย็นวันที่เม็ดทรายเดินทางไปถึง รุ่นพี่พาเธอไปนั่งกินโรตีกันริมถนน ซึ่งถือเป็นอาหารที่ว่ากันว่า ใครมาพื้นที่สามจังหวัดต้องไม่พลาดกินโรตีและชาชัก

“พรุ่งนี้เราไปเริ่มจุดแรกที่ปากน้ำโกลกกันเลยนะพี่ ตรงนั้นเป็นหาดที่ทรายเม็ดทรายจากฝั่งมาเลเซียเดินทางข้ามมา” เม็ดทรายผู้ไม่ได้เอนจอยกับอาหารการกินสักเท่าไหร่ รีบแจ้งโปรแกรมกับสารถีของเธอทันทีที่กินโรตีทิชชู่ และดูดชาชักฟองฟอดนั้นหมด

“ได้ๆที่เคยบอกพี่ใช่ไหมหล่ะ ว่ามันเปลี่ยนสัญชาติเป็นที่แรกก็คือตรงนั้น มันต้องใช้พาสปอตไหมนะ กว่าจะข้ามมาได้ ตม.(ตรวจคนเข้าเมือง) ที่นี่เข้มงวดมากเลยนะจะบอกให้ 555” รุ่นพี่ทวนคำพูดที่เม็ดทรายเคยอธิบายไปเมื่อครั้งก่อน “แล้วทำไมต้องไปทางใต้ก่อนด้วยหล่ะ บ้านพี่อยู่ค่อนมาทางปัตตานีแล้ว เราขับเลาะจากเหนือลงใต้แทนไม่ได้รึ” 

“ไม่ได้พี่ หนูอยากเริ่มต้นการเดินทางตามทิศทางเดียวกันกับเม็ดทรายน่ะ” เม็ดทรายอธิบายต่อถึงเหตุผลจากการเริ่มเดินทางที่ จ.นราธิวาส และเลาะขึ้นไปทางทิศเหนือว่า เม็ดทรายที่หล่อเลี้ยงชายหาดในประเทศไทยนั้นเดินทางข้ามแดนมาจากฝั่งมาเลเซีย และมีทิศวิ่งขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนถึงนครศรีธรรมราชก็จะวิ่งกลับในอีกทิศหนึ่ง โดยแต่ละโซนของชายหาดในประเทศทั้งตะวันออก อ่าวไทย อันดามัน มีทิศทางการเคลื่อนที่ของเม็ดทรายที่แตกต่างกันออกไป 

ทิศทางการเคลื่อนที่ของตะกอนเลียบชายฝั่ง (ที่มา: สมปรารถนา, 2555)

“อืม…ต้องคิดเยอะขนาดนั้นเลยนะเรา นี่มาเที่ยวรึมาทำสารคดีเนี่ย” 

คืนนั้นทั้งคู่ไม่ได้นั่งถกปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆแบบที่เคยทำเวลาที่สองคนมาเจอกัน เพราะอยากเก็บแรงไว้สำหรับการเดินทางในวันพรุ่งนี้มากกว่า