โฉลกหลำ กำลังจะมีกำแพง !?

อ่าวโฉลกหลำ เป็นชายหาดด้านทิศเหนือของเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี มีความยาวตามแนวชายฝั่งประมาณ 1.4 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งคล้ายครึ่งวงกลม มีท่าเทียบเรือประมงอยู่บริเวณเกือบๆกลางอ่าวยื่นออกไปยาวประมาณ 80 เมตรจากฝั่ง

หาดโฉลกหลำ (Google Earth)

ในอดีต อ่าวโฉลกหลำเป็นสถานที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงท้องถิ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะพะงันมาอย่างยาวนาน อาชีพ หลัก คือ การทำประมง เมื่อออกเรือหาปลาหรือได้ สัตว์น้ำมาก็จะทำการแปรรูปหรือถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือน และส่วนที่เหลือก็จะจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้สู่ครอบครัว (https://th.tripadvisor.com) เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกับการมาถึงของธุรกิจท่องเที่ยว อ่าวโฉลกหลำบางส่วนโดยเฉพาะโซนหน้าทะเลกลายเป็นที่ต้องของรีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว

ในเดือนมกราคม ปี 2560 ตัวแทนท้องถิ่นได้ยื่นเอกสารไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อขอให้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องน้ำทะเลกัดเซาะ หลังจากนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบเพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระยะทาง 400 เมตร ปัจจุบันงานศึกษาออกแบบและงานรับความคิดเห็นประชาชนจำนวน 2 ครั้งได้เสร็จสิ้นลงแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการขอตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้าง คาดว่าน่าจะใช้ค่าก่อสร้างประมาณ 40 ล้านบาท (คำนวณจากค่าเฉลี่ยต่อเมตรของงานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองในอดีต https://beachlover.net/งบประมาณสร้างกำแพงกันคลื่น-2554-2565-โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง/)

Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจภาคสนามในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูมรสุมของทะเลแถบนี้ เฉพาะส่วนของพื้นที่โครงการที่วางแผนจะก่อสร้าง ตลอดแนวพบชายหาดทรายขาวละเอียด พบร่องรอยการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยกระสอบทรายขนาดเล็กประปราย พบกำแพงริมทะเลสร้างโดยเอกชนที่มีที่ดินประชิดหาด และไม่พบร่องรอยของชายหาดที่ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง

นอกจากนั้นยังพบว่าเจ้าของบ้านที่ไม่มีกำแพงกันที่ดินของตนเองริมทะเล ได้ทำการปลูกแบบเรือนแบบยกใต้ถุนสูง คาดว่าเพื่อให้น้ำทะเลลอดเข้าไปใต้ถุนบ้าน เพื่อทำให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Beach Lover ได้เดินเท้าสำรวจไปจนถึงตำแหน่งที่ไม่สามารถเดินต่อไปได้เนื่องจากมีโครงสร้างคอนกรีตยื่นล้ำลงมาในทะเล ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านอาหารและที่พัก หากมองจากมุมปลายสะพานปลา จะพบว่าตลอดทั้งแนวชายหาดส่วนนี้กว่า 400 เมตร มีเฉพาะที่ดินบริเวณนี้เท่านั้นที่มีโครงสร้างกำแพงและบันไดคอนกรีตยื่นลงไปในทะเลมากกว่าที่ดินบริเวณอื่นบนหาดเดียวกัน

กำแพงกันคลื่นที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วถึงสองรอบจะมีรูปแบบอย่างไร บนชายหาดที่เมื่อประเมินด้วยสายตาแบบ Snapshot แล้วไม่ปรากฏความรุนแรงของการกัดเซาะในระดับที่ต้องใช้โครงสร้างป้องกันขนาดใหญ่ปิดชายหาดตลอดแนว 400 เมตร เป็นเรื่องที่ต้องตามต่อกับงานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่ บนชายหาดท่องเที่ยวของเกาะอันเลื่องชื่อระดับโลกแห่งนี้