20 ปีก่อน สมัย Beach Lover ลงพื้นที่สำรวจชายฝั่งทะเล ต้องแบกกล้องฟิล์มตัวใหญ่ กล้องถ่าย VDO ขนาดเท่าเครื่องชงกาแฟสมัยนี้ แผนที่กระดาษมาตราส่วน 1:50,000 ม้วนเขื่องทุกระวางติดทะเล พร้อมสัมภาระพะรุงพะรัง โทรศัพท์ที่ไม่มีสัญญาณจีพีเอสและอินเตอร์เนท ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราอยู่ตรงไหนในแผนที่นอกจากการสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ คอยอ่านป้ายข้างๆทาง ร่วมกับการไถ่ถามจากคนรอบตัว
20 ปีก่อน ชายหาดภาคใต้แม้มีร่องรอยการกัดเซาะอย่างชัดเจนจากการแทรกแซงของมนุษย์ แต่ยังพอเสพความสมบูรณ์ของชายหาดสวยๆได้มากมาย ระหว่างทาง
20 ปีก่อน ณ หาดแห่งนี้ “บ้านหน้าศาล” คือตำแหน่งที่แวะเข้ามานั่งพักหาอะไรเย็นๆดื่ม ณ ชุมชนที่อยู่ประชิดชายฝั่ง และเป็นตำแหน่งที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรจากการสร้าง Jetty ของกรมชลประทานทางทิศใต้ สมัยนั้น ไม่มีใครฟังเรื่องอะไรแบบนี้ และไม่มีใครเชื่อว่า “ความวิบัติ” ของชายหาดจะเกิดขึ้นจริง
20 ปีต่อมา ชุมชนบ้านหน้าศาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งความเป็นชุมชนมุสลิมที่เคยจัดประเพณีมัสยิดบนชายหาดและในทะเล เมื่อพื้นที่ชายหาดเปลี่ยนแปลงไปประเพณีนั้นก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวบ้านออกจากที่เดิมเพราะปัญหาการกัดเซาะและน้ำทะเลเข้าท่วมหมู่บ้าน
20 ปี ที่เทคโนโลยีก้าวล้ำพัฒนาไปไกล เราสามารถลงพื้นที่สำรวจชายหาดได้อย่างตัวเบาด้วยโทรศัพท์มือถือพร้อม Application ที่พร้อมใช้เพื่องานสำรวจอัดแน่นอยู่ในเครื่องเดียว
… แต่บัดนี้ ชายหาดเมื่อ 20 ปีก่อนหลายแห่ง ได้ตายจากเราไปแล้ว เหลือเพียงภาพถ่าย ความทรงจำ
20 ปีนี้ มากเกินไปแล้วกับคำว่า “ไม่มีองค์ความรู้” “ไม่มีข้อมูล” “ไม่มีกฎหมาย” “ไม่มีงบประมาณ” ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ที่ของบประมาณแผ่นดินกันอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนรวมกันปีละพันกว่าล้านบาท
20 ปีนี้ มากเกินไปแล้วกับการแก้ตัวกันไปมาของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้นทุนที่ต้องจ่ายในอนาคตถ้ายังรีรอกันอยู่นี้ อาจหมายถึงการลบภาพชายหาดสวยๆหลายๆแห่งออกจากรายชื่อชายหาดในแผนที่ประเทศไทย อาจหมายถึง “การสูญเสียดินแดนที่เกิดจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันดินแดน” เสียเอง แล้วเมื่อนั้น … เราจะเรียกร้องทวงคืนจากใครได้