เศรษฐกิจสีน้ำเงิน “Blue Economy” คืออะไร

การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าอย่าง ยั่งยืนหรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” หรือ Blue Economy ที่ผ่านมามีความพยายามขับเคลื่อนแนวคิด Blue Economy เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่พัฒนาบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน (https://tdri.or.th/2020/09/blue-economy-thailand/)

Beach Lover ขอพาสำรวจนิยามของ Blue Economy จากที่ต่างๆเพื่อใช้เป็นแนวอ้างอิงทางทฤษฎี ดังนี้

เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน (http://www.seafdec.or.th/knowledge/blue-economy/)

แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน 

  • จากการประชุมเวทีโลก (RIO+20) เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นดินควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • พัฒนาเป็นแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคทะเล เนื่องจากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
  • การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทวีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมทางทะเลและชายฝั่ง เป็นตัวเร่งให้เกิดการทำลายระบบนิเวศทางทะเล

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

  • การทำประมง (Fisheries)
  • การขนส่งทางทะเล (Transportation)
  • การท่องเที่ยว (Tourism)
  • แหล่งน้ำมัน (Energy)

ด้านบนนั้นเป็นนิยามที่หน่วยงานในประเทศไทยได้เผยแพร่ไว้ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายนิยามที่หน่วยงานต่างประเทศได้ให้ไว้ เป็นต้นว่า

ธนาคารโลก (World Bank) เศรษฐกิจสีน้ำเงินหมายถึง “การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างงาน โดยคำนึงถึงการรักษาสุขภาพของระบบนิเวศทางทะเล”

สหประชาชาติ (UN) ได้นิยามเศรษฐกิจสีน้ำเงินไว้มื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เป็นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวข้องหลากหลาย ซึ่งร่วมกันกำหนดว่า การใช้ทรัพยากรทางทะเลนั้นยั่งยืนหรือไม่ ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจสีน้ำเงินคือ การทำความเข้าใจและการจัดการ อย่างดียิ่งในหลาย ๆ ด้านของความยั่งยืนของมหาสมุทร ตั้งแต่การประมงแบบยั่งยืน ไปจนถึงสุขภาพของระบบนิเวศ และการป้องกันมลพิษ ประการที่สอง เศรษฐกิจสีน้ำเงิน ท้าทายให้เราตระหนักว่า การจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยความร่วมมือข้ามพรมแดนและภาคส่วนต่างๆ ผ่านความร่วมมือหลากหลายรูปแบบ และในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นงานที่ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็ก (SIDS) และประเทศด้อยพัฒนาที่สุด (LDCs) ที่เผชิญกับข้อจำกัดที่สำคัญ

สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะช่วยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ซึ่งเป้าหมายหนึ่ง หมายเลข 14 คือ ‘ชีวิตใต้ทะเล’

ศูนย์เพื่อเศรษฐกิจสีน้ำเงิน กล่าวว่า “ปัจจุบัน เศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน 3 ประการ แต่มีความแตกต่างกัน ดังนี้

1) ผลงานโดยรวมของมหาสมุทรต่อเศรษฐกิจ

2) ความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของมหาสมุทร

3) เศรษฐกิจมหาสมุทรเป็นโอกาสการเติบโตสำหรับทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

Commonwealth of Nations มองว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็น “แนวคิดใหม่ที่ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลหรือทรัพยากร ‘สีน้ำเงิน’ ของเราให้ดียิ่งขึ้น”

Conservation International เสริมว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงินยังรวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้รับการนำไปสู่การตลาด เช่น การกักเก็บคาร์บอน ป้องกันชายฝั่ง คุณค่าทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ”

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) นิยามว่า เศรษกิจสีน้ำเงิน คือ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร ทะเล และชายฝั่ง ครอบคลุมภาคส่วนที่หลากหลาย ทั้งภาคส่วนที่จัดตั้งมานานและภาคส่วนใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

ท่ามกลางกระแสการพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งและในทะเล Blue Economy เป็นประเด็นที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง