หาดดวงตะวัน หาดเล็กๆเงียบๆแห่งนี้ กำลังจะมีกำแพง

[ภาพเมื่อ 6 ก.ค.2563]

Beach Lover ไม่ค่อยได้มีโอกาสพาชมชายหาดแถบ จ.ระยอง สักเท่าไหร่ ครั้งนี้ขอพาชมชายหาดเล็กๆที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก ณ อ.แกลง จ.ระยอง ที่ชื่อว่า “หาดดวงตะวัน”

แม้จะผ่านไปผ่านมาแถบ อ.แกลง จ.ระยอง บ่อยครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าเพิ่งเคยเข้ามาหาดดวงตะวันเป็นครั้งแรก ด้วยความที่หาดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับชายหาดอื่นๆที่มีชื่อเสียง อย่างหาดบ้านเพ หาดสวนสน และหาดแม่พิมพ์ ทำให้หลายคนมองข้ามชายหาดที่ทั้งสงบและสะอาดแห่งนี้ไป พบซากโรงแรมที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ รวมถึงโรงแรมร้างที่ดูเหมือนปิดกิจการไปนานแล้ว มีที่พัก ร้านอาหารประปรายทางทิศตะวันตกและช่วงกลางของหาด แต่เริ่มหนาแน่นทางทิศตะวันออก นักท่องเที่ยวค่อยข้างน้อยแม้วันที่สำรวจจะตรงกับวันหยุดยาว

หาดดวงตะวัน

หาดแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของปากน้ำแกลง ซึ่งมีเขื่อนกันทรายและคลื่นปากแม่น้ำ (Jetty) 1 คู่ ด้วยตะกอนชายฝั่งของทะเลแถบนี้เคลื่อนที่จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก Jetty ปากน้ำแกลงจึงส่งผลกระทบให้ชายหาดทางฝั่งตะวันตกเกิดการทับถมและฝั่งตะวันออกเกิดการกัดเซาะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยหาดดวงตะวันนี้มีถนนเลียบชายหาดระยะประชิดตลอดระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร ผลกระทบที่เกิดจาก Jetty จึงทำให้ถนนเลียบหาดนี้ถูกกัดเซาะ จากการสำรวจพบซากของถุงทรายขนาดใหญ่จมอยู่ในทรายรวมถึงก้อนหินทั้งขนาดเล็กและใหญ่ น่าจะเป็นความพยายามของหน่วยงานที่ต้องการป้องกันถนนเส้นนี้จากการกัดเซาะ ในช่วงมรสุม

ซากกระสอบทราย
ซากกระสอบทราย

จากการเดินสำรวจตลอดแนวชายฝั่งพบกองหินขนาดใหญ่ 1 กอง ความยาวประมาณ 32เมตร วางอยู่บนชายหาดในแนวขนานกับชายหาด คาดว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นตำแหน่งที่ถูกกัดเซาะมากที่สุดจากผลกระทบของ Jetty ปากน้ำแกลง หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงลงหินเพื่อป้องกัน

กองหินเพื่อป้องกันชายฝั่ง

ถัดจากกองหินดังกล่าวมาทางทิศตะวันออก พบถนนกัดเซาะหลายจุด ซึ่งเป็นผลกระทบจากกองหินที่นำมาใช้เพื่อป้องกันถนน แต่กลับส่งผลกระทบให้ถนนเกิดการกัดเซาะเพิ่มขึ้นเสียเอง สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนของสภาพถนนฝั่งตะวันตกของกองหินที่มีทรายมาทับถมและยังไม่พบร่องรอยการกัดเซาะ แต่ทางฝั่งตะวันออกของกองหินพบการกัดเซาะเสียหายหลายจุด

ทิศตะวันตกของกองหิน ไม่มีการกัดเซาะ
การกัดเซาะทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นผลกระทบจากกองหิน
การกัดเซาะถนนทางทิศตะวันออกของกองหิน

เดินต่อมาทางทิศตะวันออกพบโครงสร้างยื่นล้ำลงไปในทะเลจนส่งผลให้ชายหาดส่วนถัดไปเกิดการกัดเซาะจนตัดเป็นหน้าผา และพบว่ามีความพยายามป้องกันชายฝั่งบริเวณนี้ด้วยวัสดุต่างๆมาแล้วในอดีต

โครงสร้างยื่นล้ำลงบนชายหาด
การกัดเซาะถัดจากส่วนของโครงสร้างที่ยื่นล้ำลงบนชายหาด

จากการตรวจสอบงบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี  2564 พบว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตั้งโครงการป้องชายฝั่งพร้อมปรับภูมิทัศน์หาดดวงตะวันระยะทาง 786 เมตร ไว้แล้วจำนวน 78.6 ล้านบาท (กิโลเมตรละ 100 ล้านบาท) โดยผูกพันไปถึงปี 2566 ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะอยู่บริเวณไหนของชายหาดที่ยาวกว่า 1.4 กิโลเมตรนี้ แต่คาดเดาได้ว่าจะเป็นโครงสร้างกำแพงกันคลื่นตามแบบที่กรมโยธาธิการและผังเมืองถนัดอย่างแน่นอน

ที่มา: สำนักงบประมาณ, 2563

จากเรื่องราวที่เล่ามานี้ พบว่าต้นเหตุแห่งการกัดเซาะชายฝั่งของหาดดวงตะวันคือเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำแกลง ระยะต่อมานำมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลายชนิดและกองหินขนาดใหญ่เพื่อป้องกันถนน โดยกองหินนั้นก็ได้ส่งกระทบกับชายหาดส่วนถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกำลังจะเกิดกำแพงกันคลื่นยาว 786 ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีกสามปีถัดจากนี้ เพื่อป้องกันถนน

การกัดเซาะถนนทางทิศตะวันออกของชายหาด

คาดเดาได้หรือไม่ว่า หากกำแพงกันคลื่นนี้สร้างแล้วเสร็จ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับชายหาดทางทิศตะวันออกของหาดดวงตะวัน นั่นก็คือหาดบ้านเพอันเลื่องชื่อแห่งระยอง

การกัดเซาะในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งกับชายหาดในประเทศไทย ตราบใดที่ตำแหน่งสิ้นสุดของโครงสร้างป้องกันไม่ไปชนปากแม่น้ำ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆ หรือหัวหาด หัวแหลมตามธรรมชาติ หาดจะกัดเซาะแบบโดมิโน่

หากเราหยุดโดมิโน่ตัวแรกไม่ได้ สกัดกั้นโดมิโน่ตัวต่อไป ไม่ให้ล้มทั้งกระดานได้หรือไม่ …. น่าคิด