อ่าวเคยตั้งอยู่ใน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง มีความยาวตามแนวชายฝั่งประมาณ 1.7 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นหาดทรายยาวต่อเนื่องตลอดทั้งแนว พื้นที่ทางทิศใต้เป็นชุมชนประมงขนาดเล็กมีบ้านเรือนประชิดชายหาด 2 หลัง และมีโรงเก็บอุปกรณ์ประมง 1 หลัง ตลอดแนวเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิปะปนอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย แต่มิได้อยู่ประชิดทะเล
จากการสำรวจภาคสนามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบซากปรักหักพังของโครงสร้างบางอย่างบนชายหาด โดยชาวบ้านเล่าว่าเคยเป็นทางลาดคอนกรีตมาก่อน แต่พายุซัดพังจนไม่สามารถใช้งานได้
ในอดีตชาวบ้านได้ร้องขอความอนุเคราะห์โครงการป้องกันชายฝั่งไปที่กรมเจ้าท่า จากนั้นกรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบ โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านอ่าวเคย หมู่ 5 ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง สัญญาจ้างลงวันที่ 26 กันยายน 2556 วงเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 9,992,950 บาท จากผลการศึกษา รูปแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะที่มีความเหมาะสมคือ
- ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น 1 ตัว ยาว 300 เมตร ยื่นตั้งฉากกับเขาอ่าวเคย ด้านทิศตะวันตก
- ก่อสร้างรอดักทราย 1 ตัว ยาว 100 เมตร บริเวณเขาบางเบน ด้านทิศตะวันออก
- ก่อสร้างกำแพงหินทิ้ง (Revetment) บริเวณริมชายฝั่งความยาวประมาณ 1,700 เมตร
- เสริมทรายด้านหลังกำแพงหินทิ้ง
เมื่อครั้งยื่นเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ สผ. เมื่อปี 2559 ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก) มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นกรมเจ้าท่าได้นำเสนอรายงานอีกครั้งหลังการปรับแก้เมื่อปี 2562 แต่ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก) ยังคงมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ กรมเจ้าท่าจึงได้ปรับรูปแบบใหม่โดย ยกเลิกงานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นด้านทิศตะวันตก และรอดักทรายด้านทิศตะวันออก โดยก่อสร้างเฉพาะกำแพงหินทิ้งริมชายฝั่ง (Revetment) ความยาวประมาณ 1,700 เมตร และมีการเสริมทรายหลังเขื่อนหินทิ้งดังกล่าว ส่งผลให้โครงสร้างนี้ไม่ต้องนำไปยื่นต่อ สผ.อีกแล้วเนื่องจากไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
หลังจากนั้น กรมเจ้าท่าได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกับเจ้าของพื้นที่ซึ่งก็คืออุทยานแหลมสน โดยทางอุทยานได้แจ้งกลับในเดือนมีนาคม 2563 ว่า กำแพงหินทิ้งริมชายฝั่งเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมที่จะมีผลทำให้สภาพชายหาดอ่าวเคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างถาวร จึงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว และขอให้ปรับเปลี่ยนเป็นโครงสร้างชั่วคราว เช่น รั้วไม้ดักตะกอน เป็นต้น
นอกจากนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แจ้งกรมเจ้าท่าในเดือนเมษายน 2563 ว่าชายหาดบ้านอ่าวเคยมีลักษณะเป็นชายหาดสมดุล แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมคือ การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี กรมเจ้าท่ายังคงยืนยันว่าชายฝั่งบริเวณบ้านอ่าวเคยประสบปัญหาการกัดเซาะ สมควรได้รับการแก้ไข โดยรูปแบบที่เหมาะสมทางด้านวิชาการและเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ คือการก่อสร้างกำแพงหินทิ้งริมชายฝั่ง โดยมีความพร้อมในการของบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องราวที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2556 จะจบลงอย่างไร ในขณะที่บริบทของชายหาดได้เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ริเริ่มโครงการแล้วจนหมดสิ้น ความเดือดร้อนฉุกเฉินก็ได้หมดลงไปแล้วเช่นกัน หน่วยงานไหนจะได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้และด้วยมาตรการใด … รอติดตามอย่างใจเย็น