หาดบางเนียงพัง(งา)!

Beach Lover ได้ลงสำรวจชายหาดบางเนียง จ.พังงา ในช่วงที่พายุโนอึลเข้าประเทศไทยพอดี แม้ว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันด้วย ตามปกติแล้ว ทะเลแถบนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ระหว่าง พ.ค.-ต.ค. ของทุกปี แต่เมื่อมีของแถมคือพายุโนอึลเข้ามาเสริม ก็ยิ่งส่งผลให้คลื่นลมในช่วงมรสุมนี้ทวีกำลังแรงขึ้นอีก

หาดบางเนียง พังงา

ชายหาดบางเนียง จ.พังงา เป็นหนึ่งในชายหาดเลื่องชื่อแห่งหนึ่งของพังงา ที่มักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้จะไม่มีสนามบินและระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกนักจากจังหวัดใกล้เคียง แต่นักท่องเที่ยวยังนิยมมาเที่ยวทะเลแถบนี้ ด้วยชายหาดกว้างและยาว ที่ยังคงความสมบูรณ์ ความดิบๆของหาดที่ยังไม่ได้ถูกปรุงแต่งมากนัก เรามักเห็นนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักรักสงบ ที่หลีกหนีความวุ่ยวายของเกาะภูเก็ตนิยมมาพักผ่อนที่นี่ โรงแรมที่พักที่ติดชายหาดแถบนี้มักมีความหรูหราราคาแพง และเบ็ดเสร็จในตัว เรียกได้ว่าเข้าที่พักแล้วไม่จำเป็นต้องออกไปไหนก็มีบริการเกือบทุกสิ่งอย่างสะดวกสบาย

ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563

พบว่าด้านหน้าชายหาดของที่พักส่วนตัวและรีสอร์ทเกือบทุกแห่งแถบนี้ มีการป้องกันพื้นที่ตนเองโดยการสร้างกำแพงกันคลื่นเกือบตลอดแนวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งกำแพงคอนกรีตแบบแนวดิ่ง แบบลาดเอียง แบบหินเรียง แบบหินทิ้ง กระสอบทราย ท่อซีเมนต์ เสาคอนกรีต และอีกหลายรูปแบบที่ดูเหมือนจะจมลงไปอยู่ใต้ทรายบ้างแล้วตามร่องรอยที่ปรากฏ โดยจากหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth พบว่า ได้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นริมทะเลในบริเวณนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2014 แล้วเกือบตลอดทั้งแนว

ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563
ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563

Beach Lover ได้เคยนำเสนอข่าวในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ว่าชายหาดแถบนี้เสียหายจาก “พายุโพดุล” ติดตามได้จาก https://beachlover.net/ทะเลอันดามันคลื่นลมแรง/ ปีนี้ก็เช่นกัน “พายุโนอึล” ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนเหนือของชายหาดบางเนียงเสียหายตามที่ปรากฏในภาพ

ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563
ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563

พื้นที่ที่ถูกกัดเซาะอย่างหนักนี้อยู่ทางทิศเหนือถัดจากปลายกำแพงกันคลื่นด้านหน้าบ้านพักริมทะเลแห่งหนึ่ง ตามภาพด้านล่าง ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งใดๆ โดยพบว่ามีซากของวัสดุก่อสร้างหลากหลาย รวมถึงโครงสร้างที่ดูเหมือนเคยเป็นกำแพงกันคลื่นแต่ได้พังเสียหายและจมอยู่ด้านหน้าพื้นที่ อันแสดงถึงความพยายามเพื่อป้องกันพื้นที่นี้ไม่ให้ถูกกัดเซาะ

ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563
ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563
ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563

เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้อย่างง่ายๆ (ไม่มีการปรับพิกัดภาพ ใช้แนวสันหาดที่ปรากฏชัดเจนในภาพถ่ายเป็นตัวแทนเส้นชายฝั่ง) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth แล้วนั้น พบว่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ 2017-2020 พื้นที่นี้มีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา โดยในเดือนธันวาคม ปี 2017 พบเส้นชายฝั่งถูกกินลึกเข้ามาด้านในมากที่สุด แต่พบว่าระยะทางกัดเซาะที่มากที่สุดนั้นอยู่บริเวณที่ติดกับโครงสร้างกำแพงของที่พักทางทิศใต้ โดยถูกกัดเซาะไปแล้วเป็นระยะทางประมาณ 24.5 เมตรในระยะเวลา 3 ปี (ก.พ.2017-ม.ค.2020) โดยสามารถสังเกตเห็นการเว้าโค้งของชายหาดที่ถูกกัดเซาะได้อย่างชัดเจนจากภาพ (ศึกษาผลกระทบของกำแพงกันคลื่นได้จากโพสเก่าๆ เช่น https://beachlover.net/seawall/)

กระนั้นก็ตาม พบว่ามีความพยายามสร้างที่พักบริเวณนี้ที่อยู่ในระยะประชิดชายหาดมาก และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะในช่วงมรสุมมากเช่นกัน

ภาพเมื่อ 20 กันยายน 2563

จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ชายหาดบางเนียงทางตอนเหนือบริเวณที่ไร้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลอยู่แล้วเป็นปกติ ส่วนในฤดูมรสุมหรือเหตุการณ์พิเศษเช่นพายุโนอึลนี้ ยิ่งเสริมกำลังให้คลื่นมีพลังทำลายล้างมากขึ้น เมื่อรวมกับระดับน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้นในช่วงมรสุมด้วยแล้ว จะยิ่งส่งผลให้ชายหาดส่วนที่ไร้โครงสร้างได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างป้องกันที่อยู่ข้างเคียงเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้แล้ว คำถามสำคัญก็คือ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เหตุใดจึงไม่เรียนรู้ที่จะถอยออกมาอยู่ในระยะปลอดภัย ปล่อยให้คลื่นลมได้มีพื้นที่ Exercise พลังงานของมันในช่วงมรสุมบ้าง มิฉะนั้นความเสียหายที่ตามมาอาจเกินความคาดหมาย และเกินความสามารถที่มนุษย์จะเยียวยาได้ไหว