“กัดเซาะชายฝั่ง” สาธารณภัยที่อาจไม่เหลือแม้แผ่นดิน

บทความเป็น Original content หากนำบางส่วนของบทความไปใช้ประโยชน์ กรุณาอ้างอิงด้วย

“ภัยพิบัติอื่นเมื่อเหตุการณ์สงบลง เรายังคงเหลือผืนแผ่นดิน แต่ภัยจากการกัดเซาะชายฝั่งเมื่อผ่านพ้นไป เรามิอาจคาดเดาได้ว่าแผ่นดินจะกลับคืนมาเหมือนดังเดิมได้หรือไม่ และเมื่อไหร่”

ชายฝั่งทะเลตลอดแนว 3,151 กิโลเมตร ของประเทศไทยใน 23 จังหวัด กำลังตกอยู่ในสภาวะที่ถูกคุกคามทั้งจากธรรมชาติและด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง “กัดเซาะชายฝั่ง” ภัยนี้กำลังค่อยๆกลืนกินผืนแผ่นดินที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน บางสถานการณ์นั้นอาจพบเห็นผลกระทบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง หรือในบางสถานการณ์ก็อาจสร้างความเสียหายอย่างฉับพลันในวงกว้าง อันที่จริง “กัดเซาะชายฝั่ง” มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ดำรงอยู่เรื่อยมาอย่างยาวนาน แต่ที่เราเพิ่งรู้สึกว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลของมนุษย์ ก็เพราะการเจริญเติบโตของเมืองส่งผลให้เกิดการพัฒนาของพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต เราจึงสังเกตเห็นว่าภัยจากการกัดเซาะชายฝั่งนั้นเขยิบเข้าใกล้วิถีชีวิตของเรามากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งนั้นเกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ โดยภัยจากธรรมชาตินั้น มักเกิดขึ้นตามฤดูกาลและมักเกิดขึ้นในลักษณะที่ทำให้ชายหาดเสียสมดุลหรือถูกกัดเซาะไปเพียงชั่วคราว เช่น เราอาจสังเกตเห็นการกัดเซาะชายฝั่งในช่วงมรสุม แต่หลังจากมรสุมได้ผ่านพ้นไป ชายฝั่งจะค่อยๆปรับตัวคืนสู่สภาพเดิม และจะเป็นกระบวนการเช่นนี้หมุนเวียนไปเรื่อยๆตราบเท่าที่สมดุลของธรรมชาตินี้ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ทว่าภัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาริมชายฝั่งทะเล จะส่งผลให้กระบวนการทางธรรมชาตินี้ถูกแทรกแซง จนทำให้การปรับสมดุลของชายฝั่งผิดไปจากเดิม กล่าวคือ เราอาจเห็นการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นอย่างถาวร โดยไม่อาจกลับมาฟื้นคืนสภาพเดิมได้อีกแม้ผ่านพ้นช่วงมรสุมไปแล้วก็ตาม

ด้วยกิจกรรมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ขยับเข้าใกล้ทะเลมากกว่าในอดีตมาก และด้วยธรรมชาติทางทะเลที่คาดเดาได้ยาก “กัดเซาะชายฝั่ง” ควรถือเป็น “สาธารณภัย” และควรถูกกำหนดอย่างชัดเจนในนิยามของ คำว่า “สาธารณภัย” แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้วยเหตุผล 3 ประการดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 “กัดเซาะชายฝั่ง” มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของรัฐและเอกชน

ประการที่ 2 “กัดเซาะชายฝั่ง” คาดเดาความเสียหายจากผลกระทบได้ยาก แม้ความรุนแรงของธรรมชาติเท่ากันแต่ความเสียหายที่เกิดกับแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันด้วย อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) จะยิ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยที่เรามิอาจคาดเดาได้อย่างแม่นยำ นับว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากสาธารณภัยที่มีความไม่แน่นอนของผลกระทบสูง และยากจะควบคุม

ประการที่ 3 “กัดเซาะชายฝั่ง” เกิดขึ้นแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน เหตุเพราะปัจจัยทางธรรมชาติ อาทิ มรสุม พายุ ที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะนั้นเกิดขึ้นดำรงอยู่และหมดอิทธิพลไปในระยะเวลาสั้นๆ แต่ทิ้งความเสียหายไว้ยาวนาน ธรรมชาติจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการเยียวยาตนเองกว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หรือในบางกรณีก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้อีกเลย ซึ่งหากความเสียหายนี้ไม่ถูกบรรเทาเยียวยาอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีต่อสถานการณ์ จะส่งผลให้เกิดการลุกลามบานปลายและจัดการได้ยากมากขึ้น

ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการนี้ “กัดเซาะชายฝั่ง” ควรถือเป็น “สาธารณภัย” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้อำนาจและงบประมาณเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดจาก “กัดเซาะชายฝั่ง”เพื่อลดความเสียหายทั้งต่อรัฐและเอกชนบนความไม่แน่นอนของผลกระทบนี้ได้อย่างทันท่วงที

แล้วที่ผ่านมาประเทศไทยจัดการกับปัญหากัดเซาะชายฝั่งกันอย่างไร หากย้อนกลับมามองให้อดีตพบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักต่อประเด็นนี้คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งได้รับงบประมาณแผ่นดินรวมกันในปีงบประมาณ 2565 กว่า 1,400 ล้านบาท (https://beachlover.net/สดๆร้อนๆ-เปิดร่างงบประมาณป้องกันชายฝั่งประจำปี-2565/) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งประเทศ 

จวบจนถึงปัจจุบัน ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยกว่า 650 กิโลเมตร เต็มไปด้วยมาตรการป้องกันชายฝั่งหลายรูปแบบจากหลายหน่วยงาน (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2563)โดยทั้งหมดของมาตรการจากกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้นเป็นการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อป้องกันชายฝั่งทะเล กล่าวคือ กำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย และการเติมทรายชายหาด ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นใช้มาตรการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นสำหรับหาดโคลน และปักรั้วไม้ดักทรายสำหรับหาดทราย 

มาตรการทั้งหมดที่เคยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งที่ได้ผลดี ไร้ประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงแบบโดมิโน่ เหตุเพราะโครงสร้างป้องกันชายฝั่งโดยเฉพาะโครงสร้างทางวิศวกรรมนั้นถือได้ว่าแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งทะเลอย่างชัดเจน โครงสร้างอาจเกิดผลดี ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านหลังโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จริง แต่พื้นที่ใกล้เคียงกลับถูกส่งต่อผลกระทบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้สภาพทางสมุทรศาสตร์ที่มีความผันผวนสูง ความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลให้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่เคยได้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในบางช่วงเวลากลับหมดบทบาทลง เหลือเพียงสิ่งก่อสร้างที่ไร้ประสิทธิภาพทั้งยังส่งต่อผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ และพยายามหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ดีที่สุด ด้วยการที่หน่วยงานต้องป้องกันชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรงและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามภารกิจหน้าที่ที่แต่ละหน่วยงานพึงถือปฏิบัติ โครงสร้างป้องกันที่เกิดขึ้นริมชายฝั่งทะเลนี้จึงมีขนาดใหญ่โต เพื่อป้องกันผลกระทบจากการกัดเซาะในอนาคตตามอายุของโครงการเช่น 50 ปี หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไป โดยปรากฏชัดในหลายพื้นที่ว่าโครงสร้างป้องกันที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่โตเกินความจำเป็นไปมาก ยิ่งหากนำภาพฉายถึงสถานการณ์ในอนาคตที่โครงสร้างนี้จะต้องดำรงอยู่เพื่อป้องกันชายฝั่งต่อไปตามอายุโครงการ ยิ่งมิอาจแน่ใจได้เลยว่า กระบวนการทางทะเลและชายฝั่งที่เราจะต้องเผชิญอนาคตนั้นจะเป็นจริงได้ตามที่วิเคราะห์ไว้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับความแปรปรวนของธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

หากหน่วยงานยังคงแก้ไขปัญหาแบบเดิมเหมือนอย่างที่เคยมีมาในอดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือการใช้โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบถาวร ใหญ่โตเกินจำเป็น เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผลกระทบเกิดขึ้นในระดับฉุกเฉินเร่งด่วนนั้น เป็นไปได้ยากมากที่วิธีคิดและมาตรการแบบเดิมๆที่เคยถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจะทันท่วงทีต่อสถานการณ์นี้ และมิอาจแน่ใจได้ว่าโครงสร้างนั้นจะยังคงมีประสิทธิภาพดีในอนาคตตามที่คาดหมายไว้หรือไม่ เนื่องจากผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งเกิดในสเกลเวลา (Time scale) ระดับ วัน หรือ สัปดาห์ หรือในบางสถานการณ์ที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นในระดับชั่วโมงด้วยซ้ำ หากรอหน่วยงานใช้มาตรการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบถาวร ต้องรอคอยกระบวนการศึกษา ตั้งงบประมาณ และก่อสร้าง ไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งหมายความว่าความเร่งด่วนฉุกเฉินได้หมดลงไปแล้ว สถานการณ์ ความเสียหายที่เกิดจากการกัดเซาะอาจเปลี่ยนแปลงไปจนหมดแล้ว และเมื่อโครงสร้างนั้นแล้วเสร็จหลังจากภัยพิบัติผ่านไปนานไม่ต่ำกว่า 3 ปี เราอาจได้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมในยามที่ไร้ซึ่งความจำเป็นแล้วก็เป็นได้

แนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างทันท่วงทีคือการรีบเข้าไปจัดการเยียวยาความเสียหายนี้เป็นการเร่งด่วน เมื่อ “กัดเซาะชายฝั่ง” ถูกกำหนดไว้ในนิยามของคำว่า “สาธารณภัย” อย่างชัดเจน ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็จะเปิดทางให้ฝ่ายปกครองกล้าใช้อำนาจและงบประมาณเพื่อแก้ไขบรรเทาเยียวยาผลกระทบนี้ได้ทันที โดยที่มาตรการเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลนั้นควรสอดคล้องกันความเร่งด่วนฉุกเฉินนี้ กล่าวคือ ต้องสามารถก่อสร้างได้ในระยะเวลาไม่นาน รื้อถอนออกได้ยามหมดความจำเป็น และที่สำคัญ ต้องมีข้อกำหนดการเลือกใช้มาตรการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ 

ซึ่งหากนำมาถือปฏิบัติได้จริง หน่วยงานก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างที่ใหญ่โตเกิดความจำเป็น ทั้งยังแก้ไขปัญหาได้อย่างไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างป้องกันแบบถาวรต่อไปเรื่อยๆ สร้างเฉพาะที่จำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบและรื้อถอนออกได้ยามหมดความจำเป็น ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบที่ถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ข้างเคียงจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบถาวร ถือเป็นการสมประโยชน์ทั้งรัฐเองที่ได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน และประชาชนเองก็ได้รับความปลอดภัยและสวัสดิภาพกลับมา 

หากรัฐ เลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบเดิมๆ เราจะได้ชายฝั่งทะเลที่เต็มไปด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรมที่มั่นคงแข็งแรง และดำรงอยู่คู่กับชายหาดที่โครงสร้างเหล่านั้นป้องกันต่อไป แต่เรากำลังจะสูญเสียชายหาดส่วนที่เหลือจากผลกระทบที่ส่งต่อจากโครงสร้างเหล่านั้น หากรัฐยังคงยืนกรานเลือกที่จะสร้างโครงสร้างป้องกันอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผลที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นโดมิโน่ไม่จบสิ้น 

เรากำลังตรึงชายหาดกว่าสามพันกิโลเมตรด้วยหินและคอนกรีต และกำลังสูญเสียชายหาดไปอย่างถาวรด้วยการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเช่นนี้หรือ  หรือว่าเราควรหยุดวิธีการแบบเดิมๆ โดยหันมามองลู่ทางใหม่ๆที่จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งยังช่วยใช้ชายหาดนั้นดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อเป็นมรดกในรุ่นลูกหลานของเราสืบไป