กรมโยธาฯ ไม่ดื้อ ยอมถอยสร้างเขื่อนกันคลื่น ‘หาดดอนทะเล’


ที่มา: https://www.thaich8.com

ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 นำเสนอประเด็นโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น หาดดอนทะเล หมู่ที่ 6 ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่า 70 ล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้มีผู้รับจ้าง คือ บริษัท เอส ซี จี 1995 จำกัด ใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำลังถูกคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมิได้ประสบปัญหาการกัดเซาะ จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการโดยเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวพูดคุยกับ ‘นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง’ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะผู้รับผิดชอบ แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงที่มาและความเป็นไปได้ในการยกเลิกโครงการเขื่อนกันคลื่นหาดดอนทะเลแห่งนี้

นายพงษ์นรา กล่าวว่า เขื่อนกันคลื่นหาดดอนทะเล เป็นโครงการที่ถูกเสนอมาจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คันธุลี เมื่อปี 2560 โดยอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพการถูกกัดเซาะจากคลื่นลม เมื่อกรมโยธาฯ ได้รับข้อมูล จึงส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ แล้วพบว่า มีปัญหาการกัดเซาะเกิดขึ้นจริง จากนั้นได้ออกแบบและตั้งงบประมาณโครงการในปี 2563

“การกัดเซาะชายฝั่ง เรียกว่า พลวัตร หมายถึง ไม่นิ่ง ปีนี้กัดเซาะตรงนี้ ปีหน้าไม่กัดเซาะ ดังนั้น เราจะดูภาพถ่ายทางอากาศโดยรวมว่า พื้นที่มีการกัดเซาะจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่า จริง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่มีการกัดเซาะ”

แล้วเมื่อกรมโยธาฯ ตั้งงบประมาณขึ้น ซึ่งถูกเสนอมาจากท้องถิ่น รองอธิบดีกรมโยธาฯ ระบุการยกเลิกจึงต้องให้ท้องถิ่นทำเรื่องเสนอขึ้นมา เพื่อให้กรมโยธาฯ ยกเลิก โดยยกเหตุผลสภาพพื้นที่ปัจจุบันไม่มีการกัดเซาะแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีประสานกับ อบต.คันธุลี ทำเรื่องขึ้นมา

“กรมโยธาฯ จะยกเลิกโครงการให้ เพราะตอนนี้เรายังไม่สร้างอะไรเลย ในเมื่อชาวบ้านไม่ต้องการ และสภาพการกัดเซาะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เรายินดีจะยกเลิก แต่ขอให้มีต้นเรื่องมาจากท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเป็นคนขอโครงการ ฉะนั้นต้องแสดงเจตจำนงขอยกเลิกโครงการ”

นายพงษ์นรา กล่าวต่อว่า ประเด็นคือ ผู้ริเริ่มเสนอโครงการฯ ได้แก่ นายมงคล ธรรมฤทธิ์ นายกอบต.คันธุลี และนายวัชรกรณ์ ชูแก้ว ปลัด อบต.คันธุลี เสียชีวิตแล้ว เหลือเพียง น.ส.สุพรรณี แพชนะ รองปลัด อบต.คันธุลี เพียงคนเดียว  ซึ่งรองปลัดไม่กล้าเซ็นขึ้นมา

“ผมบอกให้ทางโยธาธิการคุยกับจังหวัด ให้คุยกับผู้ว่าฯ แล้วผู้ว่าฯ ไปบอกให้ท้องถิ่นทำเรื่องแจ้งจังหวัดขอยกเลิก เราพร้อมยกเลิกอยู่แล้ว เราไม่ใช่จะดื้อทำ แต่ว่า การยกเลิกมีสัญญากับบริษัทอยู่ ถ้ายกเลิกโดยพละการ อาจมีคนที่อยากได้โครงการมาฟ้องร้องทีหลัง จึงต้องมีหนังสือจากท้องถิ่นเข้ามา ย้ำว่า กรมโยธาฯ ไม่ทำต่อ แต่ขอให้มีหนังสือจากท้องถิ่นมาให้เรา และตอนนี้ได้สั่งให้หยุดโครงการหมดแล้ว”

เมื่อถามถึงงบประมาณที่ถูกเบิกจ่ายไป โดยที่โครงการยังไม่ก่อสร้าง รองอธิบดีกรมโยธาฯ ชี้แจงผู้รับเหมาสามารถเบิกเงินล่วงหน้าตามระเบียบได้ร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมายินดีคืนให้ ไม่มีปัญหา ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่า เบิกหรือไม่เบิก แต่เป็นการเบิกตามระเบียบหลังจากเซ็นสัญญา หากโครงการใดถูกยกเลิก ผู้รับเหมาไม่คืนเงิน เราจะยึดหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารคืนหลวง หลวงจึงไม่ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรมโยธาฯ ไม่ได้อยู่เฉย ๆ ได้แจ้งท้องถิ่นให้ทำเรื่องมาขอยกเลิก เราพร้อมยกเลิกให้ และในพื้นที่ไม่มีการสร้างแล้ว ไม่มีการนำเครื่องไม้เครื่องมือ หรือไปเปิดพื้นที่ ไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น พร้อมระบุการกัดเซาะเป็นเรื่องธรรมชาติ ปีนี้กัดเซาะตรงนี้ ปีหน้ากัดเซาะที่อื่น แต่การจะแก้ไขปัญหาต้องดูภาพรวม ซึ่งหาดดอนทะเลมีภาพรวมถูกกัดเซาะจริง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ดังนั้นเมื่อท้องถิ่นไม่อยากทำ เราก็จบ ไม่ใช่ว่าดื้อ แล้วทำให้มีปัญหาในพื้นที่

“ชาวบ้านสบายใจเลย ว่าท้องถิ่นไม่เอา เรายกเลิกได้แน่นอน” นายพงษ์นรา กล่าว และขอให้เชื่อมั่นว่า กรมโยธาฯ พร้อมยกเลิกโครงการ แต่ขอให้ท้องถิ่นทำหนังสือแจ้งความประสงค์ เนื่องจากมีสัญญากับเอกชนอยู่ เพราะกรมทำตามคำร้องขอท้องถิ่น  ถ้าเกิดท้องถิ่นไม่ร้องขอ เราก็ไม่ทำ