เครือข่ายฯกัดเซาะชายฝั่งปัตตานี เรียกร้องให้รัฐบาลเเก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ที่มา: https://www.facebook.com/Beachforlife.BFL

วันนี้ 29 ตุลาคม 2564 องค์กรนักศึกษา เยาวชน เเละภาคประชาชน ในจังหวัดปัตตานี 23 องค์การ ในนามเครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน จังหวัดปัตตานี ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เเละตัวเเทนสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร ในจังหวัดปัตตานี ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี โดยมี 8 ข้อเรียกร้องสำคัญ

1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง

2. ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

3.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไป อย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราว ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม

4. รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง

5. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเอง ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

6. คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่ง ต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

7. รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

8. ปัจจุบันจังหวัดปัตตานีมีสถานการณ์การขุดลอกอ่าวปัตตานี ทำให้เกิดสันทรายขนาดใหญ่กลางอ่าวปัตตานี กระทบต่อการเดินเรือของประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง การจับสัตว์น้ำ และกระทบระบบนิเวศในอ่าวปัตตานี ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดลอกสันทรายบริเวณอ่าวปัตตานี จากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีโดยกรมเจ้าท่าออกจากอ่าวปัตตานี โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ นาย อันวาร์ สาและ สมาชิกสภาผู้เเทนพรรคประชาธิปัตย์ นายสมุติ เบ็ญขลักษณ์ สมาชิกสภาผู้เเทนราษฏร์พรรคประชาชาติ ผู้เเทน พรรคก้าวไกล เเละพรรคภูมิใจไทยเข้ารับหนังสือจาก เครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนจังหวัด ปัตตานี เรียกร้องให้รัฐบาลเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน