หาดพัทยาพัง! รอบที่เท่าไหร่แล้ว?

ที่มา: https://web.facebook.com/STVPattaya

เรื่องมันจบยาก…ฝนตกทุกครั้ง ชายหาดพัทยาพังทุกเที่ยว ชาวบ้านถามหาแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ดีแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ปัญหาน้ำท่วมขัง นอกจากจะเป็นปัญหาผูกขาดที่อยู่คู่กับเมืองพัทยามาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าแก้ไขไม่เด็ดขาด เบ็ดเสร็จเสียที ทั้งที่ผ่านมาแม้ว่าเมืองพัทยาจะมีการตั้งงบประมาณและโครงการต่างๆเพื่อรองรับแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง หลายรอบ หลายยุคสมัย หลายสมัยการปกครอง หมดงบประมาณไปหลายร้อยล้านบาท ทั้งโครงการแก้น้ำท่วมบนถนนสุขุมวิทซึ่งเป็นสายหลัก ตลาดนาเกลือ หนองใหญ่ ถนนเลียบทางรถไฟ เขาตาโล เขาน้อย ซอยบัวขาว ถนนพัทยาสาย 3 หรือแม้แต่ถนนพัทยาสายเลียบชายหาด

และที่เด่นชัดที่สร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อการท่องเที่ยว คือการระบายน้ำฝนที่ปะปนกับน้ำเสียลงสู่ทะเล รวมและปริมาณน้ำที่หลาลงบนชายหาดพัทยา ที่กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพในการทุ่มงบประมาณ 400 กว่าล้านบาทในการเสริมทรายในระยะ 50 เมตรจากแนวฟุตบาทเพื่อเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ด้วยพบว่ามีนัยยะของการกัดเซาะอย่างรุนแรง แต่ทุกครั้งตามข้อตกลงก่อนดำเนินการที่เมืองพัทยาตบปากรับคำว่าจะจัดทำระบบดักน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำพัดทรายไหลลงสู่ทะเล แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีพายุฝนตกต่อเนื่องลงครั้งใด เมืองพัทยาก็ต้องประสบพบเจอกับปัญหาท่วมขังซ้ำซากแบบนี้ทุกครั้ง

แม้จะตอบได้ว่าปัจจุบันมีการระบายน้ำที่รวดเร็วขึ้นก็ตาม โดทุกครั้งมัก จะมีเหตุผลที่วาเมืองพัทยาอยู่ในพื้นที่ต่ำที่ต้องรองรับมวลน้ำจากเทศบาลข้างเคียงที่มีพื้นที่สูงกว่าถึง 60 เมตร ในขณะที่ท่อระบายน้ำเดิมของเมืองพัทยาที่ใช้กันมาแต่อดีตรวมระยะทางนับพันกิโลเมตรนั้นมีขนาดความกว้างไม่เกิน 60-800 ม.ม.เท่านั้น

ส่วนโครงการที่จัดทำไปก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นการจัดทำเพื่อให้มีการระบายน้ำที่รวดเร็วมากขึ้นและลดความเสียต่อทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด โดยขณะที่กำลังรอแผนแม่บทของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่รัฐบาลมอบหมายจะให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในงบประมาณนับหมื่นล้านบาท ซึ่งยังคงตอบไม่ได้ว่าจะดำเนินการเมื่อใด

ปัจจุบันสิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็การใช้งบประมาณในการนำกำลังคนและเครื่องจักรลงพื้นที่ชายหาดพัทยาเพื่อเกลี่ยทรายให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมโดยเร็วที่สุด เพราะเมื่อเกิดปัญหาน้ำหลากครั้งใด ก็จะมีภาพความเสียหายต่อชายหาดเกิดขึ้นเมื่อนั้น

กรณีนี้มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตานักท่องเที่ยวออกไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ปัจจุบันเมืองพัทยาได้ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางของ EEC แท้ๆ แต่ทิศทางการพัฒนากลับยังไม่ชัดเจนและยังขาดอีกหลายปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ กลายเป็นมหานครแห่งอุตสาหกรรม การลงทุน และการท่องเที่ยว สำหรับชายหาดพัทยานอกจากจะยังไม่มีแผนกับการแก้ไขปัญหามวลน้ำหลากลงทะเลที่ชดเจนจนทำให้ทรายก็นำมาเสริมถูกคลื่นซัดหายไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้กรมเจ้าท่าคงทราบเป็นอย่างดีถึงมีแผนที่จะต้องมีการเสริมทรายเพิ่มใหม่ในทุก 15 ปี

ขณะนี้ภาพรวมของการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาเริ่มกระเตื้องขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคบิด-19 ที่เบาบางลง และหลายประเทศอนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกได้ตามปกติ แต่จุดขายของเมืองพัทยานอกจากจะเป็นเมืองของนักท่องเที่ยวราตรีแล้ว สถานที่ท่องเที่ยว ชายหาดที่สวยงาม ความเพียบพร้อมในสิ่งอำนวยความสะดวกก็เป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่สร้างงบประมาณให้กับประเทศปีละนับแสนล้านบาท

คงถึงเวลาที่ยุคนี้จะต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เมืองพัทยาเป็นประเทศพัทยาที่คนทั่วโลกรู้จัก และอยากมาสัมผัสที่ให้อรรถรสครบทั้งการพักผ่อน กีฬา และกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย…