หาดบางเนียง พัง(งา)! ยังสบายดีไหมหลังมรสุม

หลังผ่านพ้นพายุโนอึลไปเมื่อกลางเดือนกันยายน 2563 Beach lover ได้นำเสนอปัญหากัดเซาะบริเวณหาดบางเนียงไปแล้วตามโพส https://beachlover.net/หาดบางเนียงพังงา/

หลังจากนั้นได้ทราบข่าวว่ามีความพยายามร่วมกันหารือเพื่อป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้จากทั้งรัฐและเอกชน โดยทางเจ้าของที่ดินเองได้นำทรายด้านหน้าหาดมาถมพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะไป แต่ก็ไม่เป็นผล Beach Lover ได้มีโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์นี้อีกครั้งช่วงสิ้นสุดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563

ภาพจากมุมใต้สุดถ่ายไปทางทิศเหนือ (ภาพเมื่อ 28 ธันวาคม 2563)
ภาพจากมุมใต้สุดถ่ายไปทางทิศเหนือ (ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563)

พบว่าพื้นที่ที่เคยถูกกัดเซาะนั้นบางส่วนยังคงสภาพเดิม บางส่วนทางเจ้าของพื้นที่ได้ทำดินมาถมเพื่อปรับพื้นที่ด้านบนให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะประกอบกิจการต่อได้ และเมื่อระดับน้ำทะเลลดระดับลงเป็นปกติไม่สูงเหมือนช่วงมรสุมก็ส่งผลให้คลื่นซัดเข้ามาไม่ถึงพื้นที่ด้านในแล้ว

เมื่อเดินถัดไปตามแนวชายฝั่งทางทิศเหนือของพื้นที่แถวๆปากคลองพบว่า พื้นที่ส่วนนี้ยังคงปกติไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะ โดยพบว่าแนวฝั่งเป็นแนวเดียวกันกับแนวกำแพงกันคลื่นเดิมทางทิศใต้ ความหมายคือ การกัดเซาะในพื้นที่นี้เป็นการกัดเซาะที่เรียกว่าเฉพาะถิ่น หรือ Local effect จากการแทรกแซงสมดุลชายฝั่งที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะในพื้นที่

หาดด้านทิศเหนือถัดจากพื้นทีกัดเซาะขึ้นไปประมาณ 200 เมตร (ภาพเมื่อ 28 ธันวาคม 2563)
หาดส่วนนี้อยู่ในแนวเดียวกันกับกำแพงทางทิศใต้ (ภาพเมื่อ 28 ธันวาคม 2563)

ตามที่เคยได้อธิบายไว้ในโพสก่อนหน้านี้แล้วว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแทรกแซงสมดุลชายฝั่งจนส่งผลให้พื้นที่นี้ถูกกัดเซาะมากขึ้นกว่าปกติในรูปแบบที่ผิดธรรมชาติ (โค้งเว้า) ก็เพราะกำแพงกันคลื่นที่อยู่ทางทิศใต้นั่นเอง (ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกำแพงกันคลื่น https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/ และ https://beachlover.net/seawall/)

กำแพงกันคลื่นทางทิศใต้ (ถ่ายไปทางทิศใต้)(ภาพเมื่อ 28 ธันวาคม 2563)
กำแพงกันคลื่นทางทิศใต้ (ถ่ายไปทางทิศเหนือ)(ภาพเมื่อ 28 ธันวาคม 2563)

เป็นความจริงที่ว่าในอดีตกำแพงกันคลื่นบนพื้นที่เอกชนแห่งนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งเข้ามาประมาณหนึ่ง ไม่ถึงกับประชิดน้ำทะเลมาก แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงของทั้งคลื่นลม ระดับน้ำทะเล ประกอบกับปราการทางธรรมชาติเพื่อช่วยป้องกันคลื่นสำหรับชายหาดแถบนี้อย่างแนวโขดหินใต้น้ำและปะการังธรรมชาติได้ถูกทำลายไปในช่วง Tsunami 2004 ส่งผลให้ชายหาดโดยภาพรวมของพังงาเริ่มกัดเซาะมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเป็นเหตุให้กำแพงกันคลื่นของเอกชนที่สร้างทางทิศใต้ของพื้นที่เข้ามาอยู่ในระยะประชิดน้ำทะเลมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้กำแพงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรบกวนการเคลื่อนที่ของคลื่นและตะกอนชายฝั่ง จึงเป็นเหตุให้พื้นที่ทางทิศเหนือของกำแพงเกิดการกัดเซาะในลักษณะโค้งเว้าจากการเลี้ยวเบนของคลื่นตามที่เห็น

มาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบของรัฐจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ระหว่างนี้ปัญหาเฉพาะหน้ายามมรสุมเป็นสิ่งที่รัฐควรคำนึงถึงเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ริมชายหาด