อ่านความเดิม ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ได้จาก https://beachlover.net/หาดดอนทะเล-ยังสบายดี/ และ https://beachlover.net/หาดดอนทะเล-ยังสบายดี-ตอนที่-2/
เมื่อวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งของหาดดอนทะเล อ.คันธุลี โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Google earth ที่นำไปผ่านการปรับพิกัดภูมิศาสตร์แล้ว และใช้แนว Permanent vegetation line เป็นแนวชายฝั่งตามนิยาม (ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องนิยามชายฝั่งได้จาก https://beachlover.net/นิยามของแนวชายฝั่งทะเล-shoreline/) พบว่ามีแนวชายฝั่งเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการทับถมและการกัดเซาะสลับไปมาตามรูป
เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรายปีพบว่า หาดดอนทะเลเกิดการกัดเซาะในช่วงปี 2557-2558 ในอัตรา -0.415 เมตร/ปี, ช่วงปี 2558-2559 ในอัตรา -4.67 เมตร/ปี, ช่วงปี 2560-2561 ในอัตรา -2.84 เมตร/ปี, และ ช่วงปี 2562-2563 ในอัตรา -1.06 เมตร/ปี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ที่เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ประมาณวันที่ 25-26 มกราคม 2559 และ 7-8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ส่งผลให้ชายหาดภาคใต้ตอนล่างเกิดการกัดเซาะหลายพื้นที่ สำหรับหาดดอนทะเลพบอัตราการกัดเซาะในช่วงเวลานี้ 4.67 เมตร/ปี ผลจากเหตุการณ์นี้เองทำให้เกิดการริเริ่มโครงการป้องกันชายฝั่งหาดดอนทะเลแห่งนี้ ตลอดแนวยาว 1.29 กิโลเมตร
แต่หลังจากนั้นก็พบว่าหาดดอนทะเลเกิดการทับถมและกัดเซาะสลับกันไปมา โดยทับถมในอัตรา 7.47 เมตร/ปี, 4.43 เมตร/ปี ในช่วงปี 2559-2560 และ 2561-2562 ตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับปากคำของชาวบ้านที่ระบุว่า หลังจากเหตุการณ์ช่วงต้นปี 2559 ผ่านพ้นมาแล้ว หาดแห่งนี้ก็ไม่เคยเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงอีกเลย หากพิจารณาข้อมูลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันช่วงเวลา 2557-2563 พบว่าหาดดอนทะเลไม่กัดเซาะ แต่เกิดการทับถมเฉลี่ยในอัตรา 3.32 เมตร/ปี
จากมรสุมกำลังแรงช่วงต้นปี 2559 ที่ส่งผลให้หาดกัดเซาะเพียงครั้งเดียว ทำให้เกิดโครงการป้องกันชายฝั่งหาดดอนทะเลเป็นระยะทาง 1,290 เมตร ด้วยงบประมาณกว่า 70 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง รายละเอียดโครงการจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
กรมโยธาธิการและผังเมือง กัดเซาะชายฝั่ง กำแพงกันคลื่น คันธุลี สุราษฎร์ธานี หาดดอนทะเล