จากข้อมูลในเพจ ตะโละปาตานี- Teluk Patani :อ่าวปัตตานี ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 ที่ได้กล่าวถึงโครงการสะพานข้ามอ่าวปัตตานีโดยเชื่อมระหว่าง เมืองปัตตานี และ แหลมตาชี ตำบลแหลมโพธิ์ เพื่อสร้างโอกาสแนวใหม่ของสังคมเศรษฐกิจ ของจังหวัดปัตตานี และชายแดนใต้ โดยได้มีการสอบถามความเห็นเบื้องต้นของโครงการนี้ภายใต้โจทย์
1. อ่าวปัตตานีตื้นเขินทุกปี เฉลี่ยปีละ 1 ซม ความลึกเฉลี่ยของอ่าว ประมาณ 1.25 – 2 ซม บริเวณ กลางอ่าวและก้นอ่าว ยกเว้นปากอ่าวตรง ปลายแหลม เฉลี่ย 3- 5 เมตร แต่ขุดลอกทุกปี ๆละ 70-90 ล้านบาท
2. ชาวประมงมีการพึ่งพาอ่าว ด้วยการทำประมงน้อยลง และมีการพึ่งพาอ่าวเชิงท่องเที่ยวมากขึ้น ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
3. คนตำบลแหลมโพธิ์ มีฐานะยากจน และอัตราดร้อปเอาท์ จากระบบการศึกษาของเด็กนักเรียน ในลำดับต้นๆ ของจังหวัดปัตาานี
4. มีสถานที่ท่องเที่ยว หาดทรายที่สวยงาม แต่การเดินทางค่อนข้างคอขวดในช่วงเทศกาลและเดินทางจากเมืองค่อนข้างไกล
5. การเคลื่อนย้ายของผู้คน เพื่อหาโอกาสเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ค่อนข้างไกล ต้นทุนสูง ส่งผลให้ Net Marginal Revenue ไม่เพิ่มขึ้น
Beach Lover ขอขยายความเฉพาะโจทย์แรก ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาหลักของอ่าวปัตตานีคือตะกอนตื้นเขินจนเกิดปัญหาด้านการสัญจรและการประมงที่มีมาอย่างยาวนานดังนี้
อ่าวปัตตานีประสบปัญหาตะกอนสะสมตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินเรือและการประมงในพื้นที่อย่างรุนแรง โดยปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัย รวมถึงการขุดลอกที่ไม่เหมาะสมและการจัดการทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง
สาเหตุของปัญหาตะกอนสะสม
- การขุดลอกที่ไม่เหมาะสม: โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีที่ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่าได้ทิ้งตะกอนทรายและวัสดุขุดลอกไว้ในบริเวณที่ทำการประมง ส่งผลให้เกิดสันดอนทรายซึ่งทำให้การเดินเรือของชาวประมงยากลำบากและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ (อ้างอิง)
- การไหลของน้ำ: อ่าวปัตตานีมีการไหลของน้ำที่จำกัด ทำให้ตะกอนสะสมตัวได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำจืดจากแม่น้ำยะหริ่งและแม่น้ำปัตตานีไหลลงสู่อ่าว (อ้างอิง)
- การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ: การสะสมของตะกอนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม (อ้างอิง)
ผลกระทบต่อชุมชน
- การประมงลดลง: ชาวประมงพื้นบ้านรายงานว่าปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้รายได้ลดลงจากวันละ 600-1,000 บาท เหลือเพียง 200-300 บาท (อ้างอิง)
- ปัญหาทางเศรษฐกิจ: การลดลงของรายได้ทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินและความยากจน ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กในชุมชน (อ้างอิง)
- การเดินเรือที่ยากลำบาก: สันดอนทรายที่เกิดขึ้นทำให้เส้นทางการเดินเรือเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่ไม่สามารถสัญจรได้ในช่วงน้ำลด ทำให้เกิดอุบัติเหตุเรือพลิกคว่ำ (อ้างอิง)
ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดย:
- นำสันดอนทรายออก: ชาวบ้านต้องการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขนย้ายสันดอนทรายที่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือและการประมง (อ้างอิง)
- การมีส่วนร่วมของชุมชน: มีการเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งตัวแทนชาวบ้านเพื่อมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงาน (อ้างอิง)
การจัดการปัญหาตะกอนสะสมในอ่าวปัตตานีเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว มิอาจดำเนินการได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และมิอาจดำเนินการได้โดยปราศจากข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าว ปริมาณน้ำ ปริมาณตะกอน โดยสามารถนำข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญเหล่านี้ มาวิเคราะห์อุทกพลศาสตร์ของน้ำในอ่าว เพื่อจะได้มาซึ่งวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องอิงตามหลักวิชาการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหานั้นไม่ใช่การแก้ที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสนับสนุนวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อย่างยั่งยืน
โครงการสะพานข้ามอ่าวหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลอย่างไรต่อการไหลเวียนของน้ำในอ่าว ปัญหาตะกอนตื้นเขินนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ อ่าวปัตตานีมีโอกาสจะปิดตายจนชาวบ้านต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นทดแทนจริงหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องตอบคำถามนี้ได้ด้วยข้อมูลทางวิชาการตามที่กล่าวมาข้างต้น
Beach Lover จะนำเสนอมาตรการหลักที่อาจปรับใช้ได้เพื่อจัดการปัญหาตะกอนตื้นเขินในอ่าวปัตตานีในโพสครั้งต่อไปในหมวด “วิชาการ” โปรดติดตาม