เปิดภาพมุมสูงกำแพงกันคลื่นที่กำลังก่อสร้างใน 7 พื้นที่

[ภาพเมื่อ: ก.ค.2563]

Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจกำแพงกันคลื่นตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลที่ได้นั้นเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่เผยให้เห็นถึงการระบาดของโครงสร้างป้องกันชายฝั่งประเภท “กำแพงกันคลื่น” (Seawall) ที่เริ่มพบการระบาดหนักหลังปี 2556 เนื่องจากถือเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) (ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จาก https://beachlover.net/ประกาศ-eia-2555/ และ https://beachlover.net/ประกาศกระทรวงทรัพยากร-2/ )

ในร่างงบประมาณประจำปี 2564 นี้ รัฐ ได้ตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งไว้ใน 3 กรม จาก 3 กระทรวง รวม 1,735,484,800 บาท (ศึกษาเพิ่มเติมจาก https://beachlover.net/ร่างงบประมาณ-ชายฝั่ง-2564/) โดยทั้ง 80 โครงการในปี 2564 จาก 3 กรมนั้น เกือบทั้งหมดเป็นโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่ไม่จำเป็นต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

หากพื้นที่นั้นมี “ความจำเป็น” มากเพียงพอ และหา “ทางรอด” โดยใช้มาตรการอื่นๆไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราว การเติมทรายชายหาด หรือการใช้มาตรการอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ควรแสดงเหตุผลอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งหาแนวทางบรรเทาผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณาโครงการ หากดำเนินการอย่างครบถ้วน “ทางรอด” นั้น ก็คงจะ “รอด” ได้จริงตามที่รัฐต้องการ

แต่หากการเกิดขึ้นของโครงการนั้นไร้ซึ่งความจำเป็น รวมถึงไม่แสดงข้อมูลอย่างถูกต้องและรอบด้านต่อผู้มีส่วนได้ส่วนแสียแล้ว “ทางรอด” ที่ว่านี้ อาจกลับกลายเป็น “ทางตัน” และนำพาสารพัดปัญหาแก่รัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างที่ได้เห็นกันในหลายๆตัวอย่างที่เกิดการฟ้องร้องระหว่างรัฐและประชาชน (ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/คดีชายหาด/)

ภาพจากงานสำรวจกำแพงกันคลื่นใน 7 พื้นที่ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ผนวกกับข้อมูลประกอบอื่นๆ ทำให้เกิด “ความกังขา” ต่อรัฐในหลายประเด็น

รัฐทราบหรือไม่ว่า…เสาเข็มแต่ละต้นที่ตอกลงบนชายหาด หินแต่ละก้อนที่ทิ้งลงบนหาดทรายนุ่มๆคือการตรึงชายหาดให้อยู่กับที่ กักขังความเป็นอิสระของกระบวนการทางธรรมชาติ

รัฐเข้าใจหรือไม่ว่า…เรามิอาจขืนใจบังคับกระบวนการชายฝั่งให้อยู่ในร่องในรอยนี้ได้นานนัก ไม่นานธรรมชาติจะทวงคืนอิสระนี้กลับคืนไป

รัฐรู้อยู่แก่ใจใช่ไหมว่า…โครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบนี้ในหลายพื้นที่ เป็นการใช้งบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ

รัฐรู้ทั้งรู้ใช่ไหมว่า…เมื่อสร้างแล้ว ต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องตั้งงบประมาณต่อไปเรื่อยๆเช่นเดียวกัน

รัฐตระหนักหรือไม่ว่า…ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะขลิบชายหาดตลอดแนวด้วยกำแพงกันคลื่น

รัฐคาดเดาได้หรือไม่ว่า…เมื่อชุมชนริมชายฝั่งตื่นรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากกำแพงกันคลื่น จะเกิดแรงกระเพื่อมอย่างไร

บ่ออิฐ-เกาะแต้ว จ.สงขลา
ชิงโค จ.สงขลา
ปากน้ำแขมหนู จ.จันทบุรี
สวนสน จ.ระยอง
ปากแตระ จ.สงขลา
หน้าสตน จ.นครศรีธรรมราช
มหาราช จ.สงขลา

หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ปรับเปลี่ยนมุมมองเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เราอาจได้ชายหาดที่ “ถูกขลิบ” ตลอดแนวสามพันกว่ากิโลเมตร เมื่อถึงเวลานั้น ภาพหาดทรายที่เราถ่ายเก็บไว้ในยุคสมัยนี้ อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำที่มิอาจย้อนคืนได้