นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองสูงสุด คดีหาดสะกอม [7ก.ย.2564]

ที่มา: https://www.facebook.com/CommunityresourcecentreThailand/

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับชายหาดไปแล้วทั้งหมด 7 คดี สามารถติดตามได้จากหมวด คดีชายหาด

มาวันนี้ 1 ใน 7 คดีที่ถือได้ว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ของการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวข้องกับชายหาดคดีแรกของประทศไทยคือ หาดสะกอม จ.สงขลา ได้มีความเคลื่อนไหวครั้งแรกในรอบ เกือบ 10 ปีนับตั้งแต่ศาลปกครองชั้นต้นจังหวัดสงขลาได้มีคำพิพากษาในปี 2555

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อ.924/2554 ระหว่าง นายสาลี มะประสิทธิ์ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ผู้ฟ้องคดี กับ กรมเจ้าท่า ที่ 1 ที่ 2 กรมทรัพยากรทางชายฝั่งทางทะเล ที่ 3 ซึ่งเป็นการฟ้องเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการเขื่อนกันคลื่นและเขื่อนกันทรายบริเวณหาดสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีการดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551

ในการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ ศาลปกครองสูงสุดใช้แบบการนั่งพิจารณาในรูปแบบการประชุมออนไลน์ โดยใช้ระบบ Cisco Webex meeting อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด โดยมี นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี และ นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนในฐานะผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี เข้าร่วมการพิจารณา ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้เข้าร่วม ด้วย

ศาลได้อนุญาตให้ นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ได้แถลงการณ์ต่อศาลด้วยวาจา โดย นางสาวเฉลิมศรี ได้แถลงต่อศาลสรุปว่า เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ที่มีคำสั่งให้กรมเจ้าท่าจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการเขื่อนกันคลื่นและเขื่อนกันทรายบริเวณหาดสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา แม้โครงการจะได้มีการก่อสร้างเสร็จไปนานแล้ว เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของโครงการ ที่ทำให้ชายหาดด้านเหนือของโครงการเกิดการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่เป็นชาวประมงในพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการรับรองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ 2540 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558นอกจากนี้ นางสาวเฉลิมศรียังได้แถลงต่อศาลอีกว่า ในจังหวัดสงขลามีโครงการเขื่อนกันคลื่นลักษณะใกล้เคียงกับโครงการหาดสะกอม มีตัวอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่และมีการศึกษามากมาย ที่เห็นว่า เขื่อนกันคลื่นเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชายหาด ไม่ได้ช่วยในการป้องกันการกัดเซาะอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ทางผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีได้ทำคำแถลงการณ์ประกอบวันนั่งพิจารณาครั้งแรกเป็นหนังสือพร้อมส่งเอกสารเกี่ยวกับการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการเขื่อนกันคลื่น ยื่นต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564

ภายหลังจากที่ นางสาวเฉลิมศรีผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีได้แถลงต่อศาลแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนจึงได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงต่อศาลด้วยวาจา ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนพิจารณาการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ของศาลปกครอง โดยตุลาการเจ้าของสำนวนได้ชี้แจงต่อคู่ความว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นความเห็นที่เป็นอิสระไม่มีผลผูกพันต่อการพิพากษาคดีของคณะตุลาการเจ้าของสำนวน

ตุลาการผู้แถลงคดีได้ให้ความเห็น โดยสรุปได้ว่า

1.การดำเนินโครงการตามฟ้องไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากเห็นว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่บังคับใช้ในขณะดำเนินโครงการ จะมีการประกาศให้โครงการที่มีการถมทะเล เป็นประเภทโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก็ตาม แต่เนื่องจาก ลักษณะกรณีโครงการตามฟ้องเป็นเพียงเขื่อนหินทิ้ง ไม่มีการถมดินที่ให้มีที่ดินเพิ่มขึ้นหรือเป็นการสร้างเกาะเทียมขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า โครงการตามฟ้องเป็นเขื่อนกันคลื่นกันทราย ไม่เป็นการถมทะเล จึงไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวที่จะต้องจัดทำ EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรค 1 และประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรืกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

2. การไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยวิธีประชาพิจารณ์ไม่ถือเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ตามระเบียบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์พ.ศ. 2539 ข้อ 7 วรรค 1 กำหนดให้โครงการต้องจัดทำประชาพิจารณ์ แต่เป็นการกำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการจะจัดให้มีขึ้นหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น กรณีนี้แม้ไม่มีการจัดการรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่เป็นเหตุให้การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด

3.การดำเนินโครงการไม่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เนื่องจาก โครงการไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ แต่เป็นการแก้ปัญหาสำหรับการเดินเรือเนื่องจากเป็นเขื่อนกันทรายที่จะมาถมร่องน้ำสำหรับการเดินเรือ การดำเนินโครงการจึงไม่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว

4.การดำเนินโครงการเป็นการดำเนินการที่ได้สัดส่วน เมื่อเทียบประโยชน์สาธารณะกับผลกระทบส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่า โดยในปี 2536-2537 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการว่าจ้างให้บริษัทศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการ จากการศึกษาในช่วงฤดูมรสุม ลมตะวันออกเฉียงเหนือได้พัดพาตะกอนเข้าสู่บริเวณแนวชายฝั่ง ทำให้มีสันดอนทรายที่ทำให้เกิดการตื้นเขินบริเวณปากร่องน้ำ จึงส่งผลให้เรือประมงไม่สามารถเข้าออกได้อย่างสะดวกตลอดเวลาและเป็นปัจจัยสำคัญ จึงต้องดำเนินการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือประมงสามารถสัญจร การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทราย เมื่อคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้ร่องน้ำ การขจัดหรือลดปริมาณงานขุดลอกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงและขุดลอกร่องน้ำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงจำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้าง เพื่อทำหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายไม่ให้ผ่านร่องน้ำ ทำให้เรือประมงสามารถผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวกตลอดเวลาและมีความปลอดภัย กับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ประโยชน์สาธารณะย่อมมีมากกว่า การใช้ดุลยพินิจดำเนินโครงการดังกล่าว จึงชอบได้ด้วยหลักความได้สัดส่วน

ตุลาการผู้แถลงการณ์คดีเห็นว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง

ทั้งนี้ ตุลาการเจ้าของสำนวนได้แจ้งว่า หลังจากนี้ จะได้มีการนัดฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อไป