จากข่าวการกัดเซาะชายหาดชลาทัศน์ที่สื่อท้องถิ่นนำเสนอภาพไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 และ Beach Lover ได้นำมาแชร์ต่อไว้ใน https://beachlover.net/คลื่นทะเลแรงกัดเซาะ-หาดชลาทัศน์-พัง/ นั้น พบประเด็นที่อยากนำเสนอเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมตามนี้
บริเวณที่เห็นตามภาพข่าวนั้นคือพื้นที่ทางทิศใต้ของชายหาดชลาทัศน์ ที่ทางกรมเจ้าท่าได้เคยทำการเติมทรายชายหาดค้างไว้ ยังไม่แล้วเสร็จจวบจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ทรายใต้ทะเลนอกฝั่งแถบแหลมสนอ่อนลำเลียงผ่านท่อเหล็กยาวประมาณ 4 กิโลเมตรกว่ามาเติมให้ชายหาดบริเวณนี้ โดยทาง Beach Lover และเครือข่ายได้ติดตามการทำงานของกรมเจ้าท่า ณ ชายหาดชลาทัศน์มาอย่างยาวนาน อ่านเพิ่มเติมถึงเรื่องราวนี้ได้จาก https://beachlover.net/หาดชลาทัศน์-ยามนี้-ยังสบายดีอยู่ไหม/
จากบทความที่ได้โพสไว้เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 [https://beachlover.net/หาดชลาทัศน์-ยามนี้-ยังสบายดีอยู่ไหม/] แม้จะเป็นช่วงปลอดมรสุม แต่พบว่าชายหาดมีสภาพเหมือนที่ลงข่าวตามสื่อเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563
หากสาเหตุหลักเกิดการคลื่นลมแรงช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงปลอดมรุสมคงจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้
การกัดเซาะแบบที่เราเห็นตามภาพนี้เกิดทรายที่นำมาเติมลงบนชายหาดนั้นมิได้ถูกปรับแต่งความลาดชันด้านหน้าหาดให้ลาดเอียงเหมาะกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ ประกอบกับวัสดุที่นำมาเติมนั้นมีขนาดคละที่ไม่ถูกต้องตามหลัก [อ่านบทความวิชาการเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/การเติมทรายชายหาด/] จึงเกิดการแยกชั้นของวัสดุอย่างชัดเจนและเกิดการตัดเป็นหน้าผาชัน
ส่วนการกัดเซาะที่มีลักษณะคล้ายทางระบายน้ำจากบนชายหาดลงสู่ทะเลนั้น เกิดจากน้ำที่ไหลลงจากบนฝั่งทั้งน้ำฝนและน้ำส่วนเกินจากทางระบายน้ำริมถนนไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ เมื่อมีความแรงก็ไหลบ่ากัดเซาะเอาส่วนของทรายที่เติมอยู่ด้านบนซึ่งเป็นส่วนของตะกอนขนาดเล็กและเบา ซึ่งตามปกติจะถูกพัดพาและกัดเซาะง่ายอยู่แล้ว ไหลตามน้ำออกไปด้านนอกฝั่ง จึงเห็นเป็นลักษณะคล้ายช่องเปิดเลี้ยวไปมาบนชายหาด
การเติมทรายชายหาดนั้นแม้จะเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบด้านลบน้อยต่อพื้นที่ที่ต้องการป้องกันและพื้นที่ข้างเคียงก็จริง [https://beachlover.net/เติมทรายชายหาด/] แต่มาตรการนี้มิใช่จะปฏิบัติได้ง่ายนัก ต้องคำนึงถึงแหล่งทราย วิธีการลำเลียง วิธีการเติม บดอัด และอื่นๆอีกมากมาย [บทความวิชาการ https://beachlover.net/การเติมทรายชายหาด/] หลายหน่วยงานในยุคนี้เริ่มหันมาใช้มาตรการเติมทรายชายหาดเสริมกับมาตรการอื่นๆเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง เพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนลดแรงต้านของประชาชนที่มีต่อโครงสร้างทางวิศวกรรมอื่นๆ
ช่วงปลายปีแบบนี้ เป็นช่วงต้นของฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายหาดภาคใต้ตอนล่างอย่างมาก น่าจับตาดูว่า หาดชลาทัศน์บริเวณที่เติมทรายไปแล้วบางส่วนนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไร หน้าผาที่ตั้งชันนั้นจะถล่มลงมาหรือไม่ น้ำฝนและน้ำจากบนฝั่งจะระบายลงมาที่ชายหาดอย่างไร … Beach Lover จะติดตามเรื่องราวนี้มาเล่าสู่กันฟังอย่างแน่นอน